รายงานพิเศษ ท่ามกลางความท้าทายแห่งยุค ชีวิตนิวนอร์มัล ถึงเวลาแล้ว…ที่ประเทศไทยต้องขับเคลื่อนเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ให้ทันกับเทรนด์โลก หนังสือพิมพ์มติชน นำโดย นายขรรค์ชัยบุนปาน ประธานกรรมการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) น.ส.ปานบัว บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) นายวรศักดิ์ ประยูรศุข บรรณาธิการ อำนวยการหนังสือพิมพ์มติชนและผู้บริหารเครือมติชน จัดงานสัมมนาหัวข้อ “ศักยภาพใหม่ : Thailand 2022” โดย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ร่วมปาฐกถาพิเศษ “สู่ศักยภาพใหม่ : Thailand 2022” ว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยต้องเผชิญสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งยังคงเป็นความเสี่ยงที่ต้องเผชิญต่อไป แต่ขอให้มั่นใจว่ามาตรการด้านสาธารณสุขและมาตรการสนับสนุนการฟื้นตัว ทางเศรษฐกิจของภาครัฐที่ได้ดําเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ผนวกกับความร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่าย รวมถึงประชาชนทุกคนจะทำให้เศรษฐกิจไทยค่อยๆ ฟื้นตัวและกลับมาเติบโตได้อีกครั้งอย่างแน่นอน เห็นได้จากแนวโน้มเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น และเชื่อว่าปีนี้จะเป็นปีที่เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง แรงส่งจากภาคการ ส่งออกที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศเริ่มกลับมาคึกคักได้อีกครั้ง ในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรมจะบูรณาการการทํางานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการพัฒนา 6 ด้านสำคัญ ได้แก่ 1.การส่งเสริมเกษตรอุตสาหกรรม ให้มีการใช้เทคโนโลยีในภาคเกษตรเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม 2.การพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพ (เอส เคิร์ฟ) ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมชีวภาพ ยานยนต์สมัยใหม่หุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เครื่องมือ และอุปกรณ์การแพทย์ 3.การพัฒนาผู้ประกอบการและภาคการผลิตไปสู่ 4.0 ด้วยการสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการอัจฉริยะ ส่งเสริมผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี และวิสาหกิจชุมชนให้มีผลิตภาพลดต้นทุน และเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์อย่างสร้างสรรค์ ด้วยเทคโนโลยีนวัตกรรมและดิจิตอล 4.การพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับ สิ่งแวดล้อม ตามโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) 5.การจัดตั้งและส่งเสริมการลงทุนนิคมอุตสาหกรรม ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อส่งเสริมการลงทุนภาคอุตสาหกรรมที่ ยึดโยงกับการพัฒนาในระดับพื้นที่ และ 6.การยกระดับการ ให้บริการด้วยเทคโนโลยีดิจิตอล เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการที่สะดวกรวดเร็ว ขณะที่ นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไปบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ร่วมบรรยายพิเศษ “ศักยภาพใหม่ เพื่อธุรกิจใหม่” ว่า การขับเคลื่อน 3 ดี (D) จะเข้ามาปิดช่องว่างให้กับกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินมากขึ้น ประกอบด้วย 1.ดิจิตอล วอลเล็ต(Digital Wallet) ที่อยู่ในมือของประชาชนทุกคนแล้ว ทุกธนาคารมีแอพพลิเคชั่นทางการเงิน และธุรกิจในระบบเศรษฐกิจ 2.ดิจิตอล เลนดิ้ง (Digital Lending) และ 3.ดิจิตอล เครดิต การันตี (Digital Guarantee) จะเป็นส่วนเติมเต็มให้กลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึง สถาบันการเงิน เช่น เรื่องหลักประกัน บ้านติดจำนอง หรือรถยนต์ยังผ่อนไม่หมด ปิดท้ายด้วยวงเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจและแนวทางการสร้างศักยภาพใหม่ของประเทศ “ศักยภาพใหม่ประเทศไทย” โดย นายบุรณิน รัตนสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและธุรกิจใหม่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การขับเคลื่อนประเทศไทยปี 2565 ยังเอื้อในการที่จะขับเคลื่อนศักยภาพใหม่ของประเทศ การส่งออกในปี 2564 ยังเติบโตสูงถึง 271,173 ล้านเหรียญสหรัฐ สะท้อนให้เห็นว่าภาคอุตสาหกรรมเริ่มปรับตัว แม้ปี 2563 จะเป็นปีที่ทั่วโลกประสบปัญหาโควิด-19 แต่ตัวเลขส่งออกกลับเติบโตขึ้น 17-18% ถือว่าเป็นโอกาสดีที่จะมาช่วยกันขับเคลื่อนและช่วยกันพัฒนาศักยภาพ อีกขาเริ่มเห็นเทคโนโลยีพัฒนาแบบ ก้าวกระโดดอย่างชัดเจน มีปรับตัวด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ ด้านดิจิตอลเป็นส่วนที่มีบทบาทสำคัญ โลกดิจิตอลและโลกเทคโนโลยีกำลังเบ่งบาน การเติบโตไม่ได้พูดถึง 5% หรือ 10% แต่พูดถึงการกระโดดเป็น 3 เท่า 5 เท่า 10 เท่า เลยรู้สึกว่าประเทศไทยโต ปีละ 3% หรือ 5% เราอาจตามไม่ทันโลกเป็นที่มาของการที่ประเทศไทยต้องปรับตัว นำเทคโนโลยี นวัตกรรมมาใช้ “ในช่วงที่เกิดโควิด 2-3 ปียังมีความ โชคดีที่แต่ละประเทศหยุดรอประเทศไทย เพราะภาคอุตสาหกรรมไทยยังไปได้ดี เพราะมีการปรับตัวระดับหนึ่ง แต่ถ้าจะ ขับไปข้างหน้าต้องเปลี่ยนวิธีการจาก 3.0 เป็น 4.0 ผมเชื่อว่า คนที่อยู่ 3.0 ไม่ใช่ทุกคนกระโดดไป 4.0 ได้ ก็ต้องปรับตัว เพื่อขับเคลื่อนไปสู่ในอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่มีความก็จำเป็นมาก” นายศรุต วานิชพันธุ์ Director of Sea กล่าวว่า การพัฒนาคนต้องสร้าง Digital talent จะทำอย่างไรให้ภาครัฐสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องทั่วถึง ภาครัฐมีบุคลากรทั่วประเทศที่จะสามารถเป็น Digital Ambassador เพื่อสอนคนในชุมชนเรื่องทักษะดิจิตอล “ขณะที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในประเทศไทยมีอยู่ประมาณ 3 ล้านราย แต่มีผู้ประกอบการที่ส่งออกได้ 30,000 ราย คิดเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก แต่ด้วยเทคโนโลยี โลจิสติกส์ อีคอมเมิร์ซ ทำให้เราเชื่อมต่อไปต่างประเทศได้มากขึ้น ช่วยส่งเสริมเอสเอ็มอีก้าวเข้าสู่คอมเมิร์ซ และให้ส่งออกไปมากขึ้น” นายศรุตกล่าว ด้าน นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธาน เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จํากัด ระบุว่า ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจเดิมๆ เพราะไม่สามารถปรับตัวนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาทรานส์ฟอร์มธุรกิจได้ทัน แต่บริษัทที่เป็นเศรษฐกิจใหม่ (นิว อีโคโนมี) จะเป็นบริษัทที่นำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้กับธุรกิจ จึงได้ประโยชน์จากโลกที่เปลี่ยนแปลงไป “ดิจิตอล อีโคโนมี จะใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เพราะไม่ว่าอย่างไรก็ เป็นเทรนด์ที่ต้องเกิดขึ้นแน่นอน แต่การระบาดโควิด-19 เข้ามาเป็นตัวเร่งให้เกิดเร็วขึ้นและเกิดขึ้นพร้อมกันทั่วโลกเท่านั้น ดังนั้นทิศทางของประเทศไทย คือ ต้องเปลี่ยนตัวเองให้เป็น นิว อีโคโนมี บิซิเนส หรือรูปแบบธุรกิจอิงเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งมองว่าภาคธุรกิจไม่ควรมีโมเดลธุรกิจแบบเก่าๆ ควรนำกำไรมาใช้ ลงทุนในด้านเทคโนโลยีเพื่อให้ทรานส์ฟอร์มไปกับโลกที่เปลี่ยนแปลงได้” โลกเรากำลังขับเคลื่อนเข้าสู่คลื่นยักษ์ (เวฟ) 3.0 ต่อเนื่องจาก 1.0 และ 2.0 ทั้งการเกิดขึ้นของปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) บิ๊กดาต้าบล็อกเชน สกุลเงินดิจิตอล (คริปโตเคอร์เรนซี) ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานของเวฟ 3.0 และกำลังจะเกิดในอีก 10 ปีนับจากนี้ นายจิรายุสกล่าวย้ำว่า ประเทศไทยควรที่จะมองโอกาสใหม่ ไม่ควรพัฒนาบนสิ่งเก่า หรือแก้ไขปัญหาเดิม ควรหาอุตสาหกรรมอนาคตใหม่มากกว่า โดยการจะเกิดสิ่งใหม่ได้จำเป็นต้องสร้างระบบนิเวศ (อีโคซิสเต็ม) ขึ้นมา ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่จะสามารถทำเอง หรือคนใดคนหนึ่งทำได้แต่ต้องทำร่วมกันในทุกภาคส่วน ทั้งฝั่ง ผู้ประกอบการที่ต้องกล้าออกมาเปิดบริษัท และสร้างสิ่งใหม่เพิ่มขึ้นเล่นกับสิ่งที่เป็นเวฟ 3.0 ให้มากที่สุด “ฝั่งรัฐบาลก็ต้องออกกฎหมายที่สอดคล้องกับการสร้าง สิ่งใหม่ขึ้น เป็นกฎหมายที่เข้าใจเทคโนโลยี เหมือนการออกกฎหมายให้คนไทยถือปืน ต่างชาติถือมีด เพราะกฎหมายที่ ผ่านมาออกแบบให้คนไทยถือมีด แต่ต่างชาติถือปืน เดินหมากผิดมาตลอดในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ทำให้เทคโนโลยีที่ผ่านมา ในเวฟ 1.0 ถึง 2.0 เป็นของชาวต่างชาติเกือบทั้งหมด” สะท้อนใจได้จากปัจจุบันสังเกตว่ามีแอพพลิเคชั่นอะไรที่ เป็นของคนไทยบ้าง เชื่อว่าน่าจะมีแค่แอพฯ ของธนาคารเท่านั้น ส่วนที่เหลือเป็นของต่างชาติทั้งหมด โดยสาเหตุที่เราไม่สามารถสร้างสิ่งใหม่ๆ ได้ เพราะผิดกฎหมาย อีกประการสำคัญ คือ การพัฒนาทักษะมนุษย์ ยกตัวอย่าง ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา สถานศึกษายังไม่สามารถสร้างบุคลากร ที่มีทักษะตอบโจทย์ความต้องการของภาคธุรกิจได้เพียงพอ เช่น บริษัท บิทคับฯ เปิดรับสมัครพนักงาน 500 อัตรา แต่ยังหาไม่ได้มากนัก ขณะที่มีนักศึกษาจบใหม่ตกงานจำนวนมาก ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องปรับตัวขนานใหญ่ก่อนที่จะตามไม่ทันโลก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน