นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “อนาคตประเทศไทยกับสินทรัพย์ดิจิทัล” ในงานสัมมนา สินทรัพย์ดิจิทัล Game Changer เดิมพันเปลี่ยนอนาคต โดยน.ส.พ.ประชาชาติธุรกิจ ว่า ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการอยู่ในโครงสร้างเศรษฐกิจแบบเก่า การพึ่งพาภาคท่องเที่ยวและบริการเป็นหลัก ทำให้เศรษฐกิจได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการะบาดของโควิด-19 มากกว่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียน

ดังนั้นไทยอาจจะต้องดูเรื่องการปรับตัวเข้าสู่โครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ซึ่งจะมีส่วนในการเข้ามาพัฒนาภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก นั่นคือ โลกของดิจิทัลเทคโนโลยี โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (2563-2564) ไทยมีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการเกิดสินทรัพย์ประเภทใหม่ อย่าง “สินทรัพย์ดิจิทัล”

โดยจากข้อมูลพบว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เพิ่มขึ้นเป็น 14 ราย จาก 9 ราย มูลค่าการซื้อขาย เพิ่มขึ้นเป็น 4.8 พันล้านบาท จาก 240 ล้านบาท มูลค่าสินทรัพย์ในธุรกิจดิจิทัลเพิ่มขึ้นเป็น 1.14 แสนล้านบาท จาก 9.6 พันล้านบาท ขณะที่จำนวนบัญชีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นเป็น 2 ล้านราย จาก 1.7 แสนราย ถือเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด และถือว่าสินทรัพย์ดิจิทัล คริปโตเคอร์เรนซี เป็นผู้เล่นรายใหม่นอกจากการลงทุนในตลาดหุ้น

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าสินทรัพย์ดิจิทัลมีประโยชน์ในเรื่องของการเป็นทางเลือกในการระดมทุน นอกเหนือจากตลาดหุ้น ซึ่งเชื่อว่าการระดมทุนผ่านสินทรัพย์ดิจิทัลจะมีบทบาทอย่างมากในอนาคต แต่สิ่งที่ต้องทำควบคู่ไปคือ การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมในสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งไทยยังขาดในเรื่องนี้ หากมีการพัฒนาในส่วนนี้อย่างจริงจังจะเป็นโอกาสสำคัญสำหรับเอสเอ็มอี สตาร์ตอัพ รวมไปถึงธุรกิจขนาดใหญ่ที่ปกติใช้สินเชื่อจากสถาบันการเงิน มาใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ดิจิทัลแทนได้ รวมถึงต้องมีการพัฒนาบุคคลากรด้านดิจิทัลเทคโนโลยี เพื่อรองรับ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในมิติต่างๆ เพื่อรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจในอนาคต โดยเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัลถือเป็นเรื่องที่ต้องก้าวไปด้วยกัน มีเรื่องอะไรที่ติดขัดต้องมาหารือร่วมกัน ซึ่งกระทรวงการคลังพร้อมที่จะพูดคุยและแก้ปัญหาให้ภาคดิจิทัลทั้งหมด

นางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวบรรยายพิเศษในหัวข้อ “ภูมิทัศน์ใหม่ธุรกิจการเงินยุคอนาคต” ว่า ต้องยอมรับว่าสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นสิ่งที่อยู่ในความสนใจของทุกคน ทั้งภาคประชาชน ภาคธุรกิจ ภาครัฐ และกลุ่มธุรกิจทางการเงินที่มีธนาคารพาณิชย์รวมอยู่ด้วย ซึ่งสินทรัพย์ดิจิทัลถือเป็นพลวัตหนึ่งที่นำมาทั้งโอกาสและความเสี่ยง ดังนั้นต้องมาดูว่าเราจะเก็บเกี่ยวโอกาสจากพลวัตนี้ได้อย่างไร โดยไม่ตกขบวน และใช้โอกาสนี้อย่างเหมาะสม ถูกที่ ถูกเวลา ภายใต้แนวคิดรับผิดชอบอย่างยั่งยืน โดย ธปท. พร้อมสนับสนุนการสร้างความยืดหยุ่นในการนำเทคโนโลยีและข้อมูลในโลกดิจิทัลมาพัฒนานวัตกรรม บริการต่างๆ เพื่อลดช่องว่างและตอบโจทย์ผู้ใช้บริการภายใต้หลักการ 3 เปิดกว้าง (Open) ได้แก่ 1. เปิดกว้างให้แข่งขันมากขึ้น 2. เปิดกว้างให้ผู้ให้บริการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานด้วยต้นทุนที่เหมาะสม และ 3. เปิดกว้างให้มีการใช้ประโยชน์จากข้อมูลมากขึ้น

นอกเหนือจากโอกาส ประโยชน์แล้วก็ยังมีความเสี่ยง หรือความท้าทายที่เข้ามาพร้อมกัน โดยเฉพาะการเก็งกำไรในสินทรัพย์ดิจิทัลมากกว่าประโยชน์ในภาคเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบันมีเหรียญคริปโตเคอร์เรนซี่ มากกว่า 1.5 พันชนิด บางเหรียญมาแล้วก็หายไปอย่างรวดเร็ว

ดังนั้นจึงยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าเหรียญเหล่านี้จะอยู่ยงคงกระพันในระยะยาว ขณะเดียวกันก็มีความผันผวนสูงด้วย มีความเสี่ยงจากภัยไซเบอร์ ความเสี่ยงที่สินทรัพย์ดิจิทัลจะถูกนำไปใช้เป็นช่องทางในการฟอกเงิน และความเสี่ยงที่จะมีต่อความเชื่อมั่นในระบบการเงิน ดังนั้นจึงต้องดูแลให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

นางรุ่ง กล่าวอีกว่า ธปท. ตระหนักถึงความตื่นตัวของประชาชนและภาคธุรกิจ จึงมาถึงกระบวนการตกผลึกที่อยากเห็นสมดุลในการกำกับดูแลด้านการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลของธนาคารพาณิชย์ เริ่มจากการแยกความเสี่ยงออกจากสิ่งที่เป็นกังวล เพราะธนาคารพาณิชย์คือสถานที่ที่คนมองว่ามีความมั่นคง ปลอดภัยและน่าเชื่อถือ แต่สินทรัพย์ดิจิทัลเป็นเรื่องใหม่ จึงเห็นควรให้มีการกันธนาคารพาณิชย์ออกจากความเสี่ยงไว้ก่อน โดยยังไม่อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลโดยตรง จึงนำมาสู่การอนุญาตให้บริษัทในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ เช่น บริษัทลูก สามารถลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลใดแทน โดยใช้หลักการกั้นรั้ว คือ การกำหนดเพดานให้บริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินสามารถลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลได้ไม่เกิน 3% ของเงินลงทุนของกลุ่มธุรกิจ และใช้แนวทางลดความเสี่ยงอย่างเหมาะสม

โดยหากบริษัทในกลุ่มธนาคารพาณิชย์สามารถยกระดับธุรกิจได้ใน 6 ด้านที่กำหนด ได้แก่ ด้านธรรมาภิบาล ด้านการกำกับดูแลความเสี่ยงจากภัยไซเบอร์ ด้านชื่อเสียง ด้านการป้องกันการฟอกเงิน ด้านการป้องกันการสนับสนุนการเงินแก่การก่อการร้าย ด้านการประเมินความสามารถในการรับความเสี่ยงของลูกค้า และด้านการให้บริการลูกค้าอย่างเหมาะสม ก็จะมีการปลดล็อกรั้วกั้นดังกล่าวให้

นอกจากนี้ ยังกำหนดให้มีคณะกรรมการแยกชุดระหว่างธนาคารพาณิชย์กับกลุ่มธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ที่ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล และยังต้องมีเงินกองทุนเพียงพอรองรับความเสี่ยงหากมีการลงทุนมากขึ้น ต้องมีกลไกป้องกันการส่งผ่านความเสี่ยงอื่นๆ เช่น แยกระบบไอทีให้ขาดจากระบบคอลล์ แบงก์กิ้ง ห้ามสื่อสารว่าธนาคารพาณิชย์จะเข้าไปดูแลเป็นพิเศษหากมีอะไรเกิดขึ้นกับธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ลูกค้าของธนาคารพาณิชย์ต้องได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม ไม่ถูกกระตุ้นให้ไปสนใจสินทรัพย์ดิจิทัลจากช่องทางต่างๆ ของธนาคารพาณิชย์

“ถ้าเสี่ยงแล้วห้ามทั้งหมดคงไม่ใช่แนวคิดในการกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ และกลุ่มธุรกิจการเงินในอนาคต หากมีแนวคิดในการสร้างประโยชน์จากการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างชัดเจน เหมาะสม ธปท. ก็ไม่ปิดกั้นทั้งหมด และไม่ปิดกั้นในทันที แต่จะสนับสนุนในการสร้างโอกาสเพื่อให้สิ่งนั้นเติบโตอย่างยั่งยืน แนวคิดของ ธปท. ในการกำกับดูแลเรื่องนี้ โดยมีรั้วกั้นให้แคบหน่อยในช่วงแรก แต่จะมีประตูที่เว้นไว้เป็นทางออก และค่อยๆ ขยับรั้วออกไป จนในที่สุดรั้วไม่มีความจำเป็น โดยหาก ธปท. เห็นว่ากลุ่มธุรกิจของธนาคารพาณิชย์มีการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลที่คุ้มค่า ดูแลลูกค้าอย่างเหมาะสม ธปท. ก็พร้อมจะปลดรั้วออกไป” นางรุ่ง กล่าว

อย่างไรก็ดี ธปท. เห็นว่าแรงผลักดันจากเทคโนโลยีเป็นพลวัตรนำไปสู่สิ่งใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น สิ่งที่สำคัญคือต้องเรียนรู้ว่าแก่นของนวัตกรรมคืออะไร นำไปสู่ประโยชน์และความเสี่ยงอย่างไรและเพียงใด ต้องเรียนรู้ไปด้วยกันทั้งผู้ให้บริการ ผู้กำกับ และผู้ใช้บริการ ธปท. สนับสนุนให้ภาคการเงินสามารถปรับตัวเท่าทันการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีตอบสนองความต้องการของลูกค้า ธปท. เน้นหลักคุณภาพความยั่งยืนมากกว่าความเร็ว เพื่อดูแลผู้ฝากเงินและเสถียรภาพระบบการเงิน แต่ก็พร้อมกำกับดูแลด้วยความยืดหยุ่น สมดุล และพร้อมรับฟังความเห็นทุกส่วนไปพร้อมๆ กัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน