กระทรวงพลังงานพล่าน! หาเงินอุดหนุนแอลพีจี-น้ำมัน จำใจปล่อยราคาก๊าซหุงต้มขึ้นแบบขั้นบันใด

ก.พลังงานพล่านหาเงิน – นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานเตรียมหารือสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ หรือสศช.) เพื่อจัดหาแหล่งเงินเข้ามาเสริมสภาพคล่องในการดูแลโครงสร้างพลังงานทั้งระบบ โดยเฉพาะในส่วนของก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ภาคครัวเรือนที่กระทรวงพลังงานมีแนวทางปรับขึ้นแบบขั้นบันไดขึ้นไปอยู่ที่ 333 บาท/ถัง 15 กิโลกรัม และ 363 บาท/ถัง 15 ก.ก. จากปัจจุบันอยู่ที่ 318 บาท/ถัง 15 ก.ก. ที่จะสิ้นสุดลงวันที่ 31 มี.ค. 2565

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานจะยังคงมีมาตรการดูแลผู้มีรายได้น้อยในช่วงที่ราคาก๊าซหุงต้มทยอยขึ้นแบบขั้นบันได โดยกระทรวงการคลังยังคงอุดหนุนราคาก๊าซหุงต้มสำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการของรัฐ 13.5 ล้านคน เป็นเงิน 45 บาท/3 เดือนตามเดิม และเพิ่มเติมในส่วนของกระทรวงพลังงานมีแนวทางอุดหนุนอีก 55 บาท/3 เดือน รวมเป็นรัฐอุดหนุน 100 บาท/3 เดือน แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่ากระทรวงพลังงานจะหาเงินจากแหล่งใดเพื่อใช้ในการอุดหนุนส่วนนี้ คาดว่าจะมีความชัดเจนช่วงกลาง-ปลายเดือนก.พ.นี้

“กระทรวงการคลังเตรียมเงินช่วยเหลือแอลพีจีผ่านบัตรสวัสดิการไว้แค่เพียง 45 บาท/3 เดือน ดังนั้นหากกระทรวงพลังงานจะให้ความช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยเพิ่มเติมต้องหาแหล่งเงินอื่นมาช่วย น่าจะมาจากแหล่งเงินกู้จากสถาบันการเงิน และเงินงบประมาณ จะใช้ดูแลทั้งราคาแอลพีจีและน้ำมันด้วย เพิ่มเติมจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติวงเงินให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงกู้ 20,000 ล้านบาท ภายใต้กรอบวงเงินที่ครม. ให้ไว้ 30,000 ล้านบาท ที่คาดว่าแค่ใช้ดูแลราคาน้ำมันก็หมดแล้ว”

ที่ผ่านมากระทรวงพลังงานอุดหนุนราคาก๊าซหุงต้มตั้งแต่เดือนมี.ค. 2563 จนถึงปัจจุบันใช้เงินกองทุนอุดหนุนไปแล้วกว่า 25,000 ล้านบาท จากราคาจริงปัจจุบันอยู่ที่ 432 บาท/ถัง 15 ก.ก. ซึ่งการปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้มทุก 1 บาท/ถัง 15 ก.ก. จะช่วยลดภาระการอุดหนุนกองทุนได้ประมาณ 270-280 ล้านบาท/เดือน

นายกุลิศ กล่าวถึงข้อเรียกร้องของสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ที่ต้องการให้ภาครัฐปรับลดราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลลงเหลือ 25 บาท/ลิตร และขอให้ปรับลดภาษีสรรพสามิต ปรับโครงสร้างราคาพลังงานทั้งระบบ พร้อมกดดันให้นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รมว.พลังงาน ออกจากตำแหน่ง ว่า เรื่องนี้ขอความเห็นใจกระทรวงพลังงานด้วย เพราะรัฐคงไม่สามารถหาแหล่งเงินมาอุดหนุนราคาดีเซลให้อยู่ที่ 25 บาท/ลิตรได้

ทั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบันได้ใช้กลไกกองทุนเข้าไปตรึงราคาดีเซลให้อยู่ที่ 29.94 บาท/ลิตร ไม่เกิน 30 บาท/ลิตร ไปแล้ว 3.79 บาท/ลิตร คิดเป็นเงินไหลออกสะสมกว่า 7,000 ล้านบาท หากรัฐไม่มีมาตรการอุดหนุนราคาดีเซลจริงจะขึ้นไป 34 บาท/ลิตร ดังนั้น หากรัฐเข้าไปอุดหนุนราคาดีเซลให้อยู่ที่ 25 บาท/ลิตร ตามข้อเรียกร้อง กองทุนฯ ต้องใช้เงินอุดหนุนถึงเดือนละ 17,000 ล้านบาท/เดือน ปัจจุบันสถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 6 ก.พ. 2565 ติดลบ 16,052 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมัน 9,166 ล้านบาท บัญชีแอลพีจีติดลบ 25,218 ล้านบาท

นายกุลิศ กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องการปรับลดภาษีสรรพสามิตเป็นเรื่องของกระทรวงการคลัง ซึ่งปกติการปรับเพิ่มภาษีจะไม่มีการประกาศล่วงหน้า เพราะเป็นเรื่องของนโยบาย อย่างไรก็ตาม กระทรวงพลังงานยืนยันจะทำให้ส่วนที่รับผิดชอบอย่างเต็มที่

สำหรับแนวโน้มราคาน้ำมันดิบตลาดโลก ช่วงเดือนก.พ.-เม.ย. คาดว่าอยู่ที่ประมาณ 88-93 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เนื่องจากกลุ่มโอเปก พลัส ยังคงกำลังการผลิตน้ำมันดิบที่ 400,000 บาร์เรล/วัน ขณะที่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว หลังจากโควิด-19 ผ่อนคลาย ทำให้ความต้องการใช้เพิ่มขึ้น ประกอบกับความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ เช่น ปัญหารัสเซีย-ยูเครน ค่าเงินบาทอ่อนค่า อย่างไรก็ตาม ทีมวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันกลุ่ม ปตท. ประเมินว่าราคาน้ำมันดิบตลาดดูไบปีนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 78-80 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน