นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารยังคงประมาณการค่าเงินบาท ณ สิ้นปี 2564 ไว้ที่ระดับ 32.75 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แม้ปัจจุบันเงินบาทจะอ่อนค่าไปที่ 33.30 บาทไปแล้วก็ตาม ซึ่งเป็นการอ่อนค่ามากถึง 10.3% ตั้งแต่ต้นปี เป็นผลจากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด อันเนื่องจากรายได้ภาคการท่องเที่ยวที่หายไปมาก ประกอบกับสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ของไทยคิดเป็น 0.65% โดยเร่งตัวขึ้นจากสิ้นปี 2563 ซึ่งอยู่ที่ลำดับ 167 ปัจจุบันอยู่ที่ลำดับ 29 สะท้อนว่ายิ่งผู้ติดเชื้อมากขึ้น เศรษฐกิจก็ต้องเผชิญกับปัญหามากขึ้นด้วยเช่นกัน อีกทั้งการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอาจต้องผ่อนผันออกไปอีก

นอกจากนี้ การขยายเพดานหนี้สาธารณะเป็น 70% ทำให้ต่างชาติลดการถือครองตราสารหนี้ โดยจะเห็นว่าต่างชาติเริ่มซื้อตราสารหนี้ลดลงไปมาก จากเดิมที่ซื้อ 8.7 หมื่นล้านบาท/เดือน ซึ่งยิ่งทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงอีก และยังต้องติดตามนโยบายการเงินของประเทศขนาดใหญ่ในโลกช่วงนี้ว่าจะมีการดำเนินนโยบายการเงินอย่างไรต่อไป หลังจากทิศทางเงินเฟ้อเร่งตัวสูงขึ้นมาก ซึ่งอาจมีผลกดดันต่อค่าเงินบาทได้ในระยะสั้น

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทย ปี 2564 ยังคงประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ที่ติดลบ -0.5% ทั้งนี้ ยังคงต้องติดตามในเรื่องของกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศ หลังจากที่มีการผ่อนคลายมาตรการในช่วงต้นเดือนก.ย.ที่ผ่านมา และรอดูว่าภาครัฐจะมีการผ่อนคลายมาตรการเพิ่มเติมในช่วงเดือนต.ค.ที่จะถึงนี้อย่างไร หลังจากที่จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศปัจจุบันเริ่มลดลงมาต่อเนื่อง แต่ก็ยังอยู่ในระดับสูง อีกทั้งต้องติดตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ด้วย

ส่วนปัจจัยหนุนของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ยังคงมาจากภาคการส่งออกที่มีการเติบโตขึ้นและเป็นปัจจัยหนุนเศรษฐกิจไทยอย่างมีนัยสำคัญ จากการที่เศรษฐกิจโลกกลับมาฟื้นตัวได้ดี โดยเฉพาะกลุ่มประเทศขนาดใหญ่ในยุโรป และสหรัฐ ที่กลับมาเปิดเมือง และไม่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 มากเท่ากับประเทศในเอเชีย ส่วนภาคการท่องเที่ยวไทยในปีนี้ ยังคงเป็นปีที่ได้รับผลกระทบต่อ โดยคาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาเพียง 200,000 คนในปีนี้ จากการเปิดภูเก็ตแซนด์บ๊อกซ์ ซึ่งมองว่าภาคการท่องเที่ยวอาจจะยังต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวอีกสักพักใหญ่กว่าที่จำนวนนักท่องเที่ยวจะกลับมาใกล้เคียงกับระดับเดียวก่อนโควิด-19

นายกอบสิทธิ์ ยังกล่าวถึงปัญหาสภาพคล่องของไชน่า เอเวอร์แกรนด์ บริษัทอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่อันดับ 2 ของจีน ซึ่งหลายฝ่ายกังวลว่าประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยเลห์แมนบราเธอร์ส ช่วงที่เกิดวิกฤตซัพไพร์ม ซึ่งปัญหาก่อตัวจากภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เช่นกันเมื่อ 13 ปีที่แล้ว อย่างไรก็ดี มองว่ากรณี เอวอร์แกรนด์ คงต้องจับตาว่าทางการจีนจะมีการเข้ามาจัดการปัญหาได้เร็วแค่ไหน ซึ่งถ้าเปรียบเทียบปัญหาคล้ายไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นที่จีนเมื่อ 2 ปีที่แล้ว แต่ครั้งนี้เป็นไวรัสทางการเงิน ก็อาจติดเชื้อในวงกว้างได้ เนื่องจากตลาดอสังหาริมทรัพย์ของจีน มีสัดส่วนทางเศรษฐกิจประมาณ 29% ของจีดีพีจีน ขณะที่เอเวอร์เอเวอร์แกรนด์ มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของจีน และมีเจ้าหนี้การเงินประมาณ 128 ราย ยังไม่นับรวมเจ้าหนี้การค้า ดังนั้นเป็นไปได้ว่าทางการจีนจะใช้ความพยามในการจัดการอย่างรวดเร็ว เพื่อลดผลกระทบด้านความเสียหายไม่ให้กระจายในวงกว้าง

“เลย์แมน เกิดขึ้นในระบบทุนนิยมประชาธิปไตย ดังนั้นการแก้ปัญหาต้องใช้เวลานาน ขณะที่เอเวอร์แกรนด์ เกิดขึ้นในระบบคอมมิวนิสต์กึ่งกระบบทุนนิยม ซึ่งเชื่อว่าการแก้ปัญหาจะทำได้รวดเร็วกว่า แต่ทั้งนี้หากการรับมือกับปัญหาเอเวอร์แกรนด์ของทางการจีนล่าช้า ก็น่ากังวล เนื่องจากจีนถือเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 2 ของโลก ซึ่งมีอิทธิพลต่อสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลก รวมถึงไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม หากรับมือกับปัญหาล่าข้า จะส่งผลต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะสินค้าเกษตร ลดลงรุนแรง รวมถึงส่งผลกระทบด้านตลาดเงินตลาดทุน ทำให้นักลงทุนมีการปรับพอร์ตการลงทุนอย่างไร้ระเบียบซ้ำรอยเหตุการณ์เลย์แมน อย่างไรก็ดีคงต้องจับตาดดูในอีก 2-3 วันข้างหน้า ซึ่งตลาดฮ่องกงและจีนกลับมาเปิดทำการ หลังปิดเทศกาลไหว้พระจันทร์”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน