ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยเปิดเผยถึงการส่งออกข้าวเดือนก.ย. 2566 ว่า มีปริมาณ 807,776 ตัน มูลค่า 17,220 ล้านบาท โดยปริมาณเพิ่มขึ้น 26.5% และมูลค่าเพิ่มขึ้น 48.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากมีการส่งออกข้าวนึ่งและกลุ่มปลายข้าวเพิ่มขึ้นจากกรณีที่ผู้นำเข้ายังคงเร่งนำเข้าข้าวเพื่อชดเชยสต๊อกในประเทศที่ลดลงและสำรองไว้ใช้ในช่วงเทศกาลปลายปีนี้ ท่ามกลางภาวะอุปทานข้าวในตลาดโลกที่ยังตึงตัวจากมาตรการจำกัดการส่งออกข้าวของอินเดียที่คาดว่าจะยังคงมีผลไปจนถึงต้นปี 2567 เป็นอย่างน้อย

ส่วนการส่งออกข้าวใน ช่วง 9 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ย.) ปี 2566 มีปริมาณ 6,082,136 ตัน มูลค่า 117,589.6 ล้านบาท โดยปริมาณเพิ่มขึ้น 12.3% และมูลค่าเพิ่มขึ้น 23.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ที่ส่งออก ปริมาณ 5,418,237 ตัน มูลค่า 95,358.5 ล้านบาท

ทั้งนี้ แบ่งเป็น ข้าวขาว 3,293,029 ตัน เพิ่มขึ้น 24.6% ข้าวนึ่ง 1,133,853 ตัน เพิ่มขึ้น 12.6% ข้าวหอมมะลิ 1,131,457 ตัน ลดลง 4% ข้าวหอมไทย 341,468 ตัน ลดลง 8.2% ข้าวเหนียว 182,328 ตัน ลดลง 16.4%

โดยผู้นำเข้าข้าวไทยสูงสุด 5 อันดับแรกได้แก่ อินโดนีเซีย 905,015 ตัน เพิ่มขึ้น 2,009.3% รองลงมาคือ แอฟริกาใต้ 729,342 ตัน เพิ่มขึ้น 26.2% อิรัก 725,756 ตัน ลดลง 33.9% สหรัฐอเมริกา 510,240 ตัน เพิ่มขึ้น 0.1% และมาเลเซีย 257,924 ตัน เพิ่มขึ้น 135.5%

สำหรับราคาส่งออกข้าวไทยช่วงนี้มีแนวโน้มอ่อนตัวลงตามภาวะตลาดที่อุปทานข้าวฤดูใหม่เริ่มออกสู่ตลาดมากขึ้น ประกอบกับค่าเงินบาทที่ยังอยู่ในระดับที่เอื้อต่อการส่งออกทำให้ข้าวไทยสามารถแข่งขันได้ โดยข้าวขาว 5% ของไทย ณ วันที่ 25 ต.ค. 2566 อยู่ที่ 586 เหรียญสหรัฐ ต่อตัน ขณะที่ราคาของเวียดนาม และปากีสถานอยู่ที่ 643-647 และ 563-567 เหรียญสหรัฐ ต่อตัน ตามลำดับ ส่วนราคาข้าวนึ่งไทยอยู่ที่ 586 เหรียญสหรัฐต่อตัน ขณะที่ข้าวนึ่งอินเดีย และปากีสถานอยู่ที่ 508-512 และ 536-540 เหรียญสหรัฐต่อตัน

ร.ต.ท.เจริญ กล่าวว่า คาดการณ์ว่าในเดือนต.ค. 2566 ปริมาณส่งออกข้าวจะอยู่ที่ 800,000 ตัน เนื่องจากผู้ส่งออกมีสัญญาส่งมอบข้าวที่ยังค้างอยู่จำนวนมาก ขณะที่ผู้นำเข้าที่สำคัญในกลุ่มอาเซียน เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย รวมทั้งตลาดประจำในภูมิภาคแอฟริกา ตะวันออกกลาง และอเมริกา ยังคงเร่งนำเข้าข้าวอย่างต่อเนื่องทั้งข้าวขาว ข้าวนึ่ง และข้าวหอม เพื่อบรรเทาภาวะอุปทานข้าวในประเทศที่ลดลง และปัญหาขาดแคลนข้าวที่ส่งผลกระทบต่อราคาข้าวในประเทศ ที่สูงขึ้น รวมทั้งมีการเก็บสำรองไว้ใช้ในช่วงเทศกาลปลายปี

ในขณะที่อุปทานข้าวในตลาดโลกยังอยู่ในภาวะตึงตัว จากกรณีที่คาดการณ์กันว่ารัฐบาลอินเดีย จะยังคงมาตรการควบคุมการส่งออกข้าวต่อไปจนถึงช่วงเลือกตั้งทั่วไปที่จะเกิดขึ้นในปี 2567 ทำให้ผู้ซื้อต้องหันไปซื้อข้าวจากแหล่งอื่นแทน

อย่างไรก็ตาม อินเดีย ยังคงเป็นแชมป์ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลก โดยในช่วง 9 เดือนแรกปี 2566 ส่งออก ปริมาณ 15.5 ล้านต้น ลดลง 8.8% รองลงมาคือ เวียดนาม 6.42 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 19.4% ไทย 6.08 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 12.3% ปากีสถาน 1.98 ล้านตัน ลดลง 36.9% และสหรัฐอเมริกา 1.49 ล้านตัน ลดลง 9.1%

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน