ทองคำ พุ่งแรงทะลุประวัติศาสตร์ใหม่ กูรู ชี้ได้เห็นแน่ 47,000 บาท เผยชัดเป็นช่วงขาขึ้น ตั้งแต่การเข้าสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ ของ ทรัมป์

วันที่ 6 ก.พ.2568 นายธนรัชต์ พสวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทฮั่วเซ่งเฮง เปิดเผยว่า ภาพรวมราคาทองคำนับตั้งแต่ต้นปี 2568 จนถึงปัจจุบัน มีการปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง โดยผลตอบแทนทองคำโลกอยู่ประมาณ 8% ส่วนทองคำไทยอยู่ที่ 6% ทำออลไทม์ไฮต่อเนื่อง มีการปรับตัวขึ้นมาแล้ว 3,250 บาทต่อบาททองคำ

โดยตลาดได้รับความสนใจมากขึ้น ตั้งแต่การเข้าสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ที่มีนโยบายต่างๆ ออกมา โดยแนวต้านส่วนของทองคำโลกให้ไว้ที่ระดับ 2,900 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ และ 3,000 เหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินบาทมีเป้าหมายที่ 45,800 บาทต่อบาททองคำ และ 47,000 บาท โดยเป้าหมายสูงสุดยังเป็น 47,000 บาท

ส่วนจะวิ่งขึ้นไปยืนเหนือกว่าระดับดังกล่าวอีกหรือไม่ ยังต้องมาประเมินปัจจัยแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นใหม่ในช่วงถัดไปอีกครั้ง เนื่องจากประเมินว่าปี 2568 นี้ คงไม่มีโอกาสได้เห็นราคาทองคำไทยย่อต่อลงมาแตะระดับต่ำกว่า 40,000 บาท หรือ 3 หมื่นบาทปลายๆ ได้ เนื่องจากขณะนี้เป็นการพูดถึงอัพไซด์หรือการปรับขึ้นมากกว่า

ทั้งนี้ ราคาทองคำไทย ณ วันที่ 6 ก.พ.2568 ทองแท่งรับซื้อ อยู่ที่ 45,500 บาทต่อบาททองคำ ขายออก 45,600 บาทต่อบาททองคำ ทองรูปพรรณ รับซื้อ 44,676.52 บาทต่อบาททองคำ ขายออก 46,100 บาทต่อบาททองคำ ทองคำสปอต 2,865 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ ค่าเงินบาท 33.66 บาทต่อเหรียญสหรัฐ โดยราคาทองคำทำจุดสูงสุดที่ระดับ 45,650 บาทต่อบาททองคำ ถือเป็นจุดสูงสุดที่ไม่เคยไปถึงมาก่อนในประวัติศาสตร์

“จุดการเข้าซื้อเพิ่มเติม ความจริงแนะนำนักลงทุนที่มีของให้ถือไว้ยาวๆ ก่อน แต่หากมีกำไรตามเป้าหมายที่ต้องการแล้วก็สามารถขายออกเพื่อทำกำไรก่อนได้ เนื่องจากราคาทองคำปรับขึ้นมาสูงมาแล้วในช่วงเพียง 1 เดือน หากมีจังหวะราคาทองคำย่อตัวลงมาค่อยทยอยเข้าซื้อสะสมใหม่เพิ่มเติม

แต่จากการประเมินแนวโน้มปัจจัยสนับสนุนราคาทองคำอย่างสงครามการค้ามีความแข็งแรงมาก รวมถึงหากสหรัฐลดดอกเบี้ยนโยบายลงก็เป็นผลบวกให้ราคาทองคำขึ้นด้วย เพราะผลตอบแทนน้อยลง ทองคำมีความน่าสนใจมากขึ้น และทองคำมีข้อดีของตัวเอง สามารถป้องกันความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อได้ด้วย ทองคำในปีนี้จึงอยู่ในจุดที่ดี กล้าพูดเต็มปากว่าเป็นขาขึ้น หากเห็นช่วงใดราคาย่อตัวลง ก็เป็นจุดที่เข้าซื้อสะสมได้” นายธนรัชต์ กล่าว

นายธนรัชต์ กล่าวว่า ประเด็นการกลับมาของโดนัลด์ ทรัมป์ เดิมทีมีนโยบายลดภาษีนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา แต่ตอนนี้เป็นการหารายได้เพิ่มจากการเก็บภาษีนำเข้าในสินค้าต่างประเทศที่เกินดุลสินค้ากับสหรัฐแทน โดยล่าสุดเป็นการประกาศขึ้นภาษีแม็กซิโกและแคนาดา รวมถึงจีน ก่อนชะลอคำสั่งออกไป

เป็นจุดที่นักลงทุนมองว่าสงครามการค้าในรอบนี้คงไม่ได้เป็นผลดีต่อสหรัฐด้วยเช่นกัน อาทิ การจัดตั้งกลุ่มบริกส์ (BRICS) หรือกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่มีเศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว ได้แก่ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ รวมถึงประเทศใหม่ๆ ที่มีความแข็งแกร่งมากขึ้น อาจทำให้สหรัฐมีเรื่องราวเร้าใจในแง่นโยบายออกมา แต่คงไม่ได้รุนแรงเท่ารอบแรก

นายธนรัชต์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและประเทศต่างๆ อาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนสินค้าและบริการ และทำให้สหรัฐลำบากมากกว่าครั้งแรกได้ เพราะกลุ่มบริกส์มีความเข้มแข็งมากขึ้น จากสมาชิกใหม่ที่เพิ่มเข้ามา ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย เอธิโอเปีย อิหร่าน ยูเออี อียิปต์ ที่มีการเติบโตในสัดส่วนที่เร็วมาก สามารถผลิตน้ำมันในสัดส่วนรวมกว่า 35% ของโลก

รวมถึงจำนวนประชากรที่เยอะมากประมาณ 45% ของโลก ทำให้ตลาดมีขนาดใหญ่ในเรื่องการค้า ซึ่งจะมีอำนาจในการต่อรองระหว่างสหรัฐมากขึ้น ถือเป็นจุดเปลี่ยนของสงครามการค้ารอบใหม่นี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน