นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการ กนง. มีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ต่อปี และมี 1 เสียงให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% เป็น 1.75% ต่อปี โดยคณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องตามแรงส่งจากภาคอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีทิศทางเพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ตามแรงกดดันด้านเงินเฟ้ออุสงค์ที่ปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป คณะกรรมการฯ จะติดตามการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่อาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นได้ช้ากว่าอดีต แม้ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้เต็มศักยภาพก็ตาม

ส่วนภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เสถียรภาพระบบการเงินโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี สภาพคล่องในระบบการเงินอยู่ในระดับสูง ขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงยังอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ภาคเอกชนยังระดมทุนได้ต่อเนื่อง โดยสินเชื่อขยายตัวต่อเนื่องทั้งสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่ออุปโภคบริโภค ส่วนค่าเงินบาทยังเคลื่อนไหวผันผวนจากทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลัก และความกังวลที่เพิ่มขึ้นจากนโยบายกีดกันทางการค้า

“ที่ประชุม กนง. มีการหารือกัน ติดต่อกันเป็น 2 ครั้ง ว่าในระยะต่อไปความจำเป็นในการใช้นโยบายการเงินระดับผ่อนคลายจะลดน้อยลงเรื่อยๆ ซึ่งขณะนี้กำลังซื้อทยอยปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับช่วง 9 เดือนก่อน ที่มีปัญหาการส่งผ่านการขยายตัวเศรษฐกิจ ทั้งการส่งออกและการลงทุน ที่ยังกระจายไปไม่ถึงการใช้จ่ายภาคครัวเรือน แต่ขณะนี้ กลุ่มผู้มีรายได้ระดับกลาง-สูงใช้จ่ายดีขึ้น ส่วนระดับล่างแม้จะยังไม่ดีเท่า แต่ก็เริ่มเห็นการบริโภคสินค้าไม่คงทนปรับตัวดีขึ้น”นายจาตุรงค์ กล่าว

นายจาตุรงค์ กล่าวว่า กนง. ยังต้องติดตามความเสี่ยงที่อาจสะสมความเปราะบางในระบบการเงินได้ในอนาคต โดยเฉพาะจากภาวะการเงินที่ผ่อนคลายเป็นเวลานาน โดยคณะกรรมการฯ เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในระดับปัจจุบันมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและสอดคล้องกับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ

นายจาตุรงค์ กล่าวอีกว่า เศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง มีแรงขับเคลื่อนจากการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวตามเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัว รวมถึงอุปสงค์ในประเทศที่มีแรงส่งเพิ่มขึ้น โดยการส่งออกสินค้ามีแนวโน้มขยายตัวดีกว่าที่ประเมินไว้ เป็นผลดีจากการย้ายฐานการผลิตของบางอุตสาหกรรมมาที่ไทย การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่องตามการจ้างงานที่ดีขึ้น ขณะที่หนี้ภาคครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูงจึงทำให้กำลังซื้อฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง จากแรงหนุนของโครงการลงทุนภาครัฐที่ชัดเจนมากขึ้น ส่วนการใช้จ่ายภาคครัวเรือนยังเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่มีความเสี่ยงจากการเบิกจ่ายที่อาจล่าช้า ขณะที่การท่องเที่ยวมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ หลังเหตุการณ์เรือท่องเที่ยวล่มที่ภูเก็ต โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน แต่ก็เชื่อว่านักท่องเที่ยวที่ลดลง จะไม่กระทบต่อการขยายตัวเศรษฐกิจ เพราะการส่งออกมีทิศทางที่ดีขึ้นกว่าที่คาดไว้เดิม

“เศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะนโยบายการค้าของสหรัฐฯ และมาตรการตอบโต้จากประเทศคู่ค้าของสหรัฐ แนวโน้มการขยายตัวของการท่องเที่ยวที่อาจต่ำกว่าคาด รวมถึงความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์” นายจาตุรงค์ กล่าว

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ติดตามภาวะการแข่งขันในตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและภาวะอุปทานคงค้างของอาคารชุดในบางพื้นที่อย่างใกล้ชิด รวมถึงพฤติกรรมการก่อหนี้ของภาคครัวเรือน เนื่องจากสถานะหนี้ครัวเรือนยังไม่ปรับตัวดีขึ้น และติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจเอสเอ็มอี โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงปัจจัยเชิงโครงสร้างและรูปแบบการทำธุรกิจ

นายจาตุรงค์ กล่าวว่า ปัญหาน้ำท่วมในขณะนี้ ยังจำกัดอยู่ในบางพื้นที่ ยังไม่กระทบกับพืชผลการเกษตร เพราะเป็นช่วงต้นฤดู โดยเฉพาะข้าวนาปี ซึ่งจะไม่มีผลกระทบถ้าปัญหาไม่ลากยาวไปนาน ขณะเดียวกัน ผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อในขณะนี้ก็ยังมีไม่มาก โดยคาดการณ์ว่าในช่วงก.ย.-ต.ค. ปริมาณฝนก็จะเริ่มเบาบางลง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน