“ณัฐพร อินถา”

ได้ฤกษ์ลงจอให้ชมกันแล้ว สำหรับละครแนวดราม่าผจญภัยฟอร์มใหญ่เรื่อง “นายฮ้อยทมิฬ” จากปลายปากกาของ คำพูน บุญทวี ผลิตโดยผู้จัด ธงชัย ประสงค์สันติ แห่งค่ายพอดีคำฯ ที่งานนี้พ่วงหน้าที่ลงกำกับการแสดงด้วยตนเอง

คว้าพระนางคู่จิ้น “ไมค์”ภัทรเดช สงวนความดี และ “ปุ๊กลุก”ฝนทิพย์ วัชรตระกูล เจอกันอีกครั้ง ในบท “นายฮ้อยเคน” และ “คำแก้ว”

ร่วมด้วยทัพนักแสดง อาทิ “โหน”ธนากร ศรีบรรจง (โทน), “ชิงชิง”คริษฐา สังสะโอภาส (แสงโสม), ไผ่ พงศธร (สีโห), ข้าวทิพย์ ธิดาดิน (บัวเขียว), “นัท”อติรุจ สิงหอำพล (ผู้ช่วยถึก), “นินิว”กัญญารัตน์ พงศ์กัมปนาท (จันแดง), “น้ำหวาน”กรรณาภรณ์ พวงทอง (คำแพง), “อู๋”นวพล ภูวดล (เสือคำแสน), สมรักษ์ คำสิงห์ (ทิดสุบิน), สามารถ พยัคฆ์อรุณ (ทิดจันทา), เขาทราย แกแล็คซี่ (เฒ่าเข่ง), เฉลิมพล มาลาคำ (อาจารย์เม้า), ปอยฝ้าย มาลัยพร (มืด) ฯลฯ

ทั้งนี้ บักธง หรือ ธงชัย ประสงค์สันติ ผู้กำกับฯ เผยว่า “ละครนายฮ้อยทมิฬ เป็นเรื่องราวของนายฮ้อยทมิฬ คนที่มีอาชีพค้าวัวค้าควาย เอาควายจากสกลนครมาขายที่สระบุรี ระหว่างทางจะผ่านหลายอย่างทั้งป่าดงดิบ ภูเขา ลำเนาไพร มีเรื่องกองเกวียน คนในกองเกวียนทะเลาะกัน เรื่องผี

ดังนั้น คนที่เป็นนายฮ้อยต้องเป็นผู้นำที่เข้มแข็ง ต้องมีของ เพราะอาจเจอปล้นได้ หลักๆ เป็นเรื่องการเดินทางของพ่อค้าควาย แต่ก็มีเรื่องความรัก บทเพลงที่ปลอบใจตัวเอง รวมถึงเพลงรักต่างๆ ถามว่าต่างจากเดิมมั้ย คือเราก็เอามาจากหนังสือของคุณลุงคำพูน บุญทวี คงเป็นโครงเรื่องเก่า แต่ที่จะเพิ่มคือเห็นว่าคนสมัยก่อนที่เป็นนายฮ้อยจะต้องสักยันต์เยอะมาก เลยใส่เรื่องเวทมนตร์คาถาให้มีสีสัน มีเพิ่มบู๊เข้าไป”

พระนางทำไมลงตัว “ไมค์-ปุ๊กลุก” ผู้กำกับฯ ให้คำตอบว่า “ปุ๊กเราร่วมงานตั้งแต่เพื่อนแพง เขามีความเป็นชาวบ้านดี แต่งขึ้น แต่งเป็นคนในเมืองก็สวย และได้ไมค์มา เขาเป็นคนขอนแก่น พูดอีสานได้ ทั้งหมดอยากให้ไปลองดูในละครว่าเขามีความเหมาะสมยังไงบ้าง”

มีดราม่าว่านักแสดงไม่เหมาะสม เพราะนายฮ้อยน่าจะอายุมากหน่อย แต่ไมค์ดูยังเด็ก “มันแล้วแต่ว่าจะตีความยังไง ถือว่าปี 2560 เป็นนายฮ้อยยุคใหม่ก็ได้นะ ดูหนุ่มขึ้น มีพลังมากขึ้น อยากให้ดูในละคร ความรู้สึกนั้นจะหายไปเลย

ส่วนนางเอกที่คนบอกว่าต้องเด็กมาก คือเขาหน้าให้ อย่างดาราวัยรุ่นสมัยนี้จะออกแนวคนเมืองหมด แต่พอจับ ปุ๊กใส่ผ้าซิ่น นุ่งเสื้อ มันใช่เลย อาจจะไม่ถูกใจใครบ้างก็ต้องขออภัย แต่ลองให้โอกาสเขาดู สองคนนี้เขาเป็นคนมีเสน่ห์”

คาแร็กเตอร์ “นายฮ้อยเคน” และ “คำแก้ว” เวอร์ชั่นนี้ บักธงอธิบายว่า “นายฮ้อยเคนจะต้องเป็นคนมีคุณธรรม เป็นลูกผู้ชายชาตรี เข้มแข็งได้ อ่อนแอได้ ทำให้ใกล้ความเป็นมนุษย์ที่สุด แต่เวลาที่อ่อนแอต้องมีช้างเท้าหลังที่ดี รวมถึงต้องมีความเป็นสภาวะผู้นำที่ดี

ฉะนั้น การแสดงสีหน้าแววตาต้องมาพร้อมกันได้หมด ส่วนคาแร็กเตอร์คำแก้ว ปุ๊กลุกจะเน้นเรื่องดูเด็กๆ ดูเป็นน้องเมียที่ดื้อๆ หน่อย ห่วงพี่เขย คือเขาแอบมาค้าควายด้วย เพราะกลัวพี่เขยจะไปเจอสาวระหว่างทาง ความที่กลัวและแก่นแก้ว พอถึงจุดหนึ่งก็กลายเป็นความรัก

และคู่นี้มีร้องเพลงคู่ด้วย ชื่อว่า “อาการรัก” แต่งโดยครูสลา คุณวุฒิ และฉากกุ๊กกิ๊กในเรื่องก็มีเยอะเลย มีฟินแน่ ฟินแบบปลาร้าล้นไหเลย (หัวเราะ) ได้ความแปลก ได้วัฒนธรรมชาวอีสาน ที่สำคัญมีเพลงเพราะๆ ทั้งหมด 6 เพลง มีเพลงเก่าอยู่ 2 เพลง”

“ส่วนนักแสดงแวดล้อมสีสัน ก็มี โหน-ธนากร คู่กับ ชิงชิง-คริษฐา, ไผ่-พงศธร คู่กับ ข้าวทิพย์ ธิดาดิน, นัท-อติรุจ คู่กับ นินิว-กัญญารัตน์ เราจัดให้ 4 คู่เลย แต่ละคนจะมีเส้นเรื่องของตัวเอง นักมวยก็มี เขาทราย, สามารถ, สมรักษ์ มีอาจารย์เฉลิมพล มาลาคำ รวมถึงมีตลกอีกมากมายที่มาสร้างสีสัน”

ถามถึงสถานที่ถ่ายทำได้คำตอบว่า “หลักๆ อยู่ที่สระบุรี ตรงนั้นมีที่กว้างๆ แต่เดี๋ยวนี้ถ่ายยากเพราะเริ่มมีโรงงาน มีเสาไฟ และหาที่แล้งๆ ยากหน่อย ปีนี้น้ำเยอะ เลยเน้นเล่าเรื่องตัวละครเอาแทน ส่วนฉากที่ต้องมีฝูงวัวควายในฉากก็ได้ที่สระบุรี ควายร้อยกว่าตัวมาเข้าฉาก กองเกวียนใหญ่ คือคุมยากมาก ใช้คนประมาณ 10 กว่าคนสำหรับไล่ควายอย่างเดียวนะ

อีกอย่างปัจจุบันเขาไม่ได้เลี้ยงควายไว้ไถนา เขาเลี้ยงไว้ขาย ดังนั้น ความเชื่องจะไม่เหมือนสมัยก่อน ก็จะลำบากหน่อย มีเจอตอนที่ควายตื่น คนวิ่งกระเจิงเหมือนกัน คือควายแต่ละกลุ่มจะมีจ่าฝูงอยู่ มันยากมาก ไมค์เองก็มีขี่ควาย แต่ส่วนใหญ่จะเป็นขี่ม้า เพราะต้องใช้ความเร็วในการไล่ต้อนฝูงวัวควาย ส่วนที่ยากสุดคือขี่เกวียน มันหนักมากเลยเพราะมันกระแทก”

เรื่องการแต่งกาย ผู้กำกับฯ เผยว่า “ก็เป็นทางภาคพื้นอีสาน มีผสมหลายพื้นที่ คนที่ไปค้าควายบางทีก็มาพร้อมกันหลายจังหวัด เราไม่ทิ้งความเป็นอีสานแน่นอน และอยากให้จับตาดูฉากที่ไมค์แหย่รังไข่มดแดงกับนางเอก มันเซ็กซี่มาก มดแดงมันไต่เข้าไปในผ้าถุงนางเอก แล้วพระเอกก็เปิดผ้าถุงไล่จับมดแดง เรื่องนี้ใช้เวลาถ่ายทำปีกว่าๆ”

ข้อคิดที่คนดูจะได้จากเรื่องนี้ “ในเรื่องนี้ผมชอบประโยคนี้มากที่ว่า “อีสานมันแล้งแล้ว แต่คนอีสานอย่าให้แล้งน้ำใจไปมากกว่านี้เลย” คือมันจะมีสอดแทรกในทุกตอน ถึงเรื่องนี้จะใช้ภาษาอีสานทั้งเรื่อง แต่ก็จะมีคำแปลภาษากลางบรรยายอยู่ข้างล่าง สุดท้ายฝากแฟนๆ ช่อง 7 ติดตามชมด้วยครับ โดยเฉพาะคนภาคอีสาน”

ติดตามชมละคร “นายฮ้อยทมิฬ” ได้ทุกวันจันทร์-อังคาร เวลา 20.30 น. เริ่มตอนแรกจันทร์ที่ 25 ก.ย. ทางช่อง 7

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน