นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า สศอ. ในฐานะเจ้าภาพแผนงานบูรณาการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต ได้กำหนดแนวทางขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ประกอบด้วย 6 แนวทาง ได้แก่ 1. ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพและอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต ที่เน้นการส่งเสริม อุตสาหกรรมชีวภาพ ให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชีวภาพให้มากขึ้น เช่น วัสดุชีวภาพทางการแพทย์ ชีวเภสัชภัณฑ์ สารสกัดสมุนไพร โอเลโอเคมี บรรจุภัณฑ์อัจฉริยะ รวมถึงส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต เน้นการสร้างนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต

2. ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการการแพทย์ครบวงจร เน้นการเชื่อมโยงต่อยอดการวิจัย พัฒนาวัสดุอุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์ของไทยสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ ทำการตลาดหรือสร้างเครือข่ายร่วมกับโรงพยาบาลและเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันการแพทย์ศาสตร์แห่งประเทศไทยให้วัสดุอุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์ที่ผลิตในประเทศเกิดการยอมรับในวงกว้าง

3. ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการเทคโนโลยีดิจิทัล ข้อมูลปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ โดยการส่งเสริม อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ จะเร่งพัฒนาบุคลากรและจัดทำมาตรฐานด้านฝีมือแรงงานและวิชาชีพให้มีเพียงพอรองรับกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม

4. ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและยานยนต์สมัยใหม่ เน้นการพัฒนาทักษะให้แก่แรงงานและผู้ประกอบการเพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า ยานยนต์อัตโนมัติ และชิ้นส่วนยานยนต์สมัยใหม่ สนับสนุนการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ยานยนต์อัตโนมัติ และชิ้นส่วนยานยนต์สมัยใหม่

5. ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมความมั่นคงของประเทศ เน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศไปสู่การผลิตยุทโธปกรณ์และยุทธภัณฑ์ทางการทหารในเชิงพาณิชย์ รวมทั้งอุตสาหกรรมที่เป็นเทคโนโลยีสองทางที่สามารถต่อยอดเทคโนโลยีไปพัฒนาอุตสาหกรรมอื่นๆ ลดการพึ่งพาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากต่างประเทศ เป็นการลงทุนพัฒนาต่อยอดเป็นอุตสาหกรรมส่งออกต่อไป

6. พัฒนาระบบนิเวศอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต มุ่งเน้นการยกระดับสถานประกอบการ บุคลากรและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมแห่งอนาคตได้อย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนแผนงานบูรณาการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคตให้เกิดผลได้อย่างเป็นรูปธรรมคงต้องได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ภาคการผลิตของไทยสามารถยกระดับความสามารถในการแข่งขันด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี รวมถึงเกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ ซึ่งจะส่งผลต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของชาติได้ต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน