กลุ่มเลี้ยงผึ้ง‘บ้านตาขุน’ – หลายปีมานี้เกษตรกรไทยจำนวนไม่น้อยมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เพราะนอกจากจะปลูกพืชผักผลไม้เป็นอาชีพหลักแล้ว ยังทำอาชีพเสริมเพื่อหารายได้พิเศษในช่วงที่ผลผลิตยังไม่ได้ออกสู่ตลาด

กลุ่มเลี้ยงผึ้งโพรงพรุไทย ฮันนี่บี ต.พรุไทย อ.บ้านตาขุน จ.สุราษฎร์ธานี ที่มี คุณอินทรโชติ สุชาติ เป็นประธาน ก็เป็นเกษตรกรอีกกลุ่มที่เลี้ยงผึ้งเป็นอาชีพเสริม โดยมีอาชีพหลักคือทำสวนยางพารา และสวนปาล์ม

คุณอินทรโชติเล่าว่า รวมกลุ่มกันเมื่อปี 2560 มีสมาชิก 37 คน โดยเลี้ยงผึ้งโพรงไทย ซึ่งเป็นผึ้งที่ดุ เกษตรกรแต่ละคนจะเลี้ยงผึ้งประมาณ 40 กล่อง สร้างรายได้เสริมให้กับครอบครัวไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นบาทต่อเดือน มีรายได้ปีละแสนกว่าบาท ซึ่งเป็นรายได้ที่ทำให้เกษตรกรเลี้ยงครอบครัวได้ในช่วงโรคโควิด-19 แพร่ระบาด โดยเน้นขายในประเทศทางออนไลน์ ส่วนหนึ่งส่งออกไปขายต่างประเทศด้วย อย่างเช่น ที่ประเทศจีน และมาเลเซีย เป็นต้น สามารถทำรายได้มากกว่าการทำสวนยางพารา และสวนปาล์มถึง 40%

สำหรับเหตุผลที่กลุ่มมาเลี้ยงผึ้งนั้น เริ่มจากการประชุมของศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีประจำหมู่บ้าน ซึ่งตนเสนอโครงการนี้เข้าไปในระดับอำเภอ ปรากฏว่าทางอำเภอเห็นด้วย จากนั้นไปดูงานกันที่ศูนย์แมลงเศรษฐกิจ จ.ชุมพร พอกลับมาก็เริ่มเลี้ยงกันเรื่อยๆ

จนถึงทุกวันนี้ จากเดิมเลี้ยงกันคนละ 10 กว่าลัง ปัจจุบันในกลุ่มมีประมาณ 800 ลัง โดยตนเองเลี้ยงในจำนวนมากที่สุดประมาณ 100 ลัง

คุณอินทรโชติให้ข้อมูลว่า การเลี้ยงผึ้งโพรงใช้ทุนไม่มาก เพราะนำไม้จากในชุมชนมาประกอบทำลังเอง ใช้วิธีทำงานกันเป็นทีม ตอนนี้ประกอบรังอยู่ที่บ้านของสมาชิกอีกประมาณ 300 ลัง จากที่มีประมาณ 800 ลัง จะเพิ่มอีกเรื่อยๆ เนื่องจากต้องการให้สมาชิกได้คนละประมาณ 100 ลัง เพราะน้ำผึ้งที่ผลิตได้ยังมีไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด เนื่องจากสมาชิกบางรายมีแค่ 20 ลังเท่านั้น

“เดิมนั้นผมเองมีแค่ 15 ลัง ตอนนี้มี 100 ลัง ลงทุนไม่เกิน 5,000 บาท เพราะไม้ก็ใช้ที่มีอยู่ในชุมชน ลงทุนแต่พวกตะปู อุปกรณ์ต่างๆ รายได้จากตอนแรกประมาณ 15,000 บาท ตอนนี้ได้ประมาณ 1 แสนต่อปี เฉลี่ยแล้วมีรายได้ลังละ 1,000 บาท ต่อไปในส่วนของผมเองตั้งเป้าว่าจะเพิ่มอีกประมาณ 200 รัง”

ประธานกลุ่มเลี้ยงผึ้งโพรงพรุไทยฮันนี่บีอธิบายถึงกระบวนการเลี้ยงผึ้งว่า เริ่มจากนำลังไม้ไปวาง แล้วใช้ไขผึ้งทาด้านในจากนั้นลนไฟให้ไขผึ้งซึม ก่อนนำไปวางในสวนที่มีผึ้งและแหล่งอาหารสมบูรณ์ จากนั้นผึ้งจะเข้ามาอยู่เอง การดูแลต้องคอยป้องกันเรื่องมดแดงอย่างเดียว โดยใช้น้ำมันเครื่องที่เหลือใช้ชุบผ้าแล้วนำไปวางที่โคนหลักหรือเสาที่นำลังไปตั้งไว้ด้านบนเพื่อป้องกันมด

ทั้งนี้น้ำผึ้งในต.พรุไทย มีจุดเด่นที่แตกต่างจากแหล่งอื่น คือพื้นที่นี้มีความหลากหลายทางธรรมชาติ เนื่องจากเป็นแหล่งปลูกผลไม้และสมุนไพรพื้นบ้าน อีกอย่างแถวนี้เป็นสวนโบราณ รสชาติดีกว่าที่อื่น เช่น ที่เชียงใหม่จะมีรสชาติของลำไยอย่างเดียว

แต่ที่นี่น้ำผึ้งรสชาติจะอร่อยกว่า มีรสชาติหลากหลาย ที่สำคัญไม่ให้อาหาร จะให้ผึ้งไปหาเองตามธรรมชาติ น้ำผึ้งของกลุ่มเป็นอินทรีย์ 100% ส่วนใหญ่ผึ้งกินดอกไม้ตามธรรมชาติ เช่น ดอกมะพร้าว ดอกทุเรียน ดอกเงาะ และสมุนไพรตามสวน

ในการเก็บน้ำผึ้งทางกลุ่มเก็บปีละครั้ง ตั้งแต่ มี.ค. เม.ย. และพ.ค. หลังจากนั้นนำเข้าฟรีซแช่แข็งไว้ทยอยขายเรื่อยๆ ผึ้ง 1 ลัง ให้น้ำหวานประมาณ 8-15 กิโลกรัม (ก.ก.) ต่อปี

ที่ผ่านมาทางกลุ่มเน้นการขายออนไลน์ 100% ผ่านเพจของ พรุไทย honey bee ซึ่งมีลูกค้าจากทั่วประเทศ ขายขวดละ 350 บาท ขนาด 750 ม.ล. ช่วงโปรโมชั่น 3 ขวด 1,000 บาท ขนาด 200 ม.ล.

ราคาขวดละ 150 บาท หากมีลูกค้าสั่งก็ตัดขายใส่กล่องให้ คิดค่าส่งกล่องละ 100 บาท

อย่างไรก็ตามบางช่วงอย่างช่วงหน้าฝน ทางกลุ่มงดขายรวงผึ้งสดและตัวอ่อนผึ้ง เนื่องจากผึ้งหากินอาหารยาก และผึ้งขาดแหล่งอาหาร ทำให้ผึ้งผลิตน้ำผึ้งช้ากว่าปกติ เพราะทางกลุ่มเลี้ยงผึ้งโดยการให้ผึ้งหาอาหารเองตามธรรมชาติ ไม่มีการให้อาหาร

ในการรวมกลุ่มกันเลี้ยงผึ้งของกลุ่มนี้ ได้รับการส่งเสริมจากหลายหน่วยงาน อย่างวันก่อน นายสุทธิพงษ์ คล้ายอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ก็ได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมกลุ่มเกษตรกร ผู้เลี้ยงผึ้งโพรงพรุไทยฮันนี่บี เพื่อร่วมหาแนวทางการสนับสนุนการเลี้ยงผึ้งเป็นอาชีพเสริม พัฒนาความรู้ด้านการเลี้ยงผึ้ง การแปรรูปผลิตภัณฑ์ออกแบบบรรจุภัณฑ์ ตลอดจนหารือช่องทางการขยายตลาด เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าของเกษตร

คุณอินทรโชติบอกว่า การเลี้ยงผึ้งให้ได้คุณภาพนั้น ต้องปลูกต้นไม้ไว้เป็นอาหารสำหรับผึ้ง ถ้าเลี้ยงจำนวนมาก ต้องมีอาหารให้เยอะให้เพียงพอ ตนเองเสนอให้มีการปลูกกาแฟ เพื่อให้ผึ้งไปกินดอก ส่วนผลกาแฟก็ขายได้ด้วย

นอกจากนี้ได้เสนอทำโครงการแปลงใหญ่ เพื่อจะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ซึ่งถ้าโครงการที่เสนอไปผ่าน จะนำเงินมา สร้างโรงบรรจุภัณฑ์ และทำเป็นศูนย์การเรียนรู้แบบครบวงจร

นับเป็นกลุ่มเกษตรกรอีกกลุ่มที่น่ายกย่อง เพราะนอกจากขยันขันแข็งในการหารายได้เสริม ยังศึกษาหาความรู้ต่อยอดอาชีพเกษตรกรรม พร้อมใช้ช่องทางโซเชี่ยลมีเดียในการทำตลาดด้วย

ภาวิณีย์ เจริญยิ่ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน