นายอนันต์ โพธิ์นิ่มแดง ผู้ช่วยผู้ว่าการด้านปฏิบัติการ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 31 มี.ค. คณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. ได้รับทราบหลักการ และให้ รฟท. ดำเนินการประกวดราคา (ประมูล) โครงการจัดหาเอกชนเพื่อพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ และป้ายโฆษณา บริเวณอาคารสถานีกลางบางซื่อ และสถานีรถไฟชานเมืองสายสีแดง (รถไฟฟ้าสายสีแดง) 12 สถานี รวมประมาณ 4.76 หมื่นตารางเมตร (ตร.ม.) แล้ว
โดยขณะนี้อยู่ระหว่างเก็บรายละเอียดการจัดทำร่างเงื่อนไขการประมูล (ทีโออาร์) ให้สมบูรณ์อีกเล็กน้อย คาดว่าภายในเดือนพ.ค. 2565 จะสามารถประกาศเชิญชวนเอกชนให้เข้ายื่นข้อเสนอได้ จากนั้นเตรียมเปิดให้ยื่นซองข้อเสนอ ภายในเดือนมิ.ย. 2565 โดยใช้หลักเกณฑ์?เทคนิค 80% และราคา 20% คาดว่าจะได้ตัวผู้ชนะประมูลในเดือนพ.ย. 2565 และคาดว่าสามารถเข้าพื้นที่ได้ในข่วงปลายปี 2565 ต่อไป
นายอนันต์ กล่าวว่า การประมูลโครงการดังกล่าว แบ่งเป็น 4 สัญญา ประกอบด้วย 1. การบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ภายในสถานีกลางบางซื่อ 1 สัญญา 2. การบริหารจัดการพื้นที่ติดตั้งป้ายโฆษณาสถานีกลางบางซื่อ 1 สัญญา 3. การบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์สถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง 12 แห่ง 1 สัญญา และ 4. การบริหารจัดการพื้นที่ติดตั้งป้ายโฆษณาในสถานี 12 แห่ง 1 สัญญา โดยสัญญาที่ 1 และ 2 เป็นสัญญาระยะยาว 20 ปี ส่วนสัญญาที่ 3 และ 4 เป็นสัญญาระยะสั้น 3 ปี ซึ่งเมื่อได้ผู้ชนะประมูลแล้ว รฟท. จะให้เอกชนเข้าพื้นที่เริ่มดำเนินการพัฒนาทันที ทั้งนี้คาดว่าตลอดอายุสัมปทานประมาณ 20 ปี จะสร้างรายได้ให้กับ รฟท. ไม่ต่ำกว่า 7.3 พันล้านบาท
นายอนันต์ กล่าวว่า จากการปรับลดพื้นที่เชิงพาณิชย์สถานีกลางบางซื่อ ของ รฟท. ลงประมาณ 4,700 ตร.ม. จากเดิม 5.2 หมื่นตร.ม. เหลือประมาณ 4.7 หมื่นตร.ม. เนื่องจากต้องใช้พื้นที่บางส่วนสำหรับการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) ส่วนพื้นที่ในส่วนอื่นๆ ยังคงจำนวนพื้นที่เท่าเดิม โดยพื้นที่ติดตั้งป้ายโฆษณาสถานีกลางบางซื่อ จำนวนพื้นที่ประมาณ 2,300 ตร.ม. พื้นที่เชิงพาณิชย์สถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง 12 สถานี พื้นที่ประมาณ 3,700 ตร.ม. และพื้นที่ติดตั้งป้ายโฆษณาสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง 12 สถานี ประมาณ 2,000 ตร.ม.
นอกจากนี้ ในส่วนของการส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนในโครงการฯ แบ่งออกเป็น 2 ระยะ ดังนี้ ระยะที่ 1 สามารถส่งมอบพื้นที่บริเวณชั้น 1 และชั้นลอย จำนวน 24,000 ตร.ม. ภายในปี 2566-68 และระยะที่ 2 สามารถส่งมอบพื้นที่บริเวณชั้น 3 เพื่อรองรับรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินและรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน จำนวน 21,000 ตร.ม. ภายในปี 2569