กสทช.เปิดประชาพิจารณ์ประมูลคลื่น 6 คลื่นมือถือ คาดเคาะราคาไตรมาส 2 ปีนี้ ด้านผู้ประกอบการขอให้ทบทวนราคาเริ่มต้นประมูล-เงื่อนไขชำระเงิน บนพื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้น
เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2568 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดให้มีการรับฟังความเห็นสาธารณะ (ประชาพิจารณ์) ต่อ ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล ย่าน 850 MHz 1500 MHz 1800 MHz 2100 MHz 2300 MHz และ 26 GHz ณ ห้องประชุมพระพรหม ชั้น 3 โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร
นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. กล่าวว่า กสทช. ในฐานะองค์กรกำกับดูแล จะสร้างความเชื่อมั่นและผลักดันนโยบายจัดสรรคลื่นความถี่ให้เกิดประสิทธิภาพ มีความโปร่งใสและยุติธรรม ด้วยการออกแบบหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน และเกิดการแข่งขันอย่างแท้จริงในการประมูล เพื่อให้เกิดการนำคลื่นความถี่ไปต่อยอดการใช้งานที่สร้างคุณค่าให้กับสังคม สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ และขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมดิจิทัล ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีการเชื่อมโยงกันอย่างสมบูรณ์ นำไปสู่ความสำเร็จในการขับเคลื่อนประเทศไทยเข้าสู่ยุค 5G and beyond
สำหรับการประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อ ร่างประกาศ กสทช.ฯ นี้ จัดขึ้นเพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 28 แห่งพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 โดยได้เชิญผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และประชาชนทั่วไปเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น และข้อเสนอแนะต่อ (ร่าง) ประกาศ กสทช. ทั้ง 4 ฉบับข้างต้น ซึ่งสามารถนำส่งแบบแสดงความคิดเห็นได้ตั้งแต่วันที่ 20 ม.ค. จนถึง 20 ก.พ. 2568
ทั้งนี้ การจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากลในครั้งนี้ มีทั้งหมด 6 คลื่นความถี่ โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ คลื่นความถี่แบบเป็นคู่ (Paired band) เทคโนโลยี FDD คือ ย่าน 850 MHz รองรับ 3G ย่าน 1800 MHz รองรับ 3G 4G และ ย่าน 2100 MHz รองรับ 3G 4G คลื่นความถี่แบบไม่เป็นคู่ (Unpaired band)เทคโนโลยี SDL และ TDD คือ ย่าน 1500 MHzรองรับ 3G ย่าน 2100 MHz รองรับ 3G 4G ย่าน 2300 MHz รองรับ 3G 4G และสามารถพัฒนาไปสู่ 5G ได้ และคลื่นความถี่ย่านสูง (High band) เทคโนโลยี TDD คือ ย่าน 26 GHz รองรับ 5G
ส่วนการประมูลคลื่นความถี่นี้ จะประมูลด้วยวิธี Clock Auction ซึ่งเป็นวิธีเดียวกับการประมูล Multiband ในปี 2563 โดยได้มีการปรับปรุงเพื่อให้สามารถจัดสรรคลื่นความถี่ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น คาดการณ์ว่า จะสามารถจัดประมูลได้ภายในไตรมาส 2 ในปี 2568 เพื่อให้ประชาชนและภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ได้มีคลื่นความถี่ที่เพียงพอ สำหรับรองรับการใช้งาน และสามารถใช้งานต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตัวแทนจากบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (เอดับบลิวเอ็น) ในเครือบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ได้แสดงความเห็นในเวทีประชาพิจารณ์ว่า ราคาขั้นต่ำของการประมูลครั้งนี้ ควรต้องสอดคล้องกับบริบทเศรษฐกิจไทยที่เพิ่งฟื้นตัวจากโควิด-19 และมีปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งสภาวะตลาดที่เปลี่ยนแปลง โดยต้องนำปัจจัยต่างๆ ในประเทศมาวิเคราะห์ให้ลึกซึ้ง และอยากให้มองไกลๆ ถึงการลงทุนในอุตสาหกรรมต่อเนื่องในอนาคตด้วย
ส่วนตัวแทนบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) มองว่า ในภาวะเศรษฐกิจที่ยังตกต่ำ ไม่แน่ใจว่าการกำหนดเงื่อนไขการชำระเงินที่รุนแรงเช่นนี้จะส่งผลอย่างไรบ้าง อาจจะกระทบเงินลงทุนโครงข่ายลดลง จึงอยากให้มีการเสนอเงื่อนไขการชำระเงินเหมือนการประมูลครั้งก่อนหน้านี้ ซึ่งชำระ 10 งวดๆ ละ 10% เพราะมองว่าไม่มีใครได้ประโยชน์ นอกจากสถาบันการเงิน
ด้านสภาองค์กรผู้บริโภค ให้ความเห็นว่า อยากเห็นการประมูลทั้งก่อนและหลังการประมูลมีการใส่ข้อเสนอที่ผู้ประกอบการจะให้กับผู้บริโภคด้วย ในภาวะที่การแข่งขันในตลาดมีเพียง 2 รายใหญ่ กสทช.ต้องคิดให้มากขึ้น เน้นย้ำในเรื่องที่ผู้บริโภคจะได้รับ เพราะในเงื่อนไขการประมูลไม่ได้พูดเรื่องนี้ไว้
สำหรับราคาเริ่มต้นของคลื่นความถี่แต่ละย่าน กสทช. ได้กำหนดไว้ดังนี้ คลื่น 850 MHz จำนวน 2 ชุด (2×5 MHz) ใบอนุญาตละ 6,609 ล้านบาท, คลื่น 1500 MHz 11 ชุด (5 MHz) ใบอนุญาตละ 904 ล้านบาท, คลื่น 1800 MHz 7 ชุด (2×5 MHz) ใบอนุญาตละ 6,219 ล้านบาท, คลื่น 2100 MHz (FDD) 12 ชุด (2×5 MHz) ใบอนุญาตละ 3,391 ล้านบาท
คลื่น 2100 MHz (TDD) 3 ชุด (5 MHz) ใบอนุญาตละ 497 ล้านบาท, คลื่น 2300 MHz 7 ชุด (10 MHz) ใบอนุญาตละ 1,675 ล้านบาท, คลื่น 26 GHz 1 ชุด (100 MHz) ใบอนุญาตละ 423 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 450 MHz คิดเป็นมูลค่าขั้นต่ำ 121,026 ล้านบาท
พร้อมกันนี้ กสทช. ได้กำหนดเงื่อนไขการชำระเงินค่าประมูลคลื่นความถี่ให้เป็นไปอย่างเหมาะสมกับศักยภาพของผู้ให้บริการ โดยแบ่งการชำระเงินเป็น 3 งวด ได้แก่ คลื่น 850 MHz, 1500 MHz, 2100 MHz และ 2300 MHz งวดที่ 1 ชำระ 50% ของราคาชนะประมูลในปีแรก งวดที่ 2 ชำระ 25% ของราคาชนะประมูลในปีที่ 2 และงวดที่ 3 ชำระ 25% ของราคาชนะประมูลในปีที่ 4 ส่วนคลื่น 26 GHz ต้องชำระ 100% ของราคาชนะประมูลทันที
ในขณะที่การอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ทั้งหมดจะมีอายุ 15 ปี นับจากวันที่ได้รับอนุญาต ยกเว้นคลื่น 2100 MHz ซึ่งใบอนุญาตจะมีอายุ 13 ปี เนื่องจากใบอนุญาตเดิมสิ้นสุดในปี 2570