นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยภายหลังนำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมแหล่งผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดและเชื้อเพลิงไฮโดรเจน ณ มณฑลไห่หนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ว่า ปีหน้าทิศทางค่าไฟฟ้าของไทยยังมีต้นทุนจากราคาก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า
ที่ผ่านมาการบริหารต้นทุนเพื่อดูแลการปรับค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) นั้น กฟผ. เคยรับภาระค่าเอฟทีสูงสุดที่ 150,000 ล้านบาท แต่ขณะนี้ได้ทยอยได้คืนมาบ้างเหลืออยู่ที่ประมาณ 80,000 กว่าล้านบาททำให้ภาระหนี้ที่ กฟผ. กู้มาเพื่อเสริมสภาพคล่อง 110,000 ล้านบาท ลดลงเหลือประมาณ 70,000 ล้านบาท
“ปีหน้า กฟผ. จะพยายามรักษาและบริหารจัดการสภาพคล่องให้เพียงพอ เพราะกฟผ. เป็นหน่วยงานของรัฐ ที่จะต้องช่วยประชาชนในการดูแลค่าไฟฟ้า ค่าเอฟทีไม่ให้กระทบมากเกินไป โดยเชื่อว่าจะไม่มีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง”
ทั้งนี้ ยอมรับว่าปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังมีความขัดแย้ง และอาจเกิดภาวะสงครามในหลายพื้นที่ของโลกในระยะต่อไป ส่งผลกระทบต้นทุนราคาพลังงานมีความผันผวน จึงจำเป็นต้องใช้เชื้อเพลิงที่หลากหลาย และหาเชื้อเพลิงใหม่เพิ่มขึ้น เพราะจะผูกกับก๊าซธรรมชาติอย่างเดียวคงยาก ตัวอย่างเช่น บทเรียนในปี 2565 ที่ราคาก๊าซธรรมชาติแพง กฟผ. ได้ก็เพิ่มการใช้ถ่านหินเพิ่มขึ้น รับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น หรือบางช่วงก็ผลิตไฟฟ้าจากน้ำมันดีเซล
ขณะเดียวกัน กฟผ.อยู่ระหว่างการกำหนดแผนบริหารจัดการปรับเพิ่มเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าที่เป็นพลังงานทดแทน โดยขณะนี้มีพลังงานหมุนเวียนทั้งสิ้นประมาณ 19% ขณะที่แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของไทย (พีดีพี) ฉบับล่าสุด ต้องการให้เพิ่มพลังงงานหมุนเวียนสูงถึง 51% เนื่องจากทั่วโลกต้องการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ตามเป้าหมาย และต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด