ความจริงที่ “หงา คาราวาน” อยากเล่า จะถูกเปิดโปง ในคอนเสิร์ต “75 บริบูรณ์ สุรชัย จันทิมาธร” เรื่องราวแหลมคม ผ่านบทเพลงที่แสนจริงใจ ต่อสังคมไทยในวาระ 75 ปี

เมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2566 ที่ บริเวณ Meeting Point ชั้น G ห้างสรรพสินค้า MBK Center มีการจัดแถลงข่าวงานคอนเสิร์ต “75 บริบูรณ์ สุรชัย จันทิมาธร” คอนเสิร์ตใหญ่ของ “หงา คาราวาน” พี่ใหญ่แห่งวงการเพลงเพื่อชีวิต จัดโดย Classy Live Project ซึ่งเป็นการกลับมาบอกเล่าเรื่องราวอันแหลมคม ชวนคิด สุข สนุก ครบรส ครบอารมณ์ ผ่านบทเพลงที่แสนจริงใจต่อสังคมไทยในวาระ 75 ปี

งานนี้ขนแขกรับเชิญพิเศษที่หลายคนคาดไม่ถึงมาเซอร์ไพรส์คนดู และรายได้ส่วนหนึ่งมอบให้กับ “มูลนิธิโรงพยาบาลเด็ก” และ “Classy For Friends” เงินทุนสำรองสำหรับคนอาชีพ “นักแต่งเพลง” ที่ป่วยเป็นโรคมะเร็ง

ภายในงานแถลงข่าว น้าหงาได้เล่นบทเพลงเพื่อชีวิตให้สื่อมวลชนและแขกที่มาร่วมงานฟังเพื่อเป็นการเรียกน้ำย่อยก่อนจะถึงวันคอนเสิร์ตจริง และภายหลังจบกิจกรรมบนเวที น้าหงา ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนถึงความพร้อมในคอนเสิร์ตครั้งนี้

เตรียมความพร้อมกับคอนเสิร์ตนี้ไปถึงไหนแล้ว? “ผมเองเล่นดนตรีทั้งปีโดยไม่ได้ออกข่าวแล้วไม่มีใคร เล่นทุกวันตามชายขอบประเทศ อยู่ที่ว่าคนเขาจะเรียกมาแล้วก็ไปเล่น แต่ในลักษณะของคอนเสิร์ตมันจะพิเศษที่เราจะมีการเตรียมมีการซ้อมคืองานมันจะมีมาตรฐาน เพราะฉะนั้นแฟนเพลงที่เคยฟังตามร้านเหล้า ตามชายขอบก็คงจะได้เห็นแตกต่างออกไป เพราะว่าชีวิตผมมันไปกับเพลงอยู่แล้ว”

“อย่างผมไปเจอต้นไม้สวยๆ ผมก็จะเขียนเพลง อันนี้คือผมยกตัวอย่างให้ฟัง คืออยากจะเล่าเรื่องประกอบเพลงอยากจะทำแบบนี้มานานแล้ว ความเป็นมาของบทเพลงแต่ละเพลง หลายคนเขาก็เอาไปพูดต่างๆ กันไปตามความเข้าใจของเขาเอง แต่ว่าวันนั้นจะได้ฟังเรื่องจริงจากปากผม”

ก็คือมีความพร้อม เพราะว่าดนตรีคือชีวิตอยู่แล้ว? “ใช่ครับ ทั้งวงก็คือชีวิต เรายังมีวงเรายังเดินทางอยู่”

เห็นบอกว่าแฟนๆ ที่อยู่ต่างจังหวัด ตามขอบประเทศก็คือซื้อบัตรเราแล้วความดีใจและความภูมิใจของเรามันขนาดไหน? “แฟนเพลงรุ่นนี้ก็เป็นพ่อเป็นแม่คนแล้ว คือรุ่นนี้หลายๆ คนเขาเป็นวัยที่มีพาวเวอร์ในชีวิต มีพลังในการซื้อ ประสบความสำเร็จในชีวิต เป็นนายก อบต.บ้าง เป็นผู้ใหญ่ เป็นกำนัน คือส่วนมากโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว เขาก็จะพาลูกหลานเขามาดูเราด้วย เป็นการสืบทอดวัฒนธรรม ผมอยากจะให้เป็นแบบนี้ มาเยอะเยอะ คล้ายๆ กับว่าเราไม่ค่อยได้เจอกันต่างคนก็ต่างทำมาหากิน เขาก็ประกอบอาชีพเขา เราก็ประกอบอาชีพเรา คนเรานี้เราเคยเผชิญหน้ากันอยู่ลาน สวป.มั่ง สนามหลวงบ้างธรรมศาสตร์บ้าง ก็แล้วแต่ที่ยังมีชีวิตอยู่ ก็จะได้กลับมาพบกัน”

อย่างที่บอกว่าตอนนี้อายุของน้าหงา ก็ 75 ปีแล้วสุขภาพยังฟิตขนาดไหน? “ผมไม่ฟิตครับ ผมไม่ใช่นักกีฬา(หัวเราะ) แต่ยังวิ่งได้อยู่เพราะว่าผมเตะบอลมา 20-30 ปีแล้ว ขาผมยังแข็งอยู่ เคยเดินดอยมา 6 ปี ใช้ชีวิตบนดอยใช้เท้าเดินอย่างเดียวไม่มีรถ อันนั้นคือการสั่งสมพลังงานไว้ เตะบอลก็ 90 นาทีได้ แต่ก็ต้องเตะกับวัยเดียวกันนะครับวัยอาวุโสด้วยกัน ไม่ใช่ไปเตะวิ่งไล่ทีมชาติอะไรแบบนั้น (หัวเราะ)”

แสดงว่าเวทีนี้ เราจะมีโอกาสได้ฟังเพลงใหม่ๆ ที่น้าหงาแต่งไว้? “ครับ แต่ไม่ใช่ทุกเพลง ผมแต่ง 600- 700 เพลงแล้วครับ คงเล่นไม่หมดเวลาไม่พอแล้วผมก็จำเนื้อเพลงไม่ได้ด้วย”

ในยุคนี้มีเพลงหลากหลายแนวที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง แต่เพลงเพื่อชีวิตก็ฆ่าไม่ตาย ในฐานะครูเพลงเพื่อชีวิต รู้สึกยังไงและอยากแสดงความคิดเห็นยังไง? “ก็ดีครับ ผมอยากให้เป็นอย่างนี้มานานแล้ว เด็กๆ ตั้งแต่ที่เริ่มมีความรู้ในเรื่องแต่งเพลงเขียนหนังสืออะไรก็ได้ อยากจะให้เขาแต่งมาเยอะๆ แต่งสะท้อนยุคสมัยของเขาเอง แต่งในสิ่งที่เขาอยากจะพูดความในใจ อยากจะให้สังคมไทยเป็นอย่างนี้มานานแล้ว แต่ก่อนจะมีครูเพลงเขียนเพลงให้นักร้องไปร้องเพลง แต่ปัจจุบันนี้นักร้องเขียนเพลงได้ที่มีความสามารถอยากตะโกนความในใจออกมาได้ ยกเว้นแต่ว่าเราจะมาใช้เพลงเป็นอาวุธไปประหารใคร ไปด่าทอใคร ขออย่างเดียวแค่นั้นเอง”

สุดท้ายให้น้าหงาเชิญชวนไปชมคอนเสิร์ตในครั้งนี้? “วันอาทิตย์ ที่ 7 พฤษภาคม ที่จะถึงนี้ก็เจอกันแน่ครับ ที่หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน