นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวภายหลังการลงนามข้อตกลง ระหว่างกรมสรรพสามิต กับ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ว่า ขณะนี้รัฐบาลอยู่ระหว่างการพิจารณามาตรการเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ภายในประเทศ อาทิ การส่งเสริมให้เกิดการลงทุนสถานีอัดประจุไฟฟ้า และมาตรการสนับสนุนอัตราค่าใช้ไฟฟ้าสำหรับรถอีวี เป็นต้น

“ทั้งหมดเป็นการตอบสนองตามนโยบายของรัฐบาลในการสนับสนุนให้เกิดการใช้และการผลิตรถอีวี ซึ่งเป็นพลังงานธรรมชาติมากขึ้น ซึ่งเชื่อว่ามาตรการต่างๆ ที่ออกมา โดยเฉพาะมาตรการอุดหนุนราคาขายปลีกรถยนต์ไฟฟ้า จะส่งผลดีต่อราคาขายรถอีวีภายในประเทศ ประชาชนจะได้รับประโยชน์มากที่สุด”

ทั้งนี้ จากการที่ภาครัฐได้มีมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ เป็นต้นมา ส่งผลให้มีผู้ประกอบอุตสาหกรรมลงนามในข้อตกลงกับกรมสรรพสามิตตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าไปก่อนหน้านี้แล้ว 3 ราย และปัจจุบันมียอดจองรถยนต์ไฟฟ้าที่ขอรับสิทธิตามมาตรการดังกล่าว รวมทั้งสิ้นกว่า 5,000 คัน

ประกอบด้วย รถยนต์ไฟฟ้า GWM รุ่น ORA GOOD CAT และ MG รุ่น MG EP และ MG ZS ขณะเดียวกันยังมีรถยนต์ไฟฟ้าที่ไม่ได้เข้าร่วมมาตรการ โดยมียอดจองกว่า 600 คัน อาทิ VOLVO ยอดจอง 385 คัน BMW ยอดจอง 112 คัน MINI ยอดจอง 58 คัน Porsche ยอดจอง 58 คัน Nissan ยอดจอง 19 คัน Audi ยอดจอง 10 คัน และ TAKANO ยอดจอง 6 คัน

นายอาคม กล่าวว่า คณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้า และกระทรวงการคลัง พร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่เพื่อให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศเดินหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อให้ไทยยังคงเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์และรถยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน และในเวทีโลก ขณะที่ตลาดในประเทศเองถือเป็นตลาดที่ประชาชนมีกำลังซื้อ น่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ

ในส่วนของปัญหา Supply Chain Disruption ที่เกิดขึ้นในช่วงการระบาดของโควิด-19 ซึ่งส่งผลทำให้โรงงานหลายแห่งถูกปิดหรือดำเนินการได้เพียงบางส่วนนั้น มองว่าได้คลี่คลายไปแล้ว โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ ตอนนี้กำลังการผลิตรถยนต์กลับมาเกือบเต็ม 100% แล้ว สะท้อนจากภาพรวมการส่งออกของไทยในช่วงไตรมาส 1/2565 ที่ขยายตัวสูงถึง 12% ถือเป็นตัวเลขที่น่าพอใจ หลายอุตสาหกรรม รวมถึงรถยนต์กลับมาส่งออกได้ตามปกติแล้ว

นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า มาตรการอุดหนุนราคายานยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาลถือว่าโดนใจประชาชน สะท้อนจากยอดจองที่ยังมีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยในปีงบประมาณ 2565 จัดเตรียมเม็ดเงินสำหรับรองรับมาตรการดังกล่าว 3,000 ล้านบาท รองรับได้ 20,000 คัน ซึ่งจากทิศทางในปัจจุบัน เชื่อว่าจนถึงต้นปีน่าจะเป็นไปตามเป้าหมาย

“หลายบริษัทมีการจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขายเพิ่มเข้ามาด้วย ขณะที่มาตรการภาษีต่างๆ จากรัฐบาล และเงินอุดหนุนที่ให้ รวมแล้วประชาชนจะได้รับประโยชน์จากราคารถที่ลดลงไปประมาณ 2 แสนบาทต้นๆ ดังนั้นตอนนี้ผู้ซื้อได้รับประโยชน์มากที่สุด”

นายลวรณ กล่าวอีกว่า หลังจากนี้เชื่อว่าจะมีมาตรการสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในมิติต่างๆ ทยอยออกมา โดยคณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้าได้มีการพิจารณาทุกเรื่อง โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับ ecosystem ของยานยนต์ไฟฟ้า อาทิ แบตเตอรี่ สถานีชาร์จ ก็จะมีมาตรการสนับสนุนที่เหมาะสมออกมา เพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุน ให้ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า

ทั้งนี้ คาดว่าภายในปี 2565 จะมีบริษัทผู้ประกอบการอุตสาหกรรมและผู้นำเข้ารถยนต์และรถจักรยานยนต์แบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ (BEV) เข้าร่วมลงนามในข้อตกลงเข้าร่วมมาตรการกับกรมสรรพสามิตอีกไม่น้อยกว่า 5 ราย โดยในสัปดาห์หน้าจะมีการลงนามกับค่ายรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า 2 แห่ง คือ เดมโปกรีน และเอดิสัน ซึ่งเป็นค่ายรถของคนไทย

อย่างไรก็ดี ในส่วนของ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด นั้น มีแผนที่จะจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า รุ่น bZ4X โดยจะได้รับสิทธิลดอากรศุลกากร ลดภาษีสรรพสามิตและรับเงินอุดหนุน เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจให้แก่ผู้บริโภคให้สามารถเลือกซื้อรถยนต์ไฟฟ้าในราคาที่จับต้องได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน