บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในปี 2567 บริษัทสามารถทำกำไรสุทธิสูงสุดใหม่ที่ 4,230.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.6% (YoY) จากปีก่อนหน้า เนื่องมาจากการเติบโตของรายได้จากการขยายตัวของทั้งธุรกิจสินเชื่อ การเพิ่มขึ้นของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ รวมถึงการเติบโตที่แข็งแกร่งของธุรกิจนายหน้าประกัน โดยในปี 2567 บริษัทมีรายได้รวม 22,160.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.8% (YoY) ซึ่งรายได้หลักมาจากรายได้ดอกเบี้ยรับ และรายได้จากค่าธรรมเนียมและบริการ สำหรับผลการดำเนินธุรกิจสินเชื่อ ณ สิ้นปี 2567 บริษัทมีพอร์ตสินเชื่อคงค้าง อยู่ที่ 103,933.7 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 6.6% (YoY) และควบคุมคุณภาพสินเชื่อได้ดี NPL ปรับลดลงมาอยู่ที่ 1.81% นอกจากนี้บริษัทยังมีเบี้ยประกันวินาศภัยรวมมูลค่า 10,176.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.4% (YoY) ซึ่งเป็นผลมาจากการผสมผสานการดำเนินธุรกิจนายหน้าประกันอย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุมความต้องการของกลุ่มลูกค้าที่หลากหลาย
สำหรับผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 4 ปี 2567 บริษัทมีกำไรสุทธิ 1,044.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.9% (YoY) และเพิ่มขึ้น 5.4% (QoQ) โดยการเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3 ปี 2567 ส่วนใหญ่มาจากการลดลงของผลขาดทุนด้านเครดิต ที่ปรับลดลง 30.2% (QoQ) รวมถึงรายได้รวมที่เติบโตขึ้นจากการกลับมาขยายตัวของพอร์ตสินเชื่อ หลังจากที่ชะลอตัวในไตรมาสก่อนหน้า และเบี้ยประกันวินาศภัยที่เติบโตในระดับสูงที่ 23.8% (QoQ)
สำหรับภาพรวมการดำเนินธุรกิจในปี 2567 ที่ผ่านมา บริษัทมีจำนวนสาขาทั้งสิ้น 1,778 แห่ง และยังคงให้ความสำคัญกับการใช้จุดแข็งด้านเทคโนโลยีที่สร้างและพัฒนามามากกว่า 10 ปี ทั้งด้านสินเชื่อ โดยมี “บัตรติดล้อ” ข้อมูล ณ เดือน ธ.ค. 2567 ได้ส่งมอบบัตรติดล้อให้กับลูกค้าแล้วมากกว่า 735,000 ใบ เพิ่มขึ้น 14% (YoY) และยังมีบริการ “โอนเงินสินเชื่อเข้าบัญชีผ่านแอปพลิเคชันเงินติดล้อ” ซึ่งที่ผ่านมาลูกค้ามีการเบิกวงเงินสินเชื่อผ่านบริการดังกล่าวสูงถึง 70% เมื่อเทียบกับช่องอื่นๆ ขณะที่การดำเนินธุรกิจนายหน้าประกัน ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง
นายปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ กล่าวว่า การดำเนินธุรกิจในปี 2567 ที่ผ่านมา แม้ภาพรวมเศรษฐกิจจะอยู่ในช่วงฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่บริษัทยังคงมีศักยภาพสามารถสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจได้อย่างแข็งแกร่งและต่อเนื่อง
โดยธุรกิจนายหน้าประกันมีเบี้ยประกันวินาศภัยรวมมูลค่ามากกว่า 10,000 ล้านบาท และธุรกิจสินเชื่อมีพอร์ตสินเชื่อคงค้างมากกว่า 100,000 ล้านบาท ขณะที่คุณภาพพอร์ตสินเชื่อรวมของบริษัทอยู่ในระดับที่ดีและควบคุมได้ โดยอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อรวม (NPL Ratio) ณ สิ้นปี 2567 อยู่ที่ 1.81% ปรับตัวลดลงจาก ณ ไตรมาส 3 ปี 2567 และยังคงอยู่ภายในกรอบเป้าหมายที่กำหนดไว้ไม่เกิน 2.0% ซึ่งเป็นผลมาจากคุณภาพของสินเชื่อที่ปล่อยใหม่มีแนวโน้มที่ดีขึ้นกว่าปี 2566 ขณะที่ยังคงอัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (%NPL Coverage) ในระดับแข็งแกร่งที่ 242.7%
ทั้งนี้ ด้วยความสามารถในการทำกำไรที่เพิ่มขึ้นในปีที่ผ่านมา ควบคู่กับประสิทธิภาพในการบริหารโครงสร้างเงินทุน ส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ 2.5 เท่า ขณะที่บริษัทมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง มีวงเงินกู้ยืมคงเหลืออีกมากกว่า 26,000 ล้านบาท และมีความสามารถในการชำระคืนเงินกู้ได้เป็นอย่างดี
นายปิยะศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการดำเนินธุรกิจในปี 2568 บริษัทยังคงขับเคลื่อนโดยคณะผู้บริหารมืออาชีพ ที่มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ โดยยังคงให้ความสำคัญกับการเฝ้าติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจ ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศอย่างใกล้ชิด และดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวัง พร้อมปรับกลยุทธ์และแผนต่างๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อให้สามารถสร้างการเติบโตให้กับภาพรวมการดำเนินธุรกิจได้อย่างแข็งแกร่งและต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการดำเนินงานภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานภาครัฐ ตามหลักธรรมาภิบาล
โดยจะเห็นได้จากปีที่ผ่านมาบริษัทช่วยสร้างเครดิตทางการเงินให้ลูกค้ามากกว่า 362,000 ราย ส่งเสริมให้คนไทยสามารถเข้าถึงความคุ้มครองด้านประกันภัยได้มากกว่า 999,000 ราย และยังสานต่อโครงการเพื่อส่งเสริมความรู้ทางการเงินให้แก่ผู้คนในชุมชน หน่วยงานภายนอก และนักศึกษา อย่างต่อเนื่อง โดยมีผู้เข้ารับการอบรมรวมมากกว่า 780 คน นอกจากนี้ ยังตระหนักถึงความสำคัญด้านการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจและบริการ การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และการรับผิดชอบต่อชุมชนและสังคม อย่างต่อเนื่องอีกด้วย