นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนธ.ค. 2566 ลดลงมาอยู่ที่ 0.83% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และลดลงต่ำสุดในรอบ 34 เดือน นับตั้งแต่ เดือนมี.ค. 2564 โดยเป็นผลจากการลดลงของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง และค่ากระแสไฟฟ้า ตามนโยบายลดภาระค่าครองชีพด้านพลังงานของรัฐบาล รวมทั้งเนื้อสัตว์และเครื่องประกอบอาหารที่ราคาลดลงต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ราคาผักสดปรับลดลงค่อนข้างมาก สำหรับสินค้าและบริการอื่นๆ ราคาเคลื่อนไหวในทิศทางปกติ ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก สูงขึ้น 0.58% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน สำหรับเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2566 สูงขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ 1.23% และเป็นอัตราที่ใกล้เคียงกับที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ไว้ที่ 1-1.7%

“สำหรับเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 1.23% ซึ่งเท่ากับเมื่อปี 2566 ที่เงินเฟ้อเฉลี่ยที่ 1.23% ขณะที่ปี 2565 เนื่องจากมีวิกฤตหลายเรื่องและสงคราม ส่งผลให้เงินเฟ้อสูงที่ 6.08% และเงินเฟ้อที่ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ยืนยันว่า ไม่ได้เป็นภาวะเงินฝืด เพราะราคาสินค้าและบริการส่วนใหญ่ไม่ได้ลดลง”
ด้านแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในปี 2567 มีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ โดยคาดว่าจะอยู่ในช่วง ติดลบ 0.3% ถึง 1.7% โดยมีค่ากลางที่ 0.7% ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยการประเมินอัตราเงินเฟ้อปีนี้ ภายใต้สมมติฐานเศรษฐกิจไทยขยายตัว 2.7-3.7% ราคาน้ำมันดิบดูไบที่ 80-90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยนทั้งปีที่ 34-36 บาทต่อดอลลาร์

สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนม.ค. 2567 มีโอกาสติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซล และตรึงค่ากระแสไฟฟ้าสำหรับครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าต่ำกว่า 300 หน่วย ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีแนวโน้มลดลง ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินในประเทศปรับลดลงตาม นอกจากนี้ ยังเป็นผลจากผลกระทบจากปรากฎการณ์เอลนีโญ มีแนวโน้มลดลง

นอกจากนี้ ยังเป็นผลจากมาตรการส่งเสริมการขายของผู้ประกอบการ เพื่อรองรับการใช้จ่ายของประชาชนที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นตามมาตรการ Easy E-Receipt อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่อาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น เช่น การท่องเที่ยวที่ส่งผลให้สินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งต้องติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งในภูมิภาคต่างๆ ของโลก เช่น การโจมตีเรือขนส่งสินค้าในทะเลแดง ที่ทำให้การขนส่งทางทะเลปรับขึ้นค่าธรรมเนียมและค่าระวางเรือ ซึ่งคาดว่าจะเป็นผลกระทบชั่วคราวและเหตุการณ์ไม่น่าจะยืดเยื้อ เป็นต้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน