กนง. เอกฉันท์คงดอกเบี้ย 0.5% หนุนเศรษฐกิจฟื้น – ลั่นพร้อมใช้ยาแรงสกัดเงินเฟ้อ ย้ำไม่ปรับกรอบแม้ทะลุเกิน 3% ชี้แค่ปัจจัยชั่วคราว

กนง. เอกฉันท์คงดอกเบี้ย – นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0.50% ต่อปี โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง การระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน คาดว่าจะสร้างแรงกดดันต่อระบบสาธารณสุขในวงจำกัด ความเสี่ยงด้านต่ำต่อเศรษฐกิจโดยรวมจึงลดลง แต่ยังต้องติดตามการระบาดในระยะต่อไป

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มเร่งขึ้นในช่วงแรกของปี 2565 จากราคาพลังงานและอาหารสดบางประเภท อาจสูงกว่ากรอบเป้าหมายในช่วงแรกของปี และมีความเสี่ยงด้านสูงเพิ่มขึ้น จากการส่งผ่านต้นทุนที่อาจมากขึ้นหากราคาพลังงานและอาหารสดอยู่ในระดับสูงนานกว่าคาด หรือหากข้อจำกัดด้านการผลิตขยายวงกว้างขึ้นไปสู่สินค้าประเภทอื่นๆ อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีและอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย และยังไม่เห็นสัญญาณการปรับเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าและบริการเป็นวงกว้าง

“กนง. ยังให้น้ำหนักกับการฟื้นตัวเศรษฐกิจและรายได้ของประชาชน จึงเห็นว่าไม่ควรขึ้นดอกเบี้ยซึ่งจะไปฉุดเศรษฐกิจโดยไม่จำเป็น ซึ่งการที่เงินเฟ้อโอกาสเกินกรอบ 3% ไปบ้างเป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องชั่วคราว จากที่ผ่านมาเราจะคุ้นเคยกับการเกินกรอบด้านต่ำ แต่ก็ไม่มีความจำเป้นต้องมีการปรับกรอบนโยบายเงินเฟ้อทันที”

นายปิติ กล่าวว่า กนง. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2564 จะขยายตัวดีกว่าที่คาดไว้ และมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องในปี 2565 จากการส่งออกสินค้าที่ปรับสูงขึ้น และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเพิ่มขึ้นจากการผ่อนคลายข้อจำกัดด้านการเดินทางที่เร็วกว่าคาด ซึ่งจะส่งผลให้มีการยกฐานจีดีพีปี 2564 เพิ่มขึ้น แต่ภาพรวมการขยายตัวเศรษฐกิจปี 2565 ยังไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก และคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับขยายตัวได้เท่ากับช่วงก่อนโควิดได้ช่วงปลายปี 2565 – ต้นปี 2566 นี้

ในระยะต่อไป กนง. ให้น้ำหนักการฟื้นตัวเศรษฐกิจต้องไม่ให้สะดุด ส่วนเงินเฟ้อต้องจับตาไม่ให้ขยายวงกว้าง ไม่ฝังลึกลงไปในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งจะต้องใช้ยาแรงที่อาจกระทบกับการขยายตัวเศรษฐกิจ และ รายได้ประชาชน และการดูแลการฟื้นตัวของภาคธุรกิจ ที่ยังมีความเปราะบางจากภาระหนี้ ในช่วงโควิด-19

นายปิติ กล่าวว่า คณะกรรมการฯ เห็นว่ามาตรการภาครัฐและการประสานนโยบายมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยมาตรการสาธารณสุขเพื่อควบคุมการระบาดที่เอื้อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่องยังมีความสำคัญ มาตรการการคลังควรสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างตรงจุด โดยเน้นการสร้างรายได้และเร่งเตรียมมาตรการเพื่อฟื้นฟูและยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจ

ขณะที่นโยบายการเงินช่วยสนับสนุนให้ภาวะการเงินโดยรวมยังผ่อนคลายต่อเนื่อง และมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อมีส่วนช่วยกระจายสภาพคล่องไปสู่ผู้ได้รับผลกระทบอย่างตรงจุดและช่วยลดภาระหนี้ อาทิ มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู มาตรการพักทรัพย์พักหนี้ และมาตรการอื่นๆ ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ควบคู่กับการผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งสนับสนุนการรวมหนี้สินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อรายย่อยอื่นๆ (debt consolidation) และปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน (มาตรการแก้หนี้ระยะยาว 3 ก.ย. 2564) ให้เห็นผลในวงกว้างและสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ในระยะยาว

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะติดตามปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ ได้แก่ สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ราคาพลังงานโลก การส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้น รวมถึงความเพียงพอของมาตรการการคลังและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อ โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมหากจำเป็น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน