สรท. หวั่นส่งออกไทยเสียเปรียบคู่แข่งที่ค่าเงินอ่อนกว่า หลังดอลลาร์แข็งเร็วเวอร์ – เผย 3 ปัจจัยเสี่ยงรุมเร้าส่งออก คาดทั้งปีโต 8%

คาดส่งออกปีนี้โต8% – นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยถึงภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนส.ค. 2565 เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนพบว่า การส่งออกมีมูลค่า 23,632.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 7.5% มูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 861,169 ล้านบาท ขยายตัว 20.4% เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกขยายตัว 10.1%

ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 27,848.1 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 21.3% มูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 1,026,654 ล้านบาท ขยายตัว 35.5% ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้า 4,215.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเท่ากับ 165,485 ล้านบาท

ส่วนภาพรวมในช่วง 8 เดือน (ม.ค.-ส.ค. 2565) เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน การส่งออกมีมูลค่า 196,446.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 11% มูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 6,635,446 ล้านบาท ขยายตัว 21.9% เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย การส่งออกขยายตัว 8.5%
ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 210,578.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 21.4% มูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 7,218,870 ล้านบาท ขยายตัว 33.4% ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้ารวม 14,131.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 583,424 ล้านบาท

นายชัยชาญ กล่าวถึงการคาดการณ์ส่งออกปี 2565 ว่า จะขยายตัว 7-8% โดยยังมี 3 ปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญ คือ 1. เงินเฟ้อของคู่ค้าสำคัญที่อยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะสหรัฐ ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายรวดเร็ว ส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐ เสี่ยงชะลอตัวอย่างมีนัยยะสำคัญ ก่อให้เกิดความกังวลต่อนักลงทุนและคู่ค้ากับสหรัฐ อาจทำให้ไทยเสียเปรียบจากการส่งออกไปยังตลาดอื่นที่มีค่าเงินอ่อนค่ากว่า โดยเฉพาะการแข่งขันด้านราคาของไทยลดลง

2. ราคาพลังงานยังทรงตัวสูง จากสงครามยูเครนและรัสเซีย ที่ยืดเยื้อ ปริมาณน้ำมันคงคลังของสหรัฐ ปรับตัวลดลง และการปรับขึ้นอัตราค่าไฟฟ้า (เอฟที) ภายในประเทศ ส่งผลต่อเนื่องถึงต้นทุนภาคการผลิตในภาคอุตสาหกรรมและต้นทุนในการดำรงชีวิตภาคครัวเรือน ปรับตัวสูงขึ้นทั่วโลก และ 3. ต้นทุนวัตถุดิบขาดแคลนและราคาผันผวน อาทิ เซมิคอนดักเตอร์, เหล็ก, ธัญพืช เช่น ข้าวสาลี ถั่วเหลือง ข้าวโพด เมล็ดทานตะวัน แป้งสาลี อาหารสัตว์ ปุ๋ย เป็นต้น

“เอกชนเองจะต้องเร่งส่งออกในช่วงค่าเงินบาทอ่อน โดยการใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงให้เหมาะสม ส่วนรัฐบาลจะต้องช่วยดูแลต้นทุนด้านพลังงานและการผลิตให้ภาคธุรกิจ โดยช่วยดูแลราคาน้ำมันให้อยู่ในราคาที่เหมะสม ควบคุมหรือขึ้นค่าเอฟที ทั้งในภาคการผลิตและภาคครัวเรือน แบบค่อยเป็นค่อยไป และแก้ไขปัญหากฎระเบียบด้านการถ่ายลำ (Transshipment) เพื่อดึงดูดเรือแม่เข้ามาให้บริการแบบ Direct Call ให้ไทยเป็นศูนย์กลางการรับส่งสินค้า รวมถึงสามารถบริหารจัดการต้นทุนค่าระวางเรือให้อยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันกับคู่แข่งในต่างประเทศได้”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน