แบงก์ชาติ ช่วยแค่พักหนี้ 2 เดือน ไม่บีบธนาคารลดดอกเบี้ยช่วยลูกค้า ย้ำต้องหารือให้รอบคอบ ระบุ ลูกหนี้ที่ยังมีกำลังจ่ายไหว ก็ขอให้ชำระตามปกติ

วันที่ 16 ก.ค.2564 นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า มาตรการพักชำระหนี้ 2 เดือน (ก.ค.-ส.ค.2564) เป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เร่งด่วน ไม่ใช่การดูแลลูกหนี้ในระยะยาว ที่ต้องดูแลการปรับโครงสร้างหนี้ ให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ รวมทั้ง เร่งสร้างรายได้ และเสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการ ลูกจ้าง จึงจะเป็นการแก้ปัญหาได้ยั่งยืนมากกว่า

“การพักหนี้ 2 เดือนเป็นการตอบโจทย์แก้ปัญหาในระยะสั้นเท่านั้น การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ทางการจะต้องเสริมรายได้ เสริมสภาพคล่อง และเร่งฉีดวัคซีนซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญ ที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ กลับมาสร้างรายได้โดยเร็วที่สุด” นายรณดล กล่าว

นายรณดล กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม การพักชำระหนี้ 2 เดือน เป็นเพียงการเลื่อนการชำระออกไป หมดเวลาก็ต้องจ่าย ลูกหนี้ยังต้องจ่ายเงินต้น ดอกเบี้ยในงวดท้าย หรือ เกลี่ยชำระในเงินงวดที่เหลือ ดังนั้นลูกหนี้รายที่ไม่ได้รับผลกระทบเดือดร้อน ยังมีกำลังจ่ายไหว ก็ขอให้ชำระตามปกติ ส่วนจะขยายเวลามากกว่า 2 เดือนหรือไม่ หากสถานการณ์ระบาดยังไม่คลี่คลาย ธปท.ขอประเมินสถานการณ์โดยรวมอย่างใกล้ชิด

นายรณดล กล่าวอีกว่า ส่วนแนวคิดของรัฐบาลที่ต้องการให้ลดภาระดอกเบี้ย โดยการปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยลง ในประเด็นนี้ ธปท.มองว่า ต้องคำนึงถึงหลายปัจจัย การลดดอกเบี้ย ไม่ได้ตอบโจทย์การลดภาระหนี้ให้กับลูกหนี้ และไม่ใช่เพียงแนวทางเดียวที่จะดูแลลูกหนี้ได้ ขณะเดียวกันยังส่งผลให้ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงิน และอาจจะต้องไปกู้นอกระบบ จึงต้องพิจารณาข้อดีข้อเสีย ให้รอบคอบ ซึ่งอยู่ระหว่างการหารือ

นายรณดล กล่าวว่า อย่างไรก็ดี ธปท.ได้กำชับไปยังสถาบันการเงินด้วยว่า หากเป็นลูกหนี้ในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากมาตรการล็อกดาวน์ของทางการนี้ ขอให้สถาบันการเงินพิจารณาให้ความช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว และลดขั้นตอนในการพิจารณาเอกสารต่าง ๆ ลง

ด้าน น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ธปท. กล่าวว่า สำหรับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากประกาศของทางการดังกล่าว ไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด 10 จังหวัด หรือนอกพื้นที่ควบคุม รวมทั้งลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบไม่ว่าจะเป็นทางตรง หรือทางอ้อม จะต้องเข้าไปลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ หรือแอพพลิเคชั่นของสถาบันการเงินที่จะขอรับความช่วยเหลือ ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค. – 15 ส.ค.นี้

อย่างไรก็ดี การที่สถาบันการเงินพักชำระหนี้ให้เป็นเวลา 2 เดือนในงวด ก.ค.-ส.ค.2564 นั้น เป็นการให้ลูกหนี้ไม่ต้องชำระเงินต้น และดอกเบี้ยให้แก่สถาบันการเงินในระยะเวลาดังกล่าว ซึ่งสถาบันการเงินต้องห้ามไปเรียกเก็บเงินต้นและดอกเบี้ยจากลูกหนี้ในเดือนที่ 3 ทันที แต่ให้ทยอยเรียกเก็บ หรือเรียกเก็บในช่วงท้ายของสัญญา

น.ส.สุวรรณี กล่าวด้วยว่า พร้อมยืนยันว่า การพักชำระหนี้ 2 เดือนนี้ จะไม่ถือว่าลูกหนี้มีสถานะผิดนัดชำระหนี้ และไม่เป็นหนี้ค้างชำระในเครดิตบูโรแต่อย่างใด ซึ่งสถาบันการเงินจะไม่สามารถเรียกเก็บดอกเบี้ยในการผิดนัดชำระหนี้ได้ เพราะยังถือว่าเป็นหนี้ดีอยู่

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 15 ก.ค.64 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมาคมธนาคารไทย และ สมาคมธนาคารนานาชาติ ตระหนักถึงความเดือดร้อนของลูกหนี้และเห็นความจำเป็นเร่งด่วนในการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินเพิ่มเติม ให้แก่ลูกจ้างและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบให้ตรงจุดและทันการณ์

น.ส.สุวรรณี กล่าวอีกว่า จึงเห็นร่วมกันที่จะออกมาตรการเร่งด่วนด้วยการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่ลูกหนี้ SMEs และรายย่อย เป็นระยะเวลา 2 เดือน ให้กับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง คือ ลูกหนี้ทั้งที่เป็นนายจ้างและลูกจ้างในสถานประกอบการ ทั้งในพื้นที่ควบคุมฯ และนอกพื้นที่ควบคุมฯ ที่ต้องปิดกิจการจากมาตรการของทางการ เริ่มตั้งแต่งวดการชำระหนี้เดือนก.ค. 2564 เป็นต้นไป

“ทั้งนี้ เมื่อหมดระยะเวลาพักชำระหนี้แล้ว สถาบันการเงินจะไม่เรียกเก็บเงินต้นและดอกเบี้ยที่ค้างอยู่ในทันที เพื่อไม่ให้เป็นภาระหนักกับลูกหนี้ สำหรับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบโดยอ้อม คือ ลูกหนี้ที่ยังเปิดกิจการได้ แต่รายได้ลดลงจากมาตรการควบคุมการระบาดของภาครัฐ สถาบันการเงินจะพิจารณาให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้ตามความจำเป็นและสอดคล้องกับสถานการณ์ของลูกหนี้” น.ส.สุวรรณี กล่าว

น.ส.สุวรรณี กล่าวว่า การให้ความช่วยเหลือตามแนวทางดังกล่าว ลูกหนี้สามารถติดต่อกับสถาบันการเงินเจ้าหนี้ เพื่อแสดงความประสงค์ขอรับความช่วยเหลือได้ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค. ทั้งนี้ หากลูกหนี้สามารถให้ข้อมูลหลักฐานที่ชัดเจนถึงผลกระทบของกิจการหรือการจ้างงาน จะทำให้การพิจารณาให้ความช่วยเหลือโดยเจ้าหนี้สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว การพักชำระหนี้ภายใต้มาตรการนี้ เป็นการให้ความช่วยเหลือขั้นต่ำ สถาบันการเงินสามารถช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงได้มากขึ้นตามความเหมาะสม

ธปท. และทุกสมาคมฯ รวมถึงสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ จะร่วมกันเร่งรัดและผลักดันการให้ความช่วยเหลือจากมาตรการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง รวมทั้ง ธปท. ได้ขอให้ผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่สถาบันการเงิน (nonbank) ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ไปพร้อมกัน เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบให้ได้มากที่สุด


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน