นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กนศ.) หรืออีอีซี ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติเห็นชอบหลักการของโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อม 3 สนามบิน เพื่อเตรียมจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบต่อไป รวมทั้งเห็นชอบในหลักการให้สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) ไปศึกษาการขยายพื้นที่อีอีซีในพื้นที่ให้เชื่อมโยง 3 จังหวัดเดิม และนำกลับมาเสนอ กนศ. อีกครั้ง หลังจากพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. … มีผลบังคับใช้แล้ว คาดจะสามารถเปิดประมูลได้ภายในเดือนมี.ค. และได้ผู้ชนะประมูลช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภาเป็น 1 ใน 5 โครงการเร่งด่วนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่มีผลต่อความสำเร็จของอีอีซี ซึ่งโครงการนี้พัฒนามาจากโครงการรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออก (ลาดกระบัง-ระยอง) ที่เป็นโครงการเดิม แต่ได้ปรับปรุงหลักการให้เข้าเชื่อม 3 สนามบินอย่างไร้รอยต่อ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศและประชาชนในอนาคตยกระดับสนามบินอู่ตะเภามาเป็นสนามบินนานาชาติแห่งที่ 3 ให้ทำงานควบคู่กับสนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิที่มีผู้โดยสารเกินความจุแล้ว 17 ล้านคนต่อปี

ทั้งนี้ เบื้องต้นเตรียมข้อเสนอโครงการรถไฟความเร็วสูงให้ครม. พิจารณาด้วยความเร็ว 250 กิโลเมตร(ก.ม.)/ชั่วโมง(ชม.) สามารถวิ่งเส้นทางสนามบินอู่ตะเภา-กรุงเทพฯ ระยะทาง 250 ก.ม./ชม. ได้ภายใน 45 นาที เทียบกับรถยนต์ใช้เวลาเดินทาง 2-3 ชั่วโมง แบ่งระยะจอดออกเป็น 5 สถานี ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ศรีราชา พัทยา และอู่ตะเภา อัตราค่าโดยสารจาก มักกะสัน-พัทยา ประมาณ 270 บาท มักกะสัน-สนามบินอู่ตะเภา ประมาณ 330 บาท

โดยโครงการดังกล่าวจะมีส่วนต่อขยายแอร์พอร์ตลิงก์ ดอนเมือง-พญาไท 21 ก.ม. ใช้ความเร็ว 160 กม./ชม. รถไฟแอร์พอร์ตลิงก์ พญาไท-สนามบินสุวรรณภูมิระยะทาง 29 ก.ม. ใช้ความเร็ว 160 ก.ม./ชม. รถไฟความเร็วสูงจากสนามบินสุวรรณภูมิ-สนามบินอู่ตะเภา ระยะทาง 170 ก.ม./ชม. คาดจะใช้เลาเดินทางจากกรุงเทพฯ-ระยอง 60 นาที กรุงเทพฯ-จันทบุรี 100 นาที และกรุงเทพฯ-ตราด 120 นาที ซึ่งเป็นเวลาที่เหมาะสม ทำให้ผู้โดยสารสามารถลงเครื่องบินที่สนามบินอู่ตะเภา แล้วขึ้นรถไฟความเร็วสูงเข้ากรุงเทพฯ ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม คาดว่าผลตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจตลอดทั้งโครงการประมาณ 7 แสนล้านบาท มูลค่าปัจจุบันแบ่งเป็น 50 ปีแรก มีมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 4 แสนล้านบาท ซึ่งมากกว่าเงินลงทุนประมาณ 2 แสนล้านบาท และเมื่อครบ 50 ปีแล้ว ยังมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอีกอย่างน้อย 3 แสนล้านบาท ไม่ว่าจะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มการนำสนามบินอู่ตะเภามาใช้ประโยชน์ ช่วยลดการใช้น้ำมัน ลดเวลาดินทาง ลดมลพิษจากการใช้รถยนต์ เกิดการจ้างงาน และรัฐจัดเก็บภาษีต่างๆ ได้เพิ่มขึ้น ถือว่าคุ้มค่าต่อการลงทุน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน