พท.เตรียมประชุมใหญ่ 21 เม.ย. พร้อมออกคำแถลงสูตรคำนวณ ส.ส. ลั่นพร้อมเอาผิดทุกช่องทางหาก กกต.ดึงดันขัด รธน.

เมื่อวันที่ 10 เม.ย. ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าช่วงเช้าแกนนำพรรคและฝ่ายกฎหมายของพรรค ประชุมหารือกันเรื่องสูตรคำนวณที่นั่งส.ส. และวาระการประชุมใหญ่สามัญประจำปีในวันที่ 21 เม.ย.

ก่อนที่ช่วงบ่าย พรรคจัดให้สมาชิ และเจ้าหน้าที่พรรครดน้ำดำหัวแกนนำพรรค อาทิ พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ หัวหน้าพรรค นายชัยเกษม นิติสิริ แคนดิเดตนายกฯ นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรค นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมาย และนางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ โฆษกพรรค เป็นการภายในเล็กๆ

ซึ่งบรรยากาศเป็นไปอย่างอบอุ่น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากพรรคเพื่อไทยจะประชุมใหญ่ในวันที่ 21 เม.ย.นี้ จึงจะไม่จัดกิจกรรมรดน้ำดำหัวใหญ่ในช่วงเทศกาลสงกรานต์เหมือนเช่นทุกปี

จากนั้นเวลา 14.00 น. แกนนำพรรคแถลงผลการประชุม โดยนายภูมิธรรม กล่าวว่า วันนี้คณะกรรมการบริหารพรรคประชุมเพื่อเตรียมการตามข้อบังคับพรรคในการดำเนินการประชุมใหญ่ประจำปี ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 21 เม.ย. เวลา 10.00 น. ที่พรรคเพื่อไทย โดยในปีนี้เราต้องรายงานงบการเงินตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา ซึ่งยังไม่เคยมีการรายงานที่ชัดเจน เนื่องจากมีการทำรัฐประหารไม่สามารถจัดประชุมพรรคได้

นอกจากนี้ได้กำหนดรายละเอียดการประชุมวันที่ 21 เม.ย. ซึ่งองค์ประชุมต้องประกอบด้วยคณะกรรมการบริหารพรรคกึ่งหนึ่งจากทั้งหมด 13 ท่าน ตัวแทนสาขาพรรคทั้ง 4 ภาคอย่างน้อย 2 สาขา และเราจะเชิญผู้สมัครส.ส.เขตของพรรคทั้ง 250 คน และส.ส.บัญชีรายชื่อทั้ง 97 คน โดยองค์ประชุมใหญ่วันนั้นจะมีทั้งสิ้นประมาณ 419 คน

ซึ่งวาระสำคัญของการประชุมวันดังกล่าว คือ

  • 1.วาระประจำ เช่น การรายงานการดำเนินงาน
  • 2.จะมีการสรุปสถานการณ์ทางการเมืองทั้งหมดให้องค์ประชุมในวันนั้นทั้งหมดได้รับฟัง
  • 3.ท่าทีทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยที่จะดำเนินการต่อจากนี้ไป

โดยเราจะยืนยันและทำความเข้าใจกับสมาชิกทั้งหมดว่า เพื่อให้การดำเนินกิจการทั้งหมดของพรรคเป็นเอกภาพ เราจะยืนยันทุกคำมั่นสัญญาที่พูดไว้ในการหาเสียงเลือกตั้ง ทุกนโยบาย หรือทุกอย่างที่ได้แถลงการณ์ไว้กับพี่น้องประชาชนจะนำมาดำเนินการ

หากได้เป็นรัฐบาลก็พร้อมนำสิ่งต่างๆ ไปดำเนินการทันที แต่หากไม่ได้เป็นรัฐบาลในฐานะพรรคการเมืองก็จะเอาสิ่งต่างๆ เหล่านั้นมาดำเนินการตามศักยภาพที่พอจะทำได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้เราเตรียมที่จะขยายบทบาทและขยายทิศทางการดำเงินงานทางการเมืองของพรรคลงไปในทุกพื้นที่

ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ที่ได้รับชัยชนะ หรือพื้นที่ที่ยังไได้รับความสำเร็จจากการเลือกตั้งก็ตาม เราจะยังคงทำงานต่อให้กับพี่น้องประชาชน และเราจะกำหนดคนรุ่นใหม่ของพรรคให้วางทิศทางทางการเมืองเพื่อจะขยายการดำเนินการทางการเมืองของพรรคในมิติต่างๆ

นายชูศักดิ์ อ่านคำแถลงพรรคเพื่อไทย กรณีปัญหาการคำนวณส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ระบุว่า ตามที่สำนักงาน กกต. เผยแพร่ข่าวสารอ้างว่า กกต.ได้เห็นชอบวิธีการคำนวณส.ส.แบบบัญชีรายชื่อตามที่สำนักงาน กกต.ได้เสนอ

โดยอ้างว่าเป็นวิธีที่ได้เสนอต่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ซึ่งเป็นวิธีที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 91 และพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. 2561 มาตรา 128 และมาตรา 129 ประกอบกับเจตนารมณ์ของระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งผลจากการคำนวณตามวิธีการดังกล่าว ทำให้มีพรรคการเมืองได้รับจัดสรรส.ส.แบบบัญชีรายชื่อไม่น้อยกว่า 25 พรรค ซึ่งรวมถึงพรรคที่มีคะแนนเฉลี่ยต่ำกว่าคะแนนต่อส.ส. 1 คนด้วยนั้น

พรรคเพื่อไทยเห็นว่าการนำวิธีการคำนวณดังกล่าวมาใช้ จะขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 และยังขัดต่อหลักตรรกวิทยา ดังเหตุผลต่อไปนี้

1.การที่พรรคการเมืองใดจะได้รับจัดสรรส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคนั้นต้องได้รับคะแนนไม่ต่ำกว่าจำนวนคะแนนต่อส.ส. 1 คน เนื่องจากตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 (1) และพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 128 (1) ให้ความสำคัญต่อทุกคะแนนเสียง จึงให้นำทุกคะแนนที่ลงให้กับทุกพรรคการเมืองมารวมกันแล้วหารด้วย 500 คือ จำนวน ส.ส.ทั้งหมด

เพื่อให้ได้ค่าเฉลี่ยต่อส.ส.1 คน ซึ่งจากคะแนนรวมของทุกพรรค 35,532,647 คะแนน หารด้วย 500 ผลลัพธ์คือ 71,065 คะแนน ซึ่งตัวเลขนี้จะเป็นตัวกำหนดส.ส.พึงมีของแต่ละพรรคด้วย จึงเห็นได้ว่าหลักการที่ว่าทุกคะแนนเสียงมีค่าและไม่เป็นคะแนนตกน้ำนั้น ได้นำมาใช้ในการคิดคำนวณในส่วนนี้แล้ว

2.จำนวน ส.ส.ที่แต่ละพรรคพึงมีนั้น ต้องยึดจำนวนตามที่คำนวณได้เป็นเกณฑ์ จะนำไปเฉลี่ยให้กับพรรคที่มีคะแนนต่ำกว่า 71,065 คะแนนมิได้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญมาตรา 91 (2) และพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 (2) ให้นำคะแนนที่แต่ละพรรคได้รับจากทุกเขตเลือกตั้ง หารด้วยคะแนนต่อ ส.ส. 1 คน (71,065) ผลลัพธ์ คือ จำนวนส.ส.ที่พรรคนั้นจะพึงมีได้เบื้องต้นและเมื่อนำผลลัพธ์ดังกล่าวไปลบด้วยจำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขตของพรรคนั้น

ผลลัพธ์คือจำนวนส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ที่พรรคนั้นจะได้รับเบื้องต้น ตามมาตรา128 (3) จะเห็นได้ว่าจำนวน ส.ส.ที่พึงมีของแต่ละพรรคก็ดี หรือจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคจะได้รับเบื้องต้นก็ดี ล้วนมีฐานมาจากที่พรรคนั้นต้องมีคะแนนไม่ต่ำกว่าคะแนนต่อส.ส. 1 คน (71,065 คะแนน) ทั้งสิ้น

3.พรรคการเมืองใดที่มีคะแนนต่ำกว่าคะแนนต่อส.ส. 1 คนคือต่ำกว่า 71,065 คะแนนซึ่งไม่มีจำนวน ส.ส.ที่พึงมี และไม่มี ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่จะได้รับเบื้องต้น ตามมาตรา128 (3) ก็ย่อมไม่มีสิทธิได้รับจัดสรรจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อตามมาตรา 128 (4) เพราะตามมาตรา 128 (4) ให้จัดสรร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อให้เฉพาะกับพรรคที่มีสิทธิจะได้รับส.ส.แบบบัญชีรายชื่อตามมาตรา 128 (3) เท่านั้น

โดยให้จัดสรรเป็นจำนวนเต็มก่อน ถ้ายังไม่ครบ 150 คนจึงไปพิจารณาว่าพรรคใดมีเศษจากการคำนวณมากกว่ากัน ดังนั้น เมื่อพรรคใดไม่มีส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่จะได้รับเบื้องต้น ก็ไม่มีสิทธิได้รับการจัดสรรดังกล่าว และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อจากทุกพรรคที่มีคะแนนอยู่ในเกณฑ์ 71,065 คะแนนขึ้นไปมีจำนวน 152 คน เกินมา 2 คน จึงไม่ต้องไปพิจารณาเรื่องเศษจากการคำนวณ และไม่ต้องไปพิจารณาตามมาตรา128 (6) ด้วยเช่นกัน

4.พรรคที่จะได้รับการจัดสรรส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ตามมาตรา 128 (5) แห่งพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ต้องเป็นพรรคที่มีส.ส.พึงมีเสียก่อน เนื่องจากการคำนวณตามมาตรา 128 (5) ต้องพิจารณาตามมาตรา 128 (2) เป็นหลักโดยจัดสรรภายใต้เงื่อนไขดังนี้

  • 4.1 ถ้าพรรคนั้นมีส.ส.เขตเท่ากับ หรือสูงกว่าจำนวนส.ส.ที่พรรคนั้นพึงมี ตามมาตรา 128 (2) ให้พรรคนั้นมี ส.ส.ตามจำนวนที่ได้รับจากส.ส.แบบแบ่งเขต และไม่มีสิทธิได้รับจัดสรรแบบส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ
  • 4.2 ให้นำส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ไปจัดสรรให้แก่พรรคที่มีส.ส.แบบแบ่งเขตต่ำกว่าจำนวนส.ส.ที่พรรคนั้นจะพึงมี ตามมาตรา 128 (2)
  • 4.3 การจัดสรรข้างต้นต้องไม่มีผลให้พรรคนั้นมีส.ส.เกินจำนวนที่พึงมีตามมาตรา 128 (2) ดังนั้น ถ้าพรรคการเมืองใดไม่มีส.ส.ที่พึงมี ตามมาตรา 128 (2) ตั้งแต่ต้น ก็ไม่มีสิทธิได้รับจัดสรร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อตามมาตรา 128 (5)

5.พรรคการเมืองที่มีคะแนนต่ำกว่า 71,065 คะแนน ซึ่งเป็นพรรคที่ไม่มีส.ส.พึงมีตามมาตรา 128 (2) ไม่มีจำนวนส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่จะได้รับเบื้องต้นตามมาตรา 128 (3) ซึ่งไม่มีสิทธิจะได้รับจัดสรรแบบบัญชีรายชื่อ ตามมาตรา 128 (4) และ (5) พรรคนั้นก็ย่อมไม่อยู่ในเกณฑ์จะได้รับจัดสรร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อตามมาตรา 128 (7) เพราะพรรคเหล่านั้นไม่มีจำนวนส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่จะได้รับมาตั้งแต่ต้น จึงไม่มีจำนวนส.ส.ที่จะมาคูณกับจำนวน 150 และหารด้วยผลบวกของ 150 กับจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่เกิน 150 คนได้

ดังนั้น เมื่อพิจารณาตามข้อกฎหมายแล้ว ไม่มีช่องทางใดเลยที่พรรคซึ่งมีคะแนนต่ำกว่า 71,065 คะแนน จะได้รับจัดสรรส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งพรรคเพื่อไทยมีหนังสือลงวันที่ 10 เมษายน 2562 ถึง กกต.เพื่อให้ทบทวนการคำนวณส.ส.แบบบัญชีรายชื่อเสียใหม่ให้ถูกต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายต่อไปแล้ว

นายภูมิธรรม กล่าวว่า ข้อเสนอที่เราจะเสนอต่อ กกต.เป็นลายลักษณ์อักษรเป็นเรื่องสำคัญ เพราะกฎหมายกำหนดไว้ชัดว่าต้องคำนวณตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 และพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. มาตรา 128 ถ้าไม่เป็นไปตามที่เสนอเท่ากับ กกต.จงใจไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ พรรคก็จะดำเนินการตามกฎหมาย และรัฐธรรมนูญทุกช่องทางเพื่อเอาผิดกกต. ซึ่งวันนี้เราต้องทำครบช่องทางตามกฎหมาย เพื่อให้ กกต.รับรู้ว่ากำลังใช้วิธีคำนวณที่อาจขัดกับรัฐธรรมนูญ หากยังดึงดัน กกต.ต้องรับผิดชอบ และเราจะไม่หยุดอยู่แค่นี้

เมื่อถามว่า 7 พรรคที่ร่วมลงสัตยาบันเห็นด้วยกับวิธีการคำนวณแบบเดียวกับพรรคเพื่อไทยหรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า ทุกพรรคมีความคิดเห็นตรงกัน แต่พรรคเพื่อไทยมีความชัดเจนในการทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรเสนอความเห็นให้กับ กกต. ว่าทุกฝ่ายต้องปฏิบัติตามกฎหมาย

ด้านนายชูศักดิ์ กล่าวว่า การคำนวณของ กกต.ตามกฎหมาย ไม่เห็นมีมาตราใดให้เอาจำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อ 150 บวกกับ 25 เสียงที่เพื่อไทยได้เกินมาเป็น 175 แล้วไปปรับเหลือ 150 ดังนั้น จะคำนวณอะไรนอกจากที่กฎหมายกำหนดไม่ได้

เมื่อถามว่าการดำเนินการตามกฎหมายกับ กกต.อาจส่งผลให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า การเลือกตั้งเป็นโมฆะกับการคำนวณส.ส.เป็นคนละประเด็นกัน เพราะการเลือกตั้งโมฆะ คือการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ต้องยื่นผ่านองค์กรที่มีหน้าที่ เช่นที่ผ่านมายื่นผ่านผู้ตรวจการแผ่นดินส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ แต่การคำนวณส.ส.เป็นคนละประเด็น ส่วนพรรคจะดำเนินการโดยวิธีใด ตามยุทธวิธีคงไม่มีใครบอกช่องทางให้เขารู้ก่อนว่า จะฟ้องในช่องทางและประเด็นใด


ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน