ชาวสวนยาง ฟิน ราคาพุ่ง 7บาท/กก. ครั้งแรกรอบ 1 ปี 4 เดือน “เฉลิมชัย”สั่งจับตารัสเซียถล่มยูเครน

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครน อาจส่งผลกระทบกับราคาพลังงานให้ราคาพืชน้ำมันอาทิ ยางพารา และปาล์มน้ำมันอาจปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ หลังจากราคายางพาราราคาเพิ่มขึ้น มากกว่า 65 บาท/กิโลกรัม(ก.ก.) ซึ่งมากกว่าราคาเป้าหมายที่เคยประกาศไว้ แต่จากนี้ราคาจะปรับเพิ่มขึ้นเป็นเท่าไหร่นั้น ได้สั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจับตาสถานการณ์ระหว่างรัสเซียและยูเครนตลอดและประเมินสถานการณ์ทุกสัปดาห์ เพื่อความพร้อมในการรับมือ

“ราคายางพาราขณะนี้ถือว่าสอดคล้องกับราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวเป็นขาขึ้น ตามความต้องการของตลาดทำให้ราคายางพาราขณะนี้ก็ขยับเพิ่มขึ้นจากเป้าหมายที่ตั้งไว้คือ 65 บาทต่อกิโลกรัม แต่จะใประเมินสถานการณ์ เพื่อประเมินราคาเป้าหมายถัดไปต้องบอกว่าเร็วเกินไป และขณะนี้สถานการณ์มันเปลี่ยนแปลงเร็ว ต้องมีการจับตาสถานการณ์ เพื่อประเมินผลกระทบกันตลอดเวลา แทบจะทุกสัปดาห์ทุกวัน “

นายเฉลิมชัย กล่าวว่า สำหรับการเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายปี 2565 สำหรับกระทรวงเกษตร ยังคงเดินหน้ามาตรการประกันรายได้สินค้าเกษตร เพราะรัฐบาลดำเนินการควบคู่กับ มาตรการทางด้านตลาด โดยพืชเกษตรที่รัฐบาลยังเดินหน้าโครงการประกันรายได้ ยังเป็นพืชเศรษฐกิจหลักๆ อาทิ ข้าว มัน ปาล์ม และยางพารา เป็นต้น แต่ที่ผ่านมารัฐบาลใช้เงินน้อยลงเรื่อยๆ เพราะมีมาตรการผลักดันราคา และมุ่งเปิดตลาดใหม่ๆให้พืชเศรษฐกิจของไทยมากขึ้น

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท การยางแห่งประเทศไทย(กยท.) กล่าวว่า ราคาซื้อขายน้ำยางสด ณ ตลาดกลางยางพารา กยท. ขยับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องตลอดช่วง 2 สัปดาห์ที่ ตั้งแต่วันที่ 11 ก.พ. 2565 ราคาอยู่ที่ 61.30 บาท/กก.มา แตะระดับ 70 บาท/ก.ก. คาดว่าราคายางจะอยู่ในระดับที่ดีแบบนี้ต่อไปอีก ถือว่าสูงสุดรอบ 1 ปี 4 เดือน เนื่องจากสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครน และส่วนหนึ่งมาจากสภาพอากาศในกลุ่มประเทศผู้ผลิตยาง เช่น สถานการณ์ฝนที่ตกชุกในหลายจังหวัดทางภาคใต้ของไทย

ประกอบกับเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลปิดกรีดยาง ส่งผลให้ผลผลิตยางออกสู่ตลาดน้อยลง แนวโน้มราคายางพารามีทิศทางการปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งเกิดจากปัจจัยภายนอก ได้แก่ สถานการณ์ระหว่างรัสเซียและยูเครน ส่งผลให้มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันระดับ 98 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ส่งผลกระทบต่อราคายางสังเคราะห์ที่มีการปรับตัวในทิศทางเดียวกับราคาน้ำมัน และสินค้าทดแทนอย่างยางพาราจึงมีการปรับตัวทิศทางเดียวกับราคาน้ำมัน ประกอบกับ ตั้งแต่ปี 2565 สถานการณ์โควิด-19 ที่เริ่มกลับมาระบาดอีกครั้งส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนตัว

ดังนั้นราคายางที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นน่าจะเป็นช่วงระยะ ที่สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซีย และยูเครนยังดำเนินอยู่ แต่หลังจากนั้น ราคายางพาราน่าจะกลับมาอยู่ในสภาวะที่ปกติ ราคายางพาราอาจขยับลงมาบ้าง แต่อย่างไรก็ตาม กยท. จะดำเนินการรักษาระดับราคายางให้มีเสถียรภาพ บรรเทาปัญหาให้ทุกภาคส่วนอย่างดีที่สุด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน