นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจัดทำแผนฟื้นฟูการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ว่า คาดว่าจะเสนอแผนฟื้นฟูให้คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พิจารณาอนุมัติได้ในเดือนพ.ค. นี้ หลังจากนั้น รฟท. จะเริ่มดำเนินการตามแผนโดยเฉพาะการขอรับพนักงานใหม่เพิ่ม เพื่อรองรับรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูง ที่กำลังทยอยเริ่มก่อสร้างอีกหลายเส้นทาง ทั้งนี้ หากคณะกรรมการฯ อนุมัติ รฟท.จะเสนอเรื่องไปยัง คณะรัฐมนตรี เพื่อขอแก้มติ วันที่ 28 ก.ค. 2541 ให้ รฟท. สามารถรับพนักงานใหม่เพิ่มได้มากกว่า 5% ของพนักงานที่เกษียณอายุราชการ

นางสิริมา หิรัญเจริญเวช รองผู้ว่าการ กลุ่มยุทธศาสตร์ รฟท. กล่าวว่า ปัจจุบันรฟท. มีพนักงานราว 10,330 คน ซึ่งหากรฟท. ก่อสร้างรถไฟทางคู่ เฟส 1 อีก 7 เส้นทาง แล้วเสร็จในปี 2566 รถไฟทางคู่ เฟส 2 อีก 9 เส้นทางจะทำให้บุคคลากรไม่เพียงพอ ดังนั้นจำเป็นต้องทำแผนขอรับพนักงานเพิ่ม โดยเฉพาะพนักงานขับรถ พนักงานประจำสถานี และช่างเครื่อง เป็นต้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนฟื้นฟู โดยขณะนี้เสนอแผนให้กระทรวงพิจารณาแล้ว

สำหรับแผนคือ การรถไฟฯ ตั้งเป้าจะต้องรับพนักงานใหม่ให้ได้ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไปจำนวนรวมทั้งสิ้น 5 พันคน โดยในช่วงของการก่อสร้างรถไฟทางคู่เฟส 1 จะต้องรับพนักงานรัฐวิสาหกิจเพิ่มให้ได้ 2 พันคน รวมเป็นบุคลากรทั้งหมด 1.6 หมื่นคน และเฟส 2 รับพนักงานรัฐวิสาหกิจอีก 3 พันคน รวมเป็นทั้งหมด 1.9 หมื่นคน จึงจะเพียงพอกับการให้บริการ

นางสิริมา กล่าวว่า ขณะนี้ รฟท. มีพนักงานราว 10,330 คน ไม่เพียงพอต่อการให้บริการ ทำให้ รฟท. ต้องจ้างพนักงานทำโอที โดยปัจจุบันพนักงานทำงานสัปดาห์ละ 6 วัน วันละ 12 ชั่วโมง ทำให้รฟท. มีค่าใช้จ่ายโอทีสูงถึง 25% หรือปีละ 750 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเงินเดือนพนักงานทั้งองค์กรปีละ 3 พันล้านบาท หากรับคนใหม่ได้รฟท. จะประหยัดงบโอทีได้ปีละ 750 ล้านบาทด้วย

“หาก รถไฟทางคู่เฟส 1 สร้างเสร็จในปี 2565 รฟท. ยังรับพนักงานใหม่เข้ามาทำงานไม่ได้ได้ รฟท. อาจจะจำเป็นต้องพิจารณาปิดเส้นทางเดินรถบางเส้นทาง เพราะหากมีพนักงานดูแลไม่เพียงพออาจทำให้การเดินรถเกิดความเสี่ยงด้านความปลอดภัยจนส่งผลกระทบต่อผู้โดยสารในที่สุด”นางสิริมากล่าว

นางสิริมา กล่าวว่า นอกจากนี้ รฟท. เตรียมงบประมาณจำนวน 1.4 พันล้านบาท ที่จะพัฒนาระบบสารสนเทศ (ไอที) 3 ด้านสำคัญ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพองค์กร ได้แก่ 1. ระบบบริหารการเงิน วงเงิน 300 ล้านบาท 2. ระบบบริหารงานบุคลากร วงเงิน 100 ล้านบาท และ 3. ระบบการจัดจำหน่ายตั๋วโดยสาร วงเงิน 1 พัน ล้านบาท โดยระบบจัดจำหน่ายตั๋วโดยสารปัจจุบัน รฟท. ได้ให้สัมปทานเอกชนเข้ามาบริการจัดการ ซึ่งจะหมดอายุสัมปทานในเดือนส.ค. 2563 ซึ่งหากสิ้นระยะเวลา รฟท. จะเข้ามาบริหารจัดการระบบจำหน่ายตั๋วโดยสารเอง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน