‘ติ๊ก ชิโร่’ผุดค่าย‘โลมาบิน’ – นักร้องดังยุค 90 ‘ติ๊ก ชิโร่’ หรือ ศิริศักดิ์ นันทเสน จับมือ ‘เป๊กซ์ วง Zeal’ ปราชญ์ พงษ์ไชย, ‘อั๋น’ ประพันธ์ คูศิริวานิชกร จาก ดักก์บาร์ และ ป้อ ก้านคอคลับ ก่อตั้งค่ายเพลง “Lomabin” (โลมาบิน) ดิจิทัล มิวสิค ไลฟ์สไตล์ ค่ายที่หยิบยื่นโอกาสให้ทุกคนได้ทำตามฝัน

ประเดิมปล่อยซิงเกิลแรก “ไม่จำกัดอายุ” โดยในเพลงประกอบด้วยศิลปินในค่ายอีก 12 คน ได้แก่ เอแคลร์ บีเลิฟ (AB), วาววาว, จอห์น, ฟ่อน, โฟกัส, กาย, แจ๊กกี้-แพทริค (JAYP), ครีม, แพร์, วงซิทมิเรอร์ (SIT MIRROR), ไตตัน และ ต้นกล้า เพื่อแสดงให้เห็นว่าจะอายุ เท่าไหร่ก็สามารถสนุกไปด้วยกันได้

นอกจากนี้ยังมีศิลปินในค่ายอีกมากมาย อาทิ แอนโทนี่ เหว่ย, เค้ก, ชาเม, โดม, KARN เป็นต้น

ไปยังไงมายังไงถึงได้เปิดค่ายเพลงใหม่ “โลมาบิน”?

ติ๊ก – “บังเอิญเจอ เป๊กซ์ วงซีล ตอนแรกเจอ อั๋น ดักก์บาร์ อั๋นแนะนำให้รู้จัก ป้อซึ่งเคยทำก้านคอคลับ ดังนั้นเลยจะมี 4 ผู้บริหาร แต่ละคนจะทำหน้าที่ที่ตัวเองถนัด แล้วก็มาดูรูปแบบหรือวิธีการจะเป็นแบบไหน ได้ข้อสรุปว่าจะเป็นดิจิทัล มิวสิค ไลฟ์สไตล์ให้เข้ายุคสมัยปัจจุบัน”

“ส่วนชื่อค่ายโลมาบิน คือโลมาเป็นสัตว์ใกล้ชิดมนุษย์ จะอยู่กันเป็นฝูง สื่อสารกันด้วยเสียงเพลง ที่สำคัญเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เราเลยรู้สึกว่านอกจากภาพลักษณ์ของโลมาแล้ว เราก็อยากให้ศิลปินเราสามารถกระโดดข้ามท้องทะเลของเสียงดนตรีจากอีกทะเลไปอีกทะเล เลยติดปีกให้โลมากลายเป็นโลมาบิน แนวคิดของพวกเราคืออยากทำอะไรให้มีความสุข อยากสร้างฝันของคนที่มีฝันให้สำเร็จ จงได้ แล้วเราก็ได้เปิดตัวเพลงของค่ายเรา นั้นคือเพลงไม่จำกัดอายุ”

คอนเซ็ปต์ของดิจิทัล มิวสิค ไลฟ์สไตล์ เป็นอย่างไร?

ติ๊ก – “จริงๆ ดิจิทัลสไตล์ สำหรับคนยุคใหม่ที่ทุกวันนี้ 2-3 ขวบก็มีมือถือเล่นกันแล้ว เมื่อก่อนออกไปข้างนอกห่วงกระเป๋าสตางค์หาย แต่ปัจจุบันทุกคนห่วงว่ามือถือจะหาย เพราะทุกอย่างอยู่ในมือถือ เราก็มาคิดว่าจะทำยังไงถึงจะเชื่อมกันระหว่างเด็กๆ หรือแม้แต่คนรุ่นเราๆ เข้าถึงเพลงได้ เลยมองว่าศิลปินที่เราจะมีน่าจะเป็นคนรุ่นใหม่ เราได้มาเยอะมาก ก็คัดเลือก แยกเป็นกลุ่มได้ 3 กลุ่ม 3 ยูนิต ยูนิต S ยูนิต C แล้วก็ยูนิต U แบ่งตามโครงสร้างอายุ เริ่มตั้งแต่ 12 ปี ถึง 60 ปี ผมปีนี้อายุ 60 ปี เลยกลายเป็นศิลปินที่อายุมากที่สุดในโลมาบินครับ”

“ศิลปินมีทั้งมาจากการประกวดร้องเพลง บางคนไม่เคยประกวดที่ไหนเลย บางคนอยู่บ้านป่า ถ้ามีความสามารถก็สามารถเป็นศิลปินได้ อย่างน้องคนหนึ่ง ชื่อเค้ก พ่อแม่จบเมืองนอกแต่กลับมาทำเกษตรอินทรีย์ แล้วน้องก็หาความรู้จากยูทูบ ถ้าเป็นเมื่อก่อนเป็นไปไม่ได้เลย แต่ยุคสมัยนี้อยู่บ้านก็ฝึกฝนได้ ดาวน์โหลดคลาสฝึกเรียนร้องเพลงมา ดังนั้นศิลปินในปัจจุบันที่อายุยังน้อยบางคนเป็นโปรดิวเซอร์เอง บางคนทำดนตรีขาย เก่งมาก พอเราแบ่งศิลปินเป็นยูนิต เราก็จะเห็นความชัดเจนขึ้น และสามารถโฟกัสเพลงได้”

“แนวทางของเพลงก็จะเหมือนสโลแกนประจำบริษัทคือ everything fun everyone fly คือโลมาสามารถบินได้ ทุกคนก็สามารถทำให้ตัวเองมีความสุขได้”

ณ ตอนนี้ในค่ายมีศิลปินกี่คน?

ติ๊ก – “23 คนครับ ก็ยังเปิดรับน้องๆ ที่มีความสามารถอยู่นะ ซึ่งเราไม่จำกัด”

ผลงานชิ้นแรกซิงเกิล “ไม่จำกัดอายุ”?

ติ๊ก – “เมื่อเรามีศิลปิน 3 ยูนิต จะเอามาร้องทั้งหมดคงไม่ได้ เลยเอายูนิตที่มีอายุน้อยที่สุดมาก่อน ตรงคอนเซ็ปต์เพลง How old are you? ไม่จำกัดอายุ เพื่อให้เห็นความแตกต่างของช่วงอายุ ก็ให้เขาแสดงศักยภาพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องร้องเพลง ดนตรี แร็พ แนวดนตรีเพลงนี้พื้นฐานเป็นดิสโก้ มีแจ๊ซนิดๆ ฟังกี้หน่อยๆ และมีกึ่งอาร์แอนด์บี รูปแบบจะเป็นป๊อปแดนซ์อาร์แอนด์บี”

“กระแสตอบรับถือว่าดีครับ เพราะเป็นเพลงที่ไม่ได้อิงกระแสที่มีอยู่ เราเน้นความ นุ่มนวล เราเหมือนเป็น ผู้ปกครองเด็กๆ จะมาทำอะไรหวือหวามากไม่ได้ เราเน้นทางของเรา เน้นเอกลักษณ์ อัตลักษณ์เฉพาะของตนเอง”

คาดหวังกับเพลงนี้อย่างไร?

ติ๊ก – “เรามีความหวังว่าถ้าทำเพลงออกมาแล้วได้รับความนิยม หลายๆ คนชื่นชม หลายๆ คนภูมิใจว่าได้เป็นศิลปินแล้ว แต่ละคนก็พร้อมจะนำเสนอผลงานเพลงต่อไปแล้ว อย่างเพลง ฝืนยิ้ม ของ แอนโทนี่ เหว่ย ก็ปล่อยออกมาแล้ว และเดี๋ยวจะค่อยๆ ปล่อยออกมาเรื่อยๆ กว่าจะครบ 23 คนน่าจะหลายเดือน”

“และจะมีเซอร์ไพรส์พิเศษ คือน้องชาเม ชานันดา ลูกสาวคนโตของผม น่าจะมีโอกาสได้นำเสนอผลงาน หลังจากที่เคยแต่งเพลง ให้ศิลปินคนอื่น ซึ่งการปล่อยเพลงของศิลปินแต่ละคนเราจัดลำดับจากความพร้อม ถ้าใครพร้อมก็ออกได้เลย”

น้องๆ ในเพลงนี้ได้แสดงความสามารถของตัวเองทุกคน?

ติ๊ก – “ใช่ครับ อย่างท่อนแร็พก็ได้น้องต้นกล้า ที่มาจากเดอะวอยซ์คิดส์ น้องครีมมาจากโคราช ไปเจอมาจากโรงเรียนสอนร้องเพลง เขาร้องแร็พเร็วมาก มีน้องจากวงซิทมิเรอร์ เป็นวงร็อกที่เก่งมาก มือกลองในวงเป็นระดับมืออาชีพ มือกีตาร์ก็เก่งมาก เรียกว่าเป็นสัญลักษณ์ของความสำเร็จของคนรุ่นใหม่จริงๆ”

ได้ศิลปินมา เรียกว่าระดับหัวกะทิทั้งนั้น?

ติ๊ก – “วันที่เราออดิชั่น น้องๆ เขาก็สำแดงฤทธิ์เดชกันอย่างสุดฤทธิ์เหมือนกัน ใครชอบอะไร เล่นอะไรได้บ้าง น้องต้นกล้าเขาบอกว่า ผมเล่นเครื่องดนตรีได้แค่ 12 เครื่องเอง พวกเราก็โอ้โห 12 ชิ้นเอง บางคนเรียนหมอ เป็นนักเรียนแลกเปลี่ยน บางคนพูดได้หลายภาษา บางคนพูดภาษาอังกฤษชัดกว่าภาษาไทยอีก เราก็เลยเอาจุดนี้เป็นฮับในการนำเสนอความสามารถของน้องๆ ทุกคนมุ่งมั่นเอาจริงเอาจังมากๆ มีคนหนึ่งเป็นตัวแทนประเทศไทยที่ปั่นจักรยานแข่งระดับโลก ก็กลับมาเป็นศิลปินเฉยเลย ประหลาดใจมากๆ (หัวเราะ)”

ลูกสาวเป็นหนึ่งในศิลปินค่าย เป็นอย่างไรบ้าง?

ติ๊ก – “ถือว่าได้ดีเอ็นเอผมมา ถึงแม้จะ ไม่ได้เก่งเลิศเลอเหมือนนักร้องประกวด แต่เราไม่ได้ปิดกั้นความสามารถ เขาสามารถแต่งเพลงเองได้ ก็จะเป็นซิกเนเจอร์ของเขาเอง”

ให้คำปรึกษากันยังไง?

ติ๊ก – “สมัยก่อนผมคิดว่าถ้าใครเล่นเครื่องดนตรีได้จะถือว่ามีแต้มต่อ อย่างน้องต้นกล้าที่เล่นเครื่องดนตรีได้ 12 ชนิด ผมเองไม่ได้เลี้ยงลูกบังคับ แต่มาวันหนึ่งเขามาบอกว่าที่โรงเรียนจะมีงานแสดง สอนกลองให้หน่อย ผมถามว่าเล่นเมื่อไหร่ เขาบอกพรุ่งนี้ อ้าวแล้วจะได้เหรอมาซ้อมวันนี้ แต่พอเราบอกเทคนิคไป เขาก็เอาไปเล่นได้ คือจะบอกว่าเขามุ่งมั่นในสิ่งที่ปรารถนา พอเขามาร้องเพลงผมก็จะปล่อยให้เขาเลือกเอง ฝึกฝนเอง น้องชาเมเขาพูดเสมอว่าอยากจะสำเร็จด้วยตนเอง ไม่ใช่ ใช้นามสกุล หรือความเป็นติ๊ก ชิโร่ เข้ามา ผลักเขา ก็เรียกว่าแฟร์มากๆ ครับ”

ตัวพี่ติ๊กเอง ก็เป็นศิลปินในค่าย?

ติ๊ก – “เพลงที่หนึ่งที่ปล่อยออกมา ก็ จะมีเพลงที่สอง สาม ผมก็พยายามเตรียมแต่งเพลงที่สี่ไว้ แต่ยังไม่เสร็จ ก็จะใช้โอกาสนี้นำเสนอความเป็นติ๊ก ชิโร่ ที่มีมาตั้งแต่สามสิบหกปี ปีนี้ครบแซยิด ก็เป็นศิลปิน ที่ทำงานอย่างต่อเนื่อง ผมเคยบอกว่าผม จะทำงานดนตรีจนกว่าจะถึงลมหายใจสุดท้าย”

“ต้องยอมรับว่ากว่าจะถึงวันนี้ ล้มลุกคลุกคลานมาไม่ใช่น้อย ไม่ว่าจะเป็นทั้ง นักแต่งเพลง นักร้อง นักพากย์ พิธีกร ผู้ประกาศ ทำงานทีวีหลายอย่าง แต่ถ้าเรื่องของดนตรี ผมว่าผมชัดเจนเมื่อฟังเพลงแล้วสามารถวิเคราะห์ สังเคราะห์ว่าเพลงนี้จะได้รับความนิยม อย่างเทปต้องมี 11-12 เพลง ผมก็จะแต่งเพลงไว้ 12 เพลงเอง ไม่ค่อย ตัดออก แต่เวลาทำให้รูปแบบเพลงมันแตกต่างออกไป ก็พยายามทำให้เต็มที่ มีลูกเล่นเทคนิคมากขึ้น แนวการจำหน่ายก็แตกต่างออกไป เดี๋ยวนี้มียูทูบ ซึ่งสร้างเศรษฐีใหม่ ชั่วข้ามคืน”

สุดท้ายอยากฝากอะไร?

ติ๊ก – “ในฐานะผมเป็นคนหนึ่งในโลมาบิน ก็ขอฝากชีวิตโลมาบินไว้ด้วย ที่จะมา สร้างความสนุกสนานในวงการดนตรี ให้แฟนๆ คนไทยได้มีความสุขกัน ฝากติดตามพวกเราได้ทางแฟนเพจเฟซบุ๊ก และยูทูบ Lomabin ครับ”

พลเทพ สารภิรมย์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน