‘อลงกรณ์’ เผยยางพาราส่งออกพุ่ง ตั้งเป้าตัดออกปีละ 1 แสนไร่ ปลูกไม้อื่นทดแทนให้ยั่งยืน พร้อมจัดตั้งพื้นที่บริหารจัดการทั้งระบบ

เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2565 นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษา รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการติดตามและเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาราคายางและรักษาเสถียรภาพราคายาง ได้ประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 2/2565 ณ ห้องประชุมรัษฎา อาคาร 2 ชั้น 2 การยางแห่งประเทศไทย

โดยมีนายกุลเดช พัวพัฒนกุล ประธานการยางแห่งประเทศไทย นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทย นายธีระชาติ ปางวิรุฬห์รักษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการตลาด นายประพันธ์ บุณยเกียรติ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการค้าและการลงทุน

นายธีระชาติ ปางวิรุฬห์รักษ์ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีพาณิชย์ นายเมฆินทร์ เอี่ยมสอาด นายนฐกร สุวรรณธาดา คณะทำงาน รมว.เกษตรและสหกรณ์ สำนักงานเกษตรในทุกภูมิภาคทั่วโลก ผู้แทนชาวสวนยาง สถาบันชาวสวนยาง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมผ่านระบบการประชุมทางไกล

นายอลงกรณ์ เปิดเผยว่า วันนี้ที่ประชุมมีการรายงานถึงสถานการณ์เศรษฐกิจตลาดยางพารา ในประเทศคู่ค้าที่สำคัญโดยมุมมองทูตเกษตร จากสหภาพยุโรป กรุงโรม กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ออสเตรเลีย รัสเซีย จีน กรุงโตเกียว กรุงจาการ์ต้า และลอสแองเจลิส (เม็กซิโก-ลาตินอเมริกา)

จากรายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ข้อมูลต่างๆ ทั่วโลก มีปัจจัยที่ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อเสถียรภาพและราคายาง ได้แก่ การแพร่ระบาดรอบใหม่ของโควิด-19 ในประเทศคู่ค้าหลัก โดยเฉพาะประเทศจีน ตลอดจนการเกิดปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลต่อค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ฯลฯ

จากรายงานสถานการณ์ยางพารา เดือน มี.ค. และคาดการณ์ราคายางพารา เดือน เม.ย. 2565 โดยฝ่ายเศรษฐกิจยาง การยางแห่งประเทศไทย ได้รายงานคาดการณ์ปริมาณผลผลิตยางพารา ปี 2565 มีปริมาณ 4.907 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1.48% คาดการณ์ปริมาณการส่งออกยางพารา ปี 2565 มีปริมาณ 4.218 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.03%

ซึ่งในปี 2563 สัดส่วนการส่งออกยางพาราของไทย มีปริมาณการส่งออกไปยังประเทศจีน มากที่สุด ในปี 2564 มีปริมาณการส่งออกไปยังประเทศจีน 54% รองลงมาได้แก่ มาเลเซีย 10% สหรัฐอเมริกา 6 % ญี่ปุ่น 5 % และเกาหลีใต้ 3 %

ที่ประชุมได้รับทราบ 1) Supply side ด้านการปลูกแทนพื้นที่ยางพาราและเป้าหมายการส่งเสริมและสนับสนุนการปลูกแทน ปี 2565 ของการยางแห่งประเทศไทย มีเป้าหมายดำเนินการ พื้นที่รวม 200,000 ไร่ โดยได้ดำเนินการปลูกแทนไปแล้ว จำนวน 150,641.15 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 75.32

แบ่งออกเป็น 1.การตัดยางเก่าเป้าหมายปีละ 1 แสนไร่ โดยปลูกยางใหม่ทดแทนด้วยยางพันธุ์ดี สามารถดำเนินการคืบหน้าได้แล้ว 83,645.10 ไร่ 2.การตัดยางเก่า 1 แสนไร่ โดยปลูกไม้ยืนต้นเชิงเดี่ยวทดแทน มีความคืบหน้า 54,356 ไร่ เกษตรกรรมยั่งยืน 6,536.35 ไร่ และแบบสวนยางยั่งยืน 6,103.70 ไร่ ข้อมูล ณ วันที่ 21 มี.ค.2565 ทั้งนี้ กยท.คาดการณ์ว่าราคายางพาราช่วงเดือน มี.ค. และ เม.ย. ยังอยู่ในช่วงขาขึ้น

2) ความคืบหน้าโครงการจัดตั้งพื้นที่บริหารจัดการยางพาราทั้งระบบ (Rubber Valley) เพื่อศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในการพัฒนาเป้าหมายที่มีศักยภาพรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช ปี 2565

นายอลงกรณ์ ได้ให้ข้อสังเกตในการกำหนดรูปแบบการบริหารโครงการว่า ควรมีการกำหนดตั้งแต่ต้นว่าควรจะเป็นการบริหารจัดการในรูปแบบใด ยกตัวอย่างเช่น การบริหารแบบบริษัทร่วมทุนและควรมีการพัฒนาอุตสาหกรรมอื่นร่วมไปพร้อมกับการพัฒนาเขตอุตสาหกรรมยางพาราด้วย เช่น ปาล์มน้ำมัน ผลไม้ เป็นต้น

3) การดำเนินการเก็บข้อมูลผลผลิตยางพารา(Productivity) และรายได้เฉลี่ยต่อไร่ของเกษตรกรผู้ปลูกยางในประเทศไทย เพื่อสนับสนุนตัวชี้วัดด้านผลผลิตและรายได้ของเกษตรกรชาวสวนยาง ตามแผนวิสาหกิจการยางแห่งประเทศไทย ระยะ 7 ปี (พ.ศ.2564-พ.ศ.2570) ตามยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนายางพาราทั้งระบบ

โดยในปีงบประมาณ 2565 การยางแห่งประเทศไทย จะดำเนินการเก็บข้อมูลผลผลิตยางพาราและรายได้เฉลี่ยต่อไร่ของเกษตรกรผู้ปลูกยางในประเทศไทย จากเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยาง ในพื้นที่ 45 จังหวัด ทั่วประเทศ เพื่อยกระดับการเพิ่มปริมาณผลผลิตต่อไร่ของเกษตรกรให้สูงขึ้น

ทั้งนี้ นายอลงกรณ์ ได้เน้นย้ำถึงสถานการณ์โควิดและสงครามยูเครน-รัสเซียรวมทั้งปัญหาราคาน้ำมันและค่าเงินบาทยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ กยท.ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะมีผลทั้งทางบวกและทางลบต่อราคายางและการส่งออกของไทย

รวมทั้งขอให้เร่งดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูลกับศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ (NABC:National Agriculture Big Data Center) ซึ่งเป็นของฐานข้อมูลกลางของหน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และการพัฒนาฐานข้อมูล Big Data ในการใช้ประโยชน์และเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนกับหน่วยงานต่าง ๆ ในยุค Digital Transformation ด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน