บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด สรุปภาวะตลาดเงินตลาดทุนรายสัปดาห์ (2-5 ม.ค. 2567) สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท เงินบาทพลิกกลับมาแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 1 สัปดาห์ที่ 34.74 บาทต่อดอลลาร์ เงินบาทอ่อนค่าลงสอดคล้องกับสกุลเงินส่วนใหญ่ในเอเชีย ขณะที่เงินดอลลาร์ กลับมาทยอยฟื้นตัวขึ้น จากที่เผชิญแรงเทขายมากในสัปดาห์ทำการสุดท้ายของปี 2566 ประกอบกับมีปัจจัยบวกเพิ่มเติมจากการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์สหรัฐ หลังข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ ออกมาดีกว่าตัวเลขคาดการณ์ของตลาด อาทิ ตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนเดือนธ.ค. และตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์

นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ ยังได้รับแรงหนุน หลังบันทึกการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 12-13 ธ.ค. 2566 และถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเฟด สะท้อนว่า สัญญาณการปรับลดดอกเบี้ยไม่น่าจะเกิดขึ้นเร็ว และอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐ จะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไปอีกระยะหนึ่งเพื่อให้เฟดมั่นใจว่า อัตราเงินเฟ้อสหรัฐ จะชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องกลับมาสู่ระดับเป้าหมาย

ในวันศุกร์ที่ 5 ม.ค. 2567 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 34.72 บาทต่อดอลลาร์ เทียบกับ 34.14 บาทต่อดอลลาร์ ในวันพฤหัสบดีก่อนหน้า (28 ธ.ค. 2566)

สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 2-5 ม.ค. 2567 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 2,088 ล้านบาท แต่มีสถานะเป็น Net Inflows เข้าตลาดพันธบัตรไทย 12,537 ล้านบาท (ซื้อสุทธิพันธบัตร 13,038 ล้านบาท หักตราสารหนี้หมดอายุ 501 ล้านบาท)

สัปดาห์ถัดไป (8-12 ม.ค. 2567) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 34.20-34.90 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สัญญาณเงินทุนต่างชาติ และถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขการคาดการณ์เงินเฟ้อของผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนธ.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามข้อมูลยอดปล่อยกู้สกุลเงินหยวน ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนธ.ค. ของจีน และผลการประชุมธนาคารกลางเกาหลีใต้ด้วยเช่นกัน

สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย ดัชนีหุ้นไทยยังยืนเหนือ 1,400 จุดได้ในสัปดาห์แรกของปี 2567 ทั้งนี้ หุ้นไทยดีดตัวขึ้นแรงในวันทำการแรกของปีขานรับปัจจัยบวกจากมาตรการฟรีวีซ่าไทย-จีนเป็นการถาวร ซึ่งกระตุ้นแรงซื้อหุ้นที่ได้รับประโยชน์จากการท่องเที่ยว โดยเฉพาะหุ้นผู้ประกอบธุรกิจท่าอากาศยาน

อย่างไรก็ดี ดัชนีหุ้นไทยเคลื่อนไหวผันผวนในช่วงที่เหลือของสัปดาห์สอดคล้องกับทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศ หลังตอบรับปัจจัยบวกไปพอสมควร ประกอบกับบันทึกการประชุมเฟดไม่ได้ส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่า จะเริ่มปรับลดดอกเบี้ยเมื่อใด อนึ่ง หุ้นกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวลง โดยได้รับผลกระทบจากการปรับลดน้ำหนักการลงทุนของหุ้นเทคโนโลยีรายใหญ่แห่งหนึ่งของสหรัฐ

ในวันศุกร์ที่ 5 ม.ค. 2567 ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,427.96 จุด เพิ่มขึ้น 0.86% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 46,832.14 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31.09% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 1.92% มาปิดที่ระดับ 419.50 จุด

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (8-12 ม.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,415 และ 1,400 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,440 และ 1,455 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ และการทยอยประกาศผลประกอบการงวดไตรมาส 4/66 ของบจ. ไทย

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ ที่สำคัญ ได้แก่ ข้อมูลการนำเข้าและส่งออกเดือนพ.ย. 2566 ดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนธ.ค. 2566 รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ยอดค้าปลีก เดือนพ.ย. 2566 ของยูโรโซน ตลอดจนดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนธ.ค. 2566 ของจีน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน