ค้นปมชาวบ้านรอบอช.ศรีน่าน ส่งคืนผืนป่าให้รัฐ3,000กว่าไร่

รายงานพิเศษ

 

ค้นปมชาวบ้านรอบอช.ศรีน่าน ส่งคืนผืนป่าให้รัฐ3,000กว่าไร่ – “แต่ก่อนชาวบ้านรอบๆ อุทยานโกรธและเกลียดพวกใส่ชุดพราง ไม่ชอบเจ้าหน้าที่อุทยานเลย มองว่าพวกเราเป็นศตรู เพราะในอดีตเจ้าหน้าที่ไปจับเขาเข้าคุกในข้อหาบุกรุกป่า แต่เดี๋ยวนี้เขารักและเข้าใจพวกผม พร้อมคืนผืนป่าให้อุทยาน3พันกว่าไร่

ทั้งยังได้จัดพิธีบายศรีสู่ขวัญในโอกาสที่ฝายถาวรสร้างเสร็จเรียบร้อย “นายบัณฑิต ฉิมชาติ (หัวหน้าอุทยานแห่งชาติศรีน่าน จ.น่าน) กล่าวตอนหนึ่งหลังจาก พระชายกลาง อภิญาโณ ประธานมูลนิธิสหชาติ และคณะ นำชุดลายพรางและอุปกรณ์ต่างๆ ในการเดินป่ามามอบให้เจ้าหน้าที่อุทยาน เมื่อไม่นานมานี้ที่ทำการอุทยานศรีน่าน

นายบัณฑิตเล่าว่า อุทยานศรีน่านมีเนื้อที่ 640,000 กว่าไร่ ที่ผ่านมาต้องบริหารจัดการคน 2 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นพวกที่มีอาวุธสงคราม เป็นคนเลวที่ทำลายทรัพยา กรธรรมชาติของประเทศ ที่นี่ตัวอ้นเป็นสัตว์ที่มีออร์เดอร์จำนวนมาก และเคยมีนายทุนเสนอเงินให้เจ้าหน้าที่เป็นตัวเลขถึง 7 หลัก แต่ก็ไม่มีใครรับสินบนเหล่านั้น

ส่วนอีกกลุ่มเป็นชาวบ้านที่บุกรุกป่าเพื่อทำมาหากินมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย ดังนั้นจึงต้องดูแลคนพวกนี้เหมือนพี่น้อง ไม่ใช่ไปไล่จับ โดยได้อธิบายให้เห็นความสำคัญของผืนป่า ซึ่งเป็นต้นน้ำและไหลไปสู่แม่น้ำเจ้าพระยา

ขณะเดียวกันต้องให้ชาวบ้านมีข้าวกินและอยู่ได้โดยไม่เป็นหนี้ เพราะการที่ชาวบ้านปลูกข้าวโพดแต่ยังต้องเสียเงินไปซื้อข้าวกินและยังเป็นหนี้ด้วย ตอนนี้จากผู้บุกรุกกลายเป็นผู้พิทักษ์ป่าแล้ว

เกษตรกรปรับที่ดินเพื่อทำ”โคกหนองนาโมเดล”

สิ่งที่ทำก็คือใช้ศาสตร์พระราชา เรื่องการเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา พูดให้ชาวบ้านฟังเรื่องที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำรัสทั้งเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และโครงการป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง รวมทั้งส่งผู้นำชุมชนและชาวบ้านที่สนใจเข้ารับการอบรมเรื่องโครงการโคกหนองนาโมเดลของพระองค์ท่าน เพราะถ้าทำแบบนี้ชาวบ้านจะมีข้าวกินแน่นอน

ฝายที่บ้านวนาไพร

สำหรับหลักการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง เป็นแนวคิดการผสมผสานการอนุรักษ์ ดิน น้ำ และการฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ ควบคู่กับความต้องการด้านเศรษฐกิจ ด้วยการจำแนกป่า 3 อย่าง ดังนี้

1. ป่าไม้ใช้สอย คือ ไม้โตเร็ว สำหรับใช้ในครัวเรือน เช่น สะเดา ไม้ไผ่ 2. ป่าไม้กินได้ คือ ไม้ผล เช่น มะม่วง และผักกินใบต่างๆ 3. ป่าไม้เศรษฐกิจ คือ ไม้ที่ปลูกไว้ขาย หรือไม้เศรษฐกิจ เช่น ไม้สัก

บัณฑิต ฉิมชาติ

นายบัณฑิต บอกว่าปัจจุบันมีผู้นำชุมชนและชาวบ้าน รอบๆ อุทยานเข้าร่วมโครงการทำเกษตรแบบโคกหนองนาโมเดลจำนวน 600 กว่าราย และมีประมาณ 70 รายที่เริ่มทำแล้ว โดยชาวบ้านทั้ง 70 รายนี้ได้ไปศึกษาอบรมเรียนรู้ที่มูลนิธิกสิกรรมบ้านเอื้อง จ.ชลบุรี และกลับมาทำขุดนา ขุดโคก ขุดหนอง ตามศาสตร์พระราชา จนมีข้าวกินทั้งปี และมีพืชผักผลผลิตสามารถขายได้ ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น

จากเมื่อก่อนเปิดป่าใช้สารเคมีและปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยใช้เวลา4เดือนแค่นั้นในฤดูฝนประมาณเดือนพ.ค.ถึงส.ค. ว่างอยู่ 8 เดือน แต่พอมาเข้าโครงการสามารถมีความมั่นคงทางอาหารได้ทั้งปี

โดยไม่ต้องซื้อหา ปลูกพืชผักสวนครัว และมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่ง ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร หรือ อาจารย์ยักษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เคยเข้ามาเยี่ยมเยียนเกษตรกรกลุ่มนี้ในพื้นที่แล้ว พร้อมชื่นชมและให้กำลังใจ

นอกจากจะทำความเข้าใจกับชาวบ้านเรื่องความสำคัญของป่าไม้แล้ว นายบัณฑิตยังได้ขอความช่วยเหลือจากองค์กรต่างๆ เช่นมูลนิธิสหชาติ ซึ่งพระชายกลางกับคณะได้รวบรวมเงินบริจาคจากผู้ใจบุญนำเงินเหล่านั้นมาซื้อวัสดุอปกรณ์ในการทำฝายเก็บกักน้ำไว้ใช้ ทั้งที่บ้านวนาไพร ต.น้ำมวบ อ.เวียงสา และบ้านห้วยเลา ต.เชียงของ อ.นาน้อย

พระชายกลาง อภิญาโณ กับเจ้าหน้าที่อุทยานฯ

ด้านพระชายกลางแจกแจงว่า มูลนิธิสหชาติมีเจตนารมณ์ในการพลิกฟื้นคืน ผืนป่าให้แผ่นดินโดยเลือกพื้นที่คนอยู่กับป่าในอุทยานแห่งชาติศรีน่าน คือบ้านวนาไพร และบ้านท้ายเลา ในการสร้างฝายกึ่งถาวรกักเก็บน้ำ และแจกจ่ายน้ำไปยังพื้นที่ เพาะปลูก เพราะมูลนิธิเห็นว่า เมื่อชาวบ้านสร้างผลผลิตพอมีกินได้จะสามารถลดพื้นที่บุกรุกป่าได้ และจะกลายมาเป็นผู้พิทักษ์ป่าในที่สุด

ซึ่งได้มอบฝายให้กับหมู่บ้านวนาไพรไปเรียบร้อยแล้ว และจะมอบฝายให้บ้านห้วยเลาในวันที่ 1 พ.ค.นี้ โดยพื้นที่ทั้งสองแห่งใช้หลัก “โคกหนองนาโมเดล” ตามศาสตร์พระราชา

ทีนี้มาฟังความเห็นของคนในพื้นที่กันบ้าง นายติ่ง แสนขัน อดีตผู้ใหญ่บ้าน บ้านวนาไพร กล่าวถึงการที่มูลนิธิสหชาติและทางอุทยานศรีน่านเข้ามาช่วยสนับสนุนงบประมาณในการสร้างฝายถาวรว่า ความจริงทางหมู่บ้านเคยขอน้ำประปาภูเขาและขอสร้างฝายจากหลายหน่วยงานมาตั้งแต่ปี 2535 แล้ว

แต่ไม่มีหน่วยงานไหนทำให้ จึงรู้สึกดีใจเป็นอย่างมากที่ได้ฝายครั้งนี้ จะทำให้ชาวบ้านมีน้ำไว้ใช้ทำการเกษตร ไม่ต้องขึ้นไปปลูกข้าวโพดบนภูเขาในเขตอุทยาน และชาวบ้านได้คืนผืนป่าให้กับอุทยานไปแล้วกว่า 3 พันไร่

ในการทำฝายถาวรดังกล่าว ชาวบ้านในหมู่บ้านหลายสิบคนได้ช่วยกันทำ และเพิ่งเสร็จเมื่อไม่นานมานี้ ใช้เวลาทำประมาณ 3 สัปดาห์ ในงบประมาณค่าวัสดุอุปกรณ์ 8 หมื่นกว่าบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการทำระบบท่อเพื่อส่งไปในแปลงเกษตร

ติ่ง แสนขัน

นายติ่งบอกด้วยว่า ชาวบ้านในเขตรอบๆ อุทยาน ส่วนใหญ่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในช่วงหน้าฝน โดยมีที่ดินในเขตอุทยานครอบครัวละ 20-30 ไร่ ปีหนึ่งปลูกได้ครั้งเดียว จะได้เงินประมาณแสนกว่าบาท แต่ก็มีค่าใช้จ่ายต่างๆ และต้องใช้หนี้ที่เป็นหนี้กองทุนหมู่บ้านและธ.ก.ส.กัน ทุกครัวเรือน เฉลี่ยครอบครัวละ 8 หมื่นบาท ทั้งยังต้องซื้อข้าวกิน หลังจากสร้างฝายเสร็จชาวบ้านอยากจะขอบคุณทางมูลนิธิสหชาติและอุทยานฯ ศรีน่านที่เข้ามาช่วยเหลือ จึงได้จัดพิธีบายศรีสู่ขวัญ

ชาวบ้านทำพิธีบายศรีสู่ขวัญ

“ตอนที่ผมเป็นผู้ใหญ่บ้านผมได้บอกให้ชาวบ้านออกมาจากป่าตั้งนานแล้ว เพราะถ้ายังทำกินในป่าจะถูกจับ ซึ่งก็มีหลายคนถูกจับและเสียเงินไปเป็นแสน ตอนนี้เมื่อมีฝายมีน้ำชาวบ้านก็จะได้มาปลูกพืชข้างล่าง ใกล้ๆแหล่งน้ำ ไม่ต้องไปปลูกข้าวโพดบนภูเขาอีกต่อไป”

วันรับมอบฝาย

หลังจากนี้คงต้องติดตามกันต่อไปว่าเมื่อไหร่ชาวบ้านรอบๆ อุทยานฯศรีน่านจะสามารถปลดหนี้ปลดสิน และมีกินมีใช้อย่างสบายๆ แต่ ณ ตอนนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วก็คือคนในบ้านวนาไพรและบ้านห้วยเลา มีน้ำใช้ทำการเกษตร และพวกเขาได้คืนพื้นที่ป่าให้กับอุทยานเรียบร้อยแล้ว

ภาวิณีย์ เจริญยิ่ง

อ่านข่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน