“We Watch” แถลงผลจับตากาบัตร ชี้ เลือกตั้งสงบ แต่ไม่โปร่งใส เปิดหลักฐานเด็ด เจ้าหน้าที่ไม่เจาะบัตรเลือกตั้งทั้งใช้แล้ว-ไม่ใช้ จี้ กกต. 5 ข้อ ยันเกาะติดแจกใบเหลือง-แดงต่อ

เลือกตั้ง – วันที่ 30 มี.ค. ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น เครือข่าย We Watch (วี วอทช์) จัดแถลงรายงานเบื้องต้นการสังเกตการณ์เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) วันที่ 24 มี.ค. โดยมีนายเอกพันธุ์ ปิณฑวณิช ผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล นายสาเล็ม มะดูวา นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ ผู้ประสานงานภาคกลาง เครือข่าย We Watch, นายโอมาร์ หนุนอนันต์ โฆษก We Watch และนายพีรวิชญ์ ขันติสุข ฝ่ายวิเคราะห์ของ We Watch ร่วมแถลงข่าว

นายเอกพันธุ์ กล่าวว่า การรายงานผลการสังเกตการณ์การเลือกตั้ง ไม่ใช่การจับผิดคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หรือพรรคการเมืองใด แต่ตั้งใจทำให้การเลือกตั้งเกิดความบริสุทธิ์ยุติธรรม เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย เราไม่ได้คาดหวังว่ากกต.จะไม่ทำอะไรที่ผิดพลาดเลย เพราะความผิดพลาดเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ แต่หากกกต.ขาดความน่าเชื่อถือ ความผิดพลาดเหล่านั้นก็จะส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงานของกกต. ดังนั้นการรายงานผลจึงเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะทำให้เกิดความกระจ่างมากขึ้น หากกกต. สามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้ ก็จะทำให้สังคมเกิดความยอมรับ สร้างศรัทธากลับคืนมาให้กกต.เอง

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่เพิ่มเพื่อน

นายโอมาร์ กล่าวว่า อาสาสมัครของวีวอทช์ผ่านการฝึกฝนโดยผู้เชี่ยวชาญจากเครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรี (อันเฟรล) ในวันนี้เป็นเพียงรายงานบางส่วน วีวอทช์จะสังเกตการณ์กระบวนการหลังการเลือกตั้ง เช่น การตัดสิทธิผู้สมัคร การให้ใบเหลืองใบแดงด้วย พร้อมยืนยันที่จะยืนอยู่ข้างข้อเท็จจริงและหลักการ

“การเลือกตั้งทั่วโลก ไม่มีครั้งไหนสมบูรณ์แบบ สำหรับเลือกตั้ง 2562 เราพบทั้งสิ่งที่กกต.ทำได้ค่อนข้างดี และสิ่งที่กกต.ทำผิดพลาดหลายประการ และข้อผิดพลาดเหล่านั้นอาจทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ประสบความสำเร็จ ไม่สร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ประชาชน” นายโอมาร์กล่าว

ด้านนายพีรวิชญ์ กล่าวว่า วีวอทช์สังเกตการณ์การเลือกตั้งใน 3 ช่วง คือ 1. ก่อนการเลือกตั้ง 2.ในวันเลือกตั้ง และ 3.หลังวันเลือกตั้ง โดยมองว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ “เป็นการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560 ดำเนินไปด้วยความสงบ แต่ไม่โปร่งใส การขาดประสิทธิภาพในการจัดการเลือกตั้ง และความยุติธรรม เป็นคำถามสำคัญในการเลือกตั้งครั้งนี้”

สำหรับการบริหารจัดการเลือกตั้ง เรื่องที่น่าสนใจสำหรับต่างชาติ มี 2 ปัจจัยสำคัญ คือ 1.กกต. และ 2.กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง สำหรับกกต.นั้น สิ่งสำคัญที่ต้องพูดถึง คือ ที่มา เนื่องจากก่อนจัดการเลือกตั้งครั้งนี้ เราอยู่ในระบอบทหาร กกต.ทั้ง 7 คนมาจากการเสนอชื่อของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งมีที่มาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อีกที

นายพีรวิชญ์ กล่าวว่าทำให้ต้องตั้งคำถามว่า การมีที่มาแบบนี้จะมีอิสระในการดำเนินงานจริงหรือไม่ เพราะเมื่อถึงจุดหนึ่ง ก็มีสมาชิกคนหนึ่งจากคสช.ลงมาเล่นในสนามเลือกตั้งที่กรรมการและผู้ตัดสินคือคนที่เขาเลือกเข้าไปเอง นอกจากนี้ กรรมการประจำหน่วยรวมถึงเจ้าหน้าที่ประจำหน่วย แม้แต่ในเขตเดียวกันก็พบว่ามีการปฏิบัติไม่เหมือนกัน ส่วนการเปลี่ยนแปลงเขตเลือกตั้ง เราพบว่าไม่สามารถสรุปได้ว่าการปรับเขตนั้นส่งผลเพื่อพรรคใดพรรคหนึ่งอย่างชัดเจนหรือไม่ เพราะแม้เขตเลือกตั้งมีการขยับจริง แต่ผลการเลือกตั้งไม่ได้ขยับไปด้วย อย่างไรก็ตามกลุ่มสังเกตการณ์เลือกตั้งครั้งนี้ มีเพียง 3 กลุ่ม คือ มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (พีเน็ต), We Watch และ อันเฟรล

ทั้งที่จริงแล้ว หากต้องการแสดงว่าการเลือกตั้งของเราบริสุทธิ์ยุติธรรม ก็จะต้องให้มีการสังเกตการณ์จากกลุ่มในประเทศ และเชิญชวนนานาชาติให้เยอะที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ส่วนในด้านความมั่นคง ช่วงก่อนการเลือกตั้ง มีข่าวว่าทหารเข้าหาหัวคะแนนของพรรคการเมือง รวมถึงมีการติดตามผู้สมัครในการหาเสียงในต่างจังหวัดด้วย

สำหรับในวันเลือกตั้งล่วงหน้า เราดูทั้งหมด 60 หน่วยเลือกตั้งในกรุงเทพฯ พบว่าหลายหน่วยเลือกตั้งมีผู้มาใช้สิทธิจำนวนมาก บางคนใช้เวลาเลือกตั้ง 79 นาที ซึ่งถือว่าค่อนข้างนานสำหรับการเลือกตั้ง นอกจากนั้นกรณีผู้สมัครพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ที่ยังมีชื่อปรากฏให้เห็น โดยไม่มีการแจ้งว่าผู้สมัครจากพรรคนี้ถูกยุบไปแล้ว ทำให้เกิดผลเสียในเวลาต่อมา จึงเห็นได้ว่าการจัดการในแต่ละเขตมีความมึนงงและแตกต่างกัน ส่วนปัญหาที่พบในวันเลือกตั้งจริง เราแบ่งเป็น 3 ประเด็น คือ 1.ก่อนเปิดหีบเลือกตั้ง 2.ในระหว่างการหย่อนบัตร และ 3.ช่วงปิดหน่วยและการนับคะแนน อาสาสมัครของเราลงพื้นที่ทั้งประเทศ พบว่า 98.6 เปอร์เซ็นต์ ของหน่วยเลือกตั้ง ไม่มีความรุนแรง เป็นไปโดยสงบ และไม่มีการชักจูงใจทางการเมืองหน้าหน่วยเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตาม จาก 1,918 หน่วยที่สังเกตการณ์ พบ 3 ประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยในหน่วยเลือกตั้ง ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่รปภ.เข้ามาข้างคูหาที่กำลังมีผู้ใช้สิทธิ ปฏิบัติงานแทนกรรมการประจำหน่วย และพกพาอาวุธ ซึ่งทั้ง 3 เรื่องนี้ไม่น่าจะผิดกฎหมายไทย แต่ขัดกับหลักสากล โดยคู่มือของกกต.บอกว่า เจ้าหน้าที่ด้านความปลอดภัยจะต้องสนับสนุนโดยตรงหรือโดยอ้อมแก่กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง นั่นหมายความว่า เขาสามารถไปทำหน้าที่ตรงนี้แทนได้ แต่ในหลักสากลแล้ว การที่คุณมีอาวุธ แล้วไปแตะต้องอุปกรณ์เกี่ยวกับการเลือกตั้ง เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ ดังนั้นกกต. จำเป็นต้องทบทวนกฎหมายในเรื่องนี้

นายพีรวิชญ์กล่าวว่า ต่อมาคือส่วนการนับ การประมวลผล และการประกาศคะแนน พบว่า 98.8 เปอร์เซ็นต์ สามารถปิดหน่วยได้ตรงเวลา แต่สิ่งที่เป็นเรื่องใหญ่ คือ 19.1 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีการเจาะบัตรที่ไม่ได้ใช้ออกเสียง ทั้งที่ประเด็นนี้อยู่ในคู่มือของกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง ซึ่งต้องทำเป็นสิ่งแรกก่อนปิดหน่วย เมื่อเจาะเสร็จก็ต้องเอาเชือกร้อย และมัดรวมอยู่ด้วยกัน เพื่อไม่ให้บัตรนั้นถูกนำไปใช้อีก นอกจากนี้ ยังมีคำถามว่า บัตรที่นับว่าเป็นบัตรดีหรือบัตรเสียแล้ว จะต้องเจาะด้วยหรือไม่ ถ้าเจาะ จะเจาะด้วยอะไร ซึ่งกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งแบ่งออกเป็น 3 อย่าง คือ 1.เจาะด้วยเหล็กแหลม ที่กกต.ให้มา 2. เจาะด้วยตุ๊ดตู่ และ 3.คือไม่ทำอะไรเลย

แต่ถ้าไปดูในคู่มือของกรรมการประจำหน่วย ปรากฏว่าบอกอย่างละเอียด ว่าไม่ว่าจะเป็นบัตรดีหรือบัตรเสีย ที่นับแล้วจะต้องถูกเจาะ เพราะฉะนั้น หน่วยเลือกตั้งที่เราเห็นว่าไม่มีการเจาะ เท่ากับทำผิดระเบียบ ส่วนเรื่องการแสดงคะแนนผิดพลาดของกกต. อย่างแรกคือ ผู้มาใช้สิทธิ์ มีจำนวนมากกว่าผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง โดยกกต. ตอบว่าเป็นความขัดข้องทางเทคนิคของระบบรายงานผล ซึ่งเรามองว่าเป็นคำตอบที่อันตรายมาก เพราะขัดกับหลักสากล เป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น นอกจากนั้นในวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา คะแนนที่ประกาศอย่างไม่เป็นทางการ 100 เปอร์เซ็นต์ พบว่า บัตรที่ถูกใช้กับผู้มาใช้สิทธิไม่ตรงกัน และจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ในวันที่ 24 มี.ค. มีอยู่จำนวนหนึ่ง แต่วันที่ 28 กลับเป็นอีกจำนวนหนึ่ง

นายพีรวิชญ์กล่าวว่า กรณีที่น่าสนใจ มี 3 ประเด็น คือ 1. เรื่องการใช้โปรแกรมอิเล็กทรอนิกส์ในการดำเนินการเลือกตั้ง แม้จะทำให้การเลือกตั้งดำเนินไปได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ในอีกทางหนึ่ง ก็ต้องเผื่อใจไว้ว่า จะมีความเสี่ยงในการเกิดปัญหา ดังนั้นตามธรรมเนียมในต่างประเทศ การจะนำโปรแกรมอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ จำเป็นจะต้องตรวจสอบให้ดีเสียก่อน ถ้าไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ที่ไปเลือกตั้งได้ การเลือกตั้งก็จะไม่มีความหมาย 2.กรณีบัตรเสีย ครั้งนี้มี 5.7 เปอร์เซ็นต์ อาจคิดว่ามันไม่เยอะ เพราะในการเลือกตั้งปี 2554 ก็มีประมาณนี้ แต่ตามหลักการสากลบอกว่า บัตรเสียควรจะมีประมาณร้อยละ 3 ไม่เกิน 4

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของ IDEA International บอกว่าค่าเฉลี่ยของบัตรเสียในการเลือกตั้งทั่วโลก อยู่ที่ 2 ไม่เกิน 3 นั่นเท่ากับ ไทยเกินค่ามาตรฐานโลกมาเกือบเท่าตัว ทำให้ต้องพิจารณาแล้วว่า เราและกกต.กำลังทำอะไรกันอยู่ และสิ่งที่เรารู้สึกตกใจมากคือเรื่อง change.org ซึ่งในรอบ 5 ปีที่ผ่านมานี้ ครั้งที่เยอะที่สุดคือพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม ประมาณ 6 แสนคน แต่ครั้งนี้ในการถอดถอนกกต. เป็นการกดดันทางสังคมที่แรงมาก อยู่ที่ 8 แสนคน ทั้งหลายเหล่านี้ทำให้เห็นว่า กกต. จัดการเลือกตั้งที่ไม่เท่าเทียมกันในหลายๆ หน่วย ยังไม่รวมถึงกรณีบัตรเสียจากประเทศนิวซีแลนด์ซึ่งไม่ใช่ความผิดของผู้มีสิทธิเลือกตั้งด้วย

ขณะที่นายสาเล็ม กล่าวว่า ข้อเรียกร้องของเราต่อกกต. มี 5 ข้อ ได้แก่ 1. ต้องเปิดเผยการนับคะแนนแบบนับมือเพื่อสามารถนำมาเปรียบเทียบกับแอพพลิเคชั่นหรือ Rapid Report 2.จัดให้มีผู้เชี่ยวชาญเข้ามาตรวจสอบแอพพลิเคชั่นในกระบวนการทำงาน การป้องกันการถูกเจาะระบบ รวมถึงผลคะแนนต่างๆ ที่ได้รับรวบรวมมาจากกรรมการประจำหน่วยในแต่ละเขตทั่วประเทศ 3.การให้ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการการเลือกตั้งแก่ผู้มาใช้สิทธิ์ ซึ่งจะสอดคล้องกับจำนวนบัตรเสียที่มีค่ามากกว่ามาตรฐานสากล 4.กกต.จัดให้มีแบบแผนปฏิบัติอบรมเจ้าหน้าที่ประจำหน่วย ให้มีเกณฑ์มาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ และ 5.ให้มีการทบทวนข้อกฎหมายระเบียบต่างๆ เกี่ยวกับการเลือกตั้งที่สังคมเห็นว่าไม่ได้สอดคล้องหรือสะท้อนความต้องการของประชาชน เช่น บัตรเลือกตั้งที่ไม่ได้ถูกนับของประเทศนิวซีแลนด์ รวมถึงการเปิดช่องทางให้หน่วยงานภาคประชาสังคมขอใบอนุญาตในการสังเกตการณ์การเลือกตั้ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน