นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานประชุมสามัญประจำปี 2564 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) หัวข้อ “มาตรการช่วยเหลือและการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยยุคโควิด” ว่า ธนาคารพาณิชย์มีบทบาทสาคัญในการให้สินเชื่อแก่ภาคธุรกิจ และไทยก็เป็นประเทศที่พึ่งพาระบบธนาคารพาณิชย์ค่อนข้างสูง เห็นได้จากตัวเลขสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ อยู่ที่ 14 ล้านล้านบาท เทียบกับสินเชื่อที่มาจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจหรือ SFIs ที่ 5 ล้านล้านบาท คิดเป็นเพียงประมาณ 1 ใน 3 ของระบบธนาคารพาณิชย์

อย่างไรก็ตาม ภาวะที่มีความเสี่ยงสูงและเศรษฐกิจที่หดตัวนี้ โอกาสที่ธนาคารพาณชิย์จะหุบร่ม หรือไม่ปล่อยสินเชื่อจึงมีสูง ดังนั้นเพื่อไม่ให้ปัญหาลุกลามและแรงไปกว่าเดิม หน้าที่สำคัญของ ธปท. คือทำให้ ระบบธนาคารพาณิชย์ทำงานได้ต่อเนื่อง ใกล้เคียงกับภาวะปกติ

ซึ่งที่ผ่านมาระบบธนาคารพาณิชย์ทำงานได้ดีระดับหนึ่ง เห็นได้จาก 1. สินเชื่อในเดือนก.ค. 2564 โต 4% ใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด-19 คิดเป็นเม็ดเงินกว่า 5 แสนล้านบาท 2. สินเชื่อยังโตได้ดีแม้ในภาวะวิกฤต เทียบกับการขยายตัวเศรษฐกิจปีนี้ ที่อาจจะไม่ถึง 1% และ 3. สินเชื่อของไทยยังโตได้มากกว่าประเทศในภูมิภาค แม้ไทยถูกกระทบจากโควิดหนักที่สุดและฟื้นช้ากว่าประเทศอื่น สะท้อนว่า ระบบธนาคารพาณิชย์ยังไมหุบร่ม ซึ่งถือว่าประสบผลสำเร็จระดับหนึ่ง

นอกจากเรื่องสินเชื่อใหม่ ยังมีเรื่องการดูแลภาระหนี้เดิม ซึ่งธนาคารพาณิชย์ได้ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ภายใต้มาตรการต่างๆ ของธปท. มาต่อเนื่อง โดยลูกหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือภายใต้ มาตรการเพิ่มขึ้นไปสูงสุด ณ ก.ค. 2563 กว่า 6 ล้านบัญชี เป็นยอดหนี้กว่า 4 ล้านล้านบาท ซึ่งถ้าเทียบกับสินเชื่อทั้งหมดในระบบธนาคารพาณิชย์ที่ 14 ล้านล้านบาท ถือว่าเป็นสัดส่วนไม่น้อย

“แต่หากเทียบกับปัญหาที่รุนแรงและสะสมมานานจากวิกฤตครั้งนี้ การปล่อยสินเชื่อและช่วยเหลือลูกหนี้ โดยกลไกปกติของธนาคารพาณิชย์ แม้จะทำมาได้ดี แต่ก็ยังไม่เพียงพอและไม่ทั่วถึงเท่าที่ควร ที่ผ่านมา เราจึงไม่ได้พึ่งพากลไกตลาดเพียงอย่างเดียว แต่มีบทบาทของภาครัฐเข้าไปเสริม หรือ ไปอุดในบางจุดที่ระบบธนาคารพาณิชย์ไม่สามารถทำหน้าที่ได้เต็มที่”

นอกจากนี้ จุดที่ระบบธนาคารพาณิชย์ยังทำหน้าที่ได้ไม่ดีเท่าที่ควร คือ การช่วยเหลือ SMEs ซึ่ง สำหรับสินเชื่อใหม่ ถูกเสริมด้วยการออกมาตรการเฉพาะ เช่น พ.ร.ก. สินเชื่อฟื้นฟูฯ เพื่อให้ระบบ ธนาคารพาณิชย์ให้ความช่วยเหลือ SMEs ได้มากขึ้น โดยล่าสุดในเดือนก.ค. สินเชื่อ SMEs ขยายตัวเพิ่มขึ้น 1% ซึ่งหากไม่มีผลของมาตรการดังกล่าว สินเชื่อ SMEs จะยังติดลบที่ 1%

อย่างไรก็ตาม ธปท. ยอมรับว่ามาตรการต่างๆ ที่ออกมา คงไม่สามารถช่วยได้ทั้งหมด ด้วยวิกฤตที่หนัก กว้าง และ รุนแรง ต้องจัดสรรทรัพยากรของประเทศที่มีจำกัดไปช่วยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนัก แต่มีโอกาสที่จะพลิกฟื้น และกลับมาดำเนินธุรกิจต่อไปได้ หากจัดสรรทรัพยากรไปใช้อย่างไม่ถูกจุดผู้เดือดร้อนหนักอาจไม่ได้รับความช่วยเหลือเพียงพอ และอาจส่งผลให้กลไกของระบบธนาคารพาณิชย์ไม่สามารถดำเนินการได้ตามปกติ จะเห็นการหุบร่มแทนจะที่เห็นการปล่อยสินเชื่อเพิ่ม

ดังนั้น การดูแลช่วยเหลือลูกหนี้จึงจำเป็นต้องรักษาสมดุลระหว่างการบรรเทาผลกระทบต่อลูกหนี้ กับการดูแลเสถียรภาพและการทางานของระบบการเงินให้ดำเนินต่อไปได้ มิเช่นนั้น ผลกระทบจะกว้าง ยาว และหนักกว่าที่เราประสบในปัจจุบัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน