สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย คาดปี’64 ส่งออกพุ่งกระฉูด 15-16% ขับเคลื่อนต่อเนื่องถึงปีนี้ ดันไตรมาสแรกโต 5%

สรท. คาดปี’64 ส่งออกกระฉูด – นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า การส่งออกไทยในปี 2564 คาดว่าจะเติบโตถึง 15-16% และจะมีแรงขับเคลื่อนหรือมีโมเมนตัมต่อเนื่องในปี 2565 แม้ว่าจะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน เพราะผู้ส่งออกของไทยมีการปรับตัวและฝ่าฟันปัญหาที่เกิดขึ้นจากผลกระทบสายพันธุ์เดลลต้ามาแล้ว

ดังนั้นการส่งออกในปี 2565 คาดว่าจะเติบโต 5-8% ซึ่งในเดือนม.ค. ประเมินว่า การส่งออกไทยจะขยายตัวที่ 6-7% มูลค่า 21,000 ล้านดอลลาร์ และในไตรมาสแรกของปีการส่งออกไทยจะขยายตัว 5% แม้ว่าจะมีการแพร่ระบาดของโอมิครอนไปทั่วโลกก็ตาม เนื่องจากประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยทั้งสหรัฐ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป จีน เศรษฐกิจยังฟื้นตัวและยังมีความต้องการสินค้าต่อเนื่อง ประกอบกับปีนี้เทศกาลตรุษจีนมาเร็วทำให้มีความต้องการสินค้าจำนวนมากซึ่งเป็นตัวเร่งการส่งออกของไทย

ทั้งนี้ ในปี 2565 สินค้าที่ยังเป็นสินค้าดาวรุ่งและเติบโตได้ดี คือ น้ำตาลทราย น้ำมันสำเร็จรูป ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง เคมีภัณฑ์ สิ่งทอ ข้าว เป็นต้น โดยปัจจัยสำคัญที่ส่งผลดีต่อการส่งออกของไทยคือ เศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญของไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง ดัชนีผู้จัดการฝ่ายการผลิตโลก (World PMI Index) ของประเทศคู่ค่าสำคัญที่ยังคงทรงตัวอยู่ ณ ระดับ 50 ถึง 60 สะท้อนการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของกิจกรรมการ ผลิตและเศรษฐกิจโลก ค่าเงินยังคงมีทิศทางอ่อนค่า จากปัจจัยความกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ “โอมิครอน” รวมถึงการลดปริมาณเงินในมาตรการ QE Tapering และแผนปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 3 ครั้งในปี 2565 ของธนาคารกลางสหรัฐ

ขณะที่ปัจจัยปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญ ได้แก่ 1. สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ทั่วโลกรวมถึงไทย จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ ที่มีการพบจำนวนผู้ติดเชื้อมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป และสหรัฐ ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าหลักของไทย แม้รายงานผลกระทบจากการติดเชื้อยังคงไม่รุนแรงนัก แต่รัฐบาลหลายประเทศต้องพิจารณาทบทวนเรื่องการกลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์ว่าจำเป็นมากน้อยเพียงใด

2. แรงงานในภาคการผลิตขาดแคลนต่อเนื่อง ประกอบกับต้นทุนการจ้างงานปรับตัวสูงขึ้น กระทบการผลิตเพื่อส่งออกที่กำลังฟื้นตัว จากข้อมูลพบว่า ภาคการผลิตขาดแรงงานประมาณ 4 แสนคน 3. ปัญหาความหนาแน่นภายในท่าเรือประเทศปลายทาง ทำให้ต้องใช้ระยะเวลานานในการขนถ่ายสินค้า รวมถึงปัญหา Space allocation ไม่เพียงพอ ทำให้ไม่สามารถจองระวาง ตลอดจนค่าระวางเรือยังคงสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะสหภาพยุโรป สหรัฐ และมีแนวโน้มที่จะทรงตัวสูงยาวจนถึงปลายปี 2565

4. ปัญหาวัตถุดิบขาดแคลนและราคาผันผวน อาทิ เซมิคอนดักเตอร์, เหล็ก, น้ำมัน ส่งผลให้ภาคการผลิตเพื่อส่งออก ยังคงประสบปัญหาอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น

ทั้งนี้ สรท. มีข้อเสนอแนะคือ 1. ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทและคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ในระดับเหมาะสม 2. ขอให้กระทรวงพลังงาน ควบคุมต้นทุนพลังงานให้อยู่ในระดับเหมาะสม ไม่เป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการที่อยู่ในช่วงการฟื้นฟูหลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 3. ขอให้กระทรวงแรงงาน เร่งช่วยเหลือเรื่องปัญหาการนำเข้าแรงงานต่างด้าวในภาคการผลิต โดยกำหนดพื้นที่บริหารจัดการส่วนกลาง หรือศูนย์ One Stop Service (OSS) สำหรับบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว อาทิ จุดคัดกรองด้านสาธารณสุขและอุปกรณ์เวชภัณฑ์ที่จำเป็นในการตรวจสอบ รวมถึงให้สามารถดำเนินการด้านเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในจุดเดียว อำนวยความสะดวกพื้นที่ในการกักตัว โดยอาจนำสถานที่ราชการที่เหมาะสม มาปรับใช้ในการกักตัวให้กับแรงงานต่างด้าว ระหว่างรอผลตรวจและการดำเนินเอกสาร

นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายการนำเข้าแรงงานต่างด้าวตาม MOU สูงมาก จากช่วงก่อนโควิด-19 ซึ่งมีค่าใช้จ่ายประมาณ 4,000-5,000 บาทต่อคน เป็น 12,000-22,000 บาทต่อคน ในปัจจุบัน ส่งผลให้ภาคเอกชนจำต้องขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล ปรับลดค่าใช้จ่ายบางส่วน อาทิ ค่าบริการตรวจโควิด (ครั้งละ 1,300 เหลือ 800 บาท) ค่าสถานที่กักตัว (จากวันละ 500 เหลือวันละ 300 บาท) ค่าประกันโควิดและชุดตรวจ ATK เป็นต้น และ เร่งเจรจากรอบความตกลงการค้าเสรีไทย-อียู

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน