หากเห็นความหน้าชื่นตาบานของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อเดินทางไปในกระบวนการ”ครม.สัญจร” ก็เหมือนกับว่าคสช.กำลัง อยู่ในจุดครองความได้เปรียบในทางการเมือง

เพราะว่า “ประชาชน” ก็ออกมาตั้งแถวต้อนรับพร้อมกับเปล่งเสียงให้กำลังใจ

มีแต่คนอยากให้อยู่นานๆ ไม่เรียกร้องเรื่อง”การเลือกตั้ง”

แต่พลันที่เดินเข้าทำเนียบรัฐบาลและประสบเข้ากับกองทัพนักข่าวไม่ว่าคนไทยหรือต่างประเทศ

คำถามยอดฮิตที่สุด คือ เรื่อง”การเลือกตั้ง”

ยิ่งเมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดธงไว้ที่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 คำถามยิ่งรุกกระหน่ำเข้ามาโดยรอบ

อาการวิกสิตแย้มบานก็กลับกลายเป็นความหงุดหงิดทันที

ไม่ว่า นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ที่เข้าสู่สนามการเมืองตั้งแต่ยุค พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ย่อมมองออก

แม้กระทั่ง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็มองทะลุ

เพราะว่าผ่านการเมืองยุคหลังรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2534 และร่วมอยู่ในสถานการณ์นองเลือดเมื่อเดือน พฤษภาคม 2535

ไม่ว่า นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ไม่ว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จึงอ่าน “สถานการณ์” ได้แจ้งแทงตลอด

รับรู้ใน “ปัญหา” ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องประสบ

เป็นปัญหาอย่างเดียวกับที่ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ประสบมาแล้วหลังการเลือกตั้งเดือนมีนาคม 2535

เป็นปัญหาที่คนอย่าง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ วิเคราะห์เจนจบ และ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เก็บรับมาเป็นบทเรียนหลังรัฐประหารเดือนกันยายน 2549

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังไม่เข้าใจ

ทุกอย่างกำลังดำเนินไปเหมือนกับที่ไม่ว่าพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่า พรรคชาติไทยพัฒนา ไม่ว่าพรรคเพื่อไทย

ล้วนเคย”เตือน”มาแล้วด้วยความกังวล

นั่นก็คือ ปัญหาไม่เพียงแต่จะปะทุขึ้นก่อน”เลือกตั้ง”เท่านั้นหากภายหลัง”เลือกตั้ง”ก็จะยิ่งรุนแรง แหลมคม ยิ่งขึ้น เนื่องแต่แนวคิดในเรื่องสืบทอดอำนาจ

ผ่านรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ของ นายมีชัย ฤชุพันธุ์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน