เรืองไกร ร้อง ผู้ตรวจฯ สอบ กกต. เลือกปฏิบัติ! แจ้งข้อหา ‘ธนาธร’ ปม ถือหุ้นสื่อ แต่ไม่ตรวจสอบ ‘บิ๊กตู่’ เปิดโซเชียลจ้อประชาชน เผยกฎหมายเขียนไว้ยุ่งจริง ๆ

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 29 เม.ย. ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) เข้ายื่นหนังสือถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน ผ่าน นายปิยะ ลือเดชกุล ผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบเรื่องร้องเรียน สำนักงานผู้ตรวจฯ เพื่อเสนอความเห็นต่อศาลปกครองว่า กฎ คำสั่ง การกระทำของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายหรือไม่

เนื่องจากกกต.ได้แจ้งข้อกล่าวหากับ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ในฐานะผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 เป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามไม่ให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส. โดยเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด จำนวน 675,000 หุ้น

นอกจากนี้ กกต.ยังได้ยื่นฟ้องผู้สมัครส.ส.จากพรรคการเมืองต่าง ๆ ต่อศาลฎีกาแล้ว 11 ราย แต่กกต.กลับไม่รับตรวจสอบกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเปิดเฟซบุ๊ก อินสตราแกรม ทวิตเตอร์ และเว็บไซต์ส่วนตัว เพื่อสื่อสารกับสาธารณชน จึงถือเป็นเจ้าของสื่อมวลชนใด ๆ ที่เข้าข่ายขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญเช่นกัน

เกาะติดข่าวการเมืองข่าวเลือกตั้ง แค่กดเป็นเพื่อนกับไลน์@ข่าวสด ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

นายเรืองไกร กล่าวอีกว่า การปฏิบัติที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดของกกต. ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ กับ นายธนาธร อาจทำให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่เลือกพรรคอนาคตใหม่ไปกว่า 6 ล้านเสียง มองว่าเป็นเจตนาเพื่อให้ส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้งทั่วไปของพรรคอนาคตใหม่ และอาจถูกตั้งข้อสังเกตว่า นายกฯ เป็นเจ้าของสื่อไม่ผิด แต่นายธนาธรเป็นผู้ถือหุ้นสื่อกลับผิด ตนจึงยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจฯ ให้เสนอความเห็นไปยังศาลปกครองว่าการกระทำของกกต.มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายหรือไม่

นายเรืองไกร กล่าวต่อว่า ตนเห็นด้วยกับการดำเนินคดีผู้สมัครของพรรคการเมืองต่าง ๆ 11 คดี และการตรวจสอบนายธนาธร แต่กกต.ไม่ควรข้ามพล.อ.ประยุทธ์ ตนมองว่าความหมายของสื่อมวลชนกว้างมาก วันนี้สำนักข่าวอิศรา และโพสต์ทูเดย์ก็ไม่ได้ตีพิมพ์ แต่ก็ยังมีฐานะเป็นสื่อมวลชน และเมื่อไปที่ประวัติศาสตร์การเขียนกฎหมายนี้ไม่เคยปรากฏในชุดของ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ และกรรมการร่างรัฐธรรมนูญในช่วงแรก

นายเรืองไกร กล่าวว่า แต่ต่อมาสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นผู้เสนอเพิ่ม ซึ่งแม้แต่ พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ สมาชิกสนช. ก็เห็นแย้ง บอกว่าการห้ามถือหุ้นสื่อจะกระทบต่อสิทธิของผู้สมัครจำนวนมาก เพราะมีกิจการสื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์จำนวนมาก และไม่เป็นไปตามหลักสากล

“ผมมองว่ากฎหมายเขียนเอาไว้ยุ่งจริง ๆ ถ้าเป็นไปได้ควรทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ส่วนประเด็นที่ นายชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกาพูด ผมยังไม่อยากโต้ แต่ขอให้ไปดูกฎหมายขององค์กรอิสระก่อนว่ามันครบเครื่องแล้วหรือไม่ และก่อนที่กกต.จะประกาศรับรองส.ส.ขอให้กกต.ใช้อำนาจตรวจสอบว่าที่ส.ส.ทั้ง 350 คน ว่ามีคุณสมบัติครบถ้วนหรือไม่ โดยให้แจ้งไม่ยังกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ให้ตรวจสอบอย่างละเอียด” นายเรืองไกร กล่าว

เมื่อถามว่า กกต.อาจคิดว่าเจ้าของเฟซบุ๊กคือ มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ทำให้พิจารณาว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ใช้เจ้าของสื่อ นายเรืองไกร มองว่า ถ้าอย่างนั้นกิจการโทรทัศน์ โทรคมนาคม หรือว่าทางด่วน ก็เป็นของประเทศชาติ ไม่มีใครเป็นเจ้าของเช่นกัน แต่ไปขอสัมปทานจากรัฐ จึงมองว่าการเป็นเจ้าของสื่อทุกประเภท เข้าข่ายขาดคุณสมบัติทั้งหมด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน