แบงก์ชาติผวาบาทอ่อนดันเงินเฟ้อพุ่งปรี๊ด ซ้ำเติมค่าครองชีพประชาชน จับตาใกล้ชิด – ส่วนเศรษฐกิจ มี.ค. ยังชะลอตัว พิษโอมิครอน-น้ำมันแพง

– นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า จากเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/2565 มีแนวโน้มดีขึ้นจากไตรมาส 4/2564 แม้ว่าช่วงเดือนมี.ค. การบริโภคภาคเอกชนจะมีการแผ่วตัวลงบ้าง จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่รุนแรงขึ้น รวมทั้งแนวโน้มค่าครองชีพที่ปรับเพิ่มสูง ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่จากการปรับขึ้นของราคาพลังงาน

นอกจากนี้ ธปท. อยู่ระหว่างการติดตามการอ่อนค่าของค่าเงินบาท ที่คาดว่าจากนี้จะมีความผันผวนรุนแรงขึ้น โดยตั้งแต่ต้นปี ค่าเงินอ่อนค่า 2.5% ถือว่ายังอยู่ในระดับกลางๆ แม้ว่าจะมีผลบวกต่อผู้ส่งออก แต่ในด้านของการนำเข้าก็มีความกังวลจะกระทบต่อต้นทุนสูงขึ้น ส่งผลไปยังเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น และกระทบกับค่าครองชีพของประชาชน ซึ่งขณะนี้ ยังไม่ได้ส่งผลอะไรต่อเศรษฐกิจมาก แต่ถ้าค่าเงินบาทยังอ่อนค่าต่อเนื่อง ก็จะยิ่งเป็นแรงกดดัน ซ้ำเติมอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป

“ธปท. อยู่ระหว่างติดตามการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาท ถ้ามีความผิดปกติ ไม่สอดคล้องปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ก็จะต้องเข้าไปดูแล โดยค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง มาจากกรณีธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีการขึ้นดอกเบี้ยแรงและเร็วกว่าที่คาด รวมทั้งความกังวลต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีน ซึ่งมองไประยะข้างหน้า ค่าเงินบาทยังมีความผัวผวนสูง”นายสักกะภพ กล่าว

ในส่วนของอัตราเงินเฟ้อ ธปท. จับตาดูอย่างใกล้ชิด เท่าที่ประมาณการไว้ช่วงไตรมาส 2-3/2565 มีโอกาสที่เงินเฟ้อทั่วไปมากกว่า 5% ก่อนเริ่มปรับลดลงในไตรมาส 4/2565 โดยมีสมมติฐานจากการลอยตัวราคาน้ำมันดีเซล และการขึ้นราคาสินค้าประเภทต่างๆ ซึ่งในส่วนของเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือนมี.ค. มีการปรับตัวเร่งขึ้นตามราคาพลังงานและราคาอาหารสำเร็จรูป โดยธปท. จะต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง

นายสักกะภพ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนมี.ค. 2565 ชะลอลงเล็กน้อย ตามการใช้จ่ายในประเทศของภาคเอกชนที่ปรับลดลงทั้งการบริโภคและการลงทุน การใช้จ่ายภาครัฐหดตัวเล็กน้อยจากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลาง อย่างไรก็ดี มูลค่าการส่งออกสินค้าปรับเพิ่มขึ้นตามอุปสงค์ประเทศคู่ค้า ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังมีการผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับเพิ่มขึ้นจากราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และราคาอาหารสำเร็จรูปที่เพิ่มขึ้นตามต้นทุนวัตถุดิบ ด้านตลาดแรงงานปรับดีขึ้นบ้าง แต่โดยรวมยังเปราะบาง สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเกินดุลตามดุลการค้าที่เกินดุลเพิ่มขึ้นจาก

ในไตรมาสที่ 1 ปี 2565 เศรษฐกิจไทยปรับดีขึ้นจากไตรมาสก่อน ตามมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ปรับเพิ่มขึ้นเนื่องจากอุปสงค์ประเทศคู่ค้าปรับดีขึ้น ด้านจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปรับเพิ่มขึ้นหลังมี การผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ นอกจากนี้ เครื่องชี้การบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนยังปรับเพิ่มขึ้น แม้จะชะลอลงบ้างจากการระบาดของโควิด-19

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน