ปฏิทินเลือกตั้ง ทำไม่ได้-ว่ากันอีกที

ปฏิทินเลือกตั้ง – เปิดตัวได้ครึกโครมสำหรับคณะกรรมการ การเลือกตั้ง (กกต.) ชุดใหม่ ที่มี นายอิทธิพร บุญประคอง เป็นประธาน

ในการประชุมผู้บริหารและผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำจังหวัดทั่วประเทศครั้งแรก เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการดำเนินการจัดการเลือกตั้งส.ส.และเลือกส.ว.

นายอิทธิพร ให้คาถาการทำงาน กกต.ว่า ต้องเข้มแข็งใน 4 เรื่องคือ เอกภาพ คุณภาพ คุณธรรม และคุณค่า

การทำงานต้องยึดหลักปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรม ซื่อสัตย์สุจริต กล้าหาญ ไม่อยู่ภายใต้การครอบงำ ปราศจากอคติ โดยเฉพาะความกล้าหาญและสุจริตจะเป็นเกราะคุ้มครอง กกต.

นอกจากนี้ การที่สำนักงาน กกต. นำเสนอร่างแผนปฏิบัติการตามภารกิจให้ได้มาซึ่งส.ว. และการเลือกตั้งส.ส. รายงานให้กกต.ใหม่รับทราบ ตามปฏิทินที่ว่า

หากพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว.มีผลบังคับใช้ ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 13 กันยายนนี้ จะมีผลใช้บังคับทันทีในวันที่ 14 กันยายน กกต.จึงต้องเตรียมออกระเบียบต่างๆ เพื่อรับสมัครส.ว.

จากนั้นจะมีพระราชกฤษฎีกาเลือกส.ว. ซึ่งกกต.กับรัฐบาลจะประสานกันในเรื่องวันเวลาการเลือก และอาจจะประกาศผลการได้มาซึ่งส.ว. ได้ในวันที่ 22 มกราคม 2562

ส่วนการเลือกตั้งส.ส. คาดว่าจะมีประกาศพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งในวันที่ 4 มกราคม 2562 และจะมีการเลือกตั้งส.ส.วันที่ 24 กุมภาพันธ์

ทำเอาบรรดานักการเมืองหูผึ่งไปตามๆ กัน

จากปฏิทิน กกต. ที่ปักหมุดเลือกตั้งไว้วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562

หมายความว่าต่อจากนี้ไปอีก 6 เดือนก็จะถึงวันที่ประชาชนทั้งประเทศเฝ้ารอคอยมานาน 8 ปี

นับจากการเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 ที่ได้รัฐบาล “แม่ปู” ของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีต นายกฯ เข้ามาบริหารประเทศ ถึงมีการยุบสภา จัดเลือกตั้งอีกครั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 แต่ก็ถูกสั่งให้เป็นโมฆะ

ก่อนเกิดรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลจากการเลือกตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 จัดตั้งรัฐบาล “พ่อปู” เข้าบริหารประเทศ จนถึงปัจจุบันผ่านมา 4 ปี เข้าสู่ปีที่ 5

ระหว่างนั้นได้เกิดอภินิหาร ทำให้โรดแม็ปเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไปหลายครั้งหลายครา ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์หนาหูว่า ผู้มีอำนาจจากการรัฐประหาร มีแนวโน้มต้องการอยู่ในอำนาจต่อไป

ส่วนด้วยวิธีใดนั้น ยังไม่เป็นที่รู้ชัด

เมื่อเร็วๆ นี้ ระหว่างลงพื้นที่ตรวจงานด้านคมนาคมแบบครบวงจรล้อ-ราง-เรือ ของกรุงเทพ มหานคร รวมถึงการจัดประชุมครม.สัญจรพื้นที่ภาคใต้ตอนบน ชุมพร-ระนอง

มีประชาชนกล่าวยกย่อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนักต่อสู้ผู้ยิ่งใหญ่ อยากให้อยู่ในตำแหน่งนายกฯ ต่อไป บางคนถึงขนาดบอกว่าไม่ต้องการให้มีเลือกตั้งด้วยซ้ำไป

แต่ก็มีบางเสียงเช่นกันที่บอกว่า จะลงคะแนนเลือกพล.อ.ประยุทธ์ หากตัดสินใจลงเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์เคยกล่าวกับสื่อไว้ว่า พร้อมจะประกาศความชัดเจนทางการเมืองในส่วนของตนเองช่วงเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ ว่าจะเข้าสังกัดพรรคการเมืองใด หรือไม่

แต่ที่แน่ๆ จะไม่ลงรับเลือกตั้ง

ส่วนจะมาช่องทางใด อย่างไร ต้องไปดูรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ ภายหลัง กกต.ประกาศปฏิทินเลือกตั้ง 24 กุมภาพันธ์ 2562 ก็ได้เกิดปฏิกิริยาตอบสนองแตกต่างกันระหว่างฝ่ายรัฐบาลคสช. กับฝ่ายพรรคการเมือง

ในซีกฝ่ายรัฐบาลคสช. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ กล่าวถึงการเลือกตั้งว่า จะยังยึดโรดแม็ปเดิมในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ไปก่อนตามที่เคยพูดไว้

“ถ้าทำไม่ได้ ค่อยว่ากันอีกที”

นอกจากนี้ในเดือนกันยายน คสช.ยังมีแผนออกมาตรการ “คลายล็อก” ให้พรรคการเมืองเคลื่อนไหวได้ในบางเรื่อง รวมถึงการหารือตัวแทนพรรคและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรอบสอง ก็จะมีขึ้นในเดือน ดังกล่าวเช่นกัน

แม้ในเบื้องต้น นายกฯ จะแสดงท่าทีสอดคล้องกับปฏิทินเลือกตั้งของ กกต. แต่การพูดทิ้งปมไว้ตอนท้าย “ถ้าทำไม่ได้ ค่อยว่ากันอีกที”

ด้านหนึ่งเท่ากับชี้ให้เห็นว่าทุกอย่างยังอยู่บนความไม่แน่นอนต่อไป

เช่นเดียวกับที่ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกรัฐบาล ระบุ โรดแม็ปเลือกตั้ง 24 กุมภาพันธ์ 2562 เป็นการพูดตามทฤษฎี แต่ในสถานการณ์ปัจจุบัน ยังต้องดูปัจจัยอื่นประกอบด้วย

จนเกิดการตั้งข้อสังเกตจากฝ่ายการเมืองว่า

ทุกครั้งที่มีสัญญาณการเลือกตั้งชัดๆ เมื่อใด ทั้งแกนนำและเครือข่ายผู้มีอำนาจก็จะท่องคาถาเดียวกันตลอด คือถ้าจะเลือกตั้งบ้านเมืองต้องสงบ

ถ้าไม่สงบ ก็เลือกตั้งไม่ได้

ล่าสุดจากการหารือร่วมระหว่าง นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมาย กับกกต. ชุดใหม่ ได้ข้อสรุปว่า

จะมีการเสนอต่อที่ประชุมคสช. ในวันที่ 28 สิงหาคม ใช้อำนาจมาตรา 44 “คลายล็อก” คำสั่ง คสช. 53/2560 เพื่อให้พรรคการเมืองทำกิจกรรม ได้บางอย่าง

ไม่ว่าจัดประชุมใหญ่พรรค รับสมัครสมาชิกพรรค ให้ความเห็นแบ่งเขตเลือกตั้ง ดำเนินการเกี่ยวกับไพรมารีโหวต ตั้งกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ติดต่อประสานงานกับสมาชิก เป็นต้น

โดยจะยังไม่ “ปลดล็อก” ให้หาเสียงเลือกตั้ง

ทั้งนี้ สิ่งที่เป็นเครื่องยืนยันว่า คำสั่งคสช. 53/2560 เป็นอุปสรรคสำคัญต่อพรรคการเมือง ในการเตรียมตัวลงสนามเลือกตั้ง และความได้เปรียบเสียเปรียบ ระหว่างพรรคเดิมกับพรรคจัดตั้งใหม่

คือคำพูดของกกต. ที่กล่าวถึงการทำไพรมารีโหวต ซึ่งมีหลักการอยู่ว่า พรรคที่มีสิทธิส่ง ผู้สมัครจะแตกต่างกัน พรรคเก่าต้องมีอย่างน้อย 4 สาขา แต่พรรคใหม่ส่งได้เลย

วันนี้พรรคเดิมมี 69 พรรค พรรคจดแจ้งใหม่ 117 พรรค รับจดทะเบียนแล้ว 4 พรรค

ทุกวันนี้ไม่มีพรรคใดมีสาขาพรรค เนื่องจากถูกเซ็ตซีโร่ แต่ละพรรคต้องไปหาสมาชิกเพื่อ จัดตั้งสาขาพรรค หรือตัวแทนประจำจังหวัด เพื่อทำไพรมารีโหวต

แต่ยังไม่สามารถหาสมาชิกพรรคได้ เพราะติดคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 แม้จะมีคำขออนุญาตหา สมาชิกจากพรรคการเมืองกว่า 100 ฉบับ ที่กกต.ส่งไปยังคสช.

แต่ก็ขึ้นอยู่กับคสช.จะพิจารณา

รวมถึงกรณีการเคลื่อนไหวของกลุ่มสามมิตร ที่เดินสายชักชวนอดีตส.ส.เข้าร่วมงานกับกลุ่ม เพื่อเป็นฐานสนับสนุนสืบทอดอำนาจหลังการเลือกตั้ง

ที่เลขาฯกกต. กล่าวว่า ตราบใดที่ยังไม่มีการคลายล็อก คำสั่งคสช.ที่ 53/2560 กกต.ก็ไม่สามารถดำเนินการตรวจสอบกลุ่มการเมืองที่เคลื่อนไหวอยู่ในขณะนี้ได้

จากสถานการณ์ที่เห็นและเป็นอยู่ นำมาสู่บทสรุปได้ว่า

ปฏิทินเลือกตั้งของ กกต. ที่กำหนดไว้วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 แท้ที่จริงไม่ใช่การปักหมุดใหม่แต่อย่างใด แต่เป็นการตีเส้นให้ชัดเจนจากโรดแม็ปของคสช.และรัฐบาล

ที่เคยกำหนดไว้ 4 ช่วงเวลาในปี 2562 ได้แก่ วันที่ 24 กุมภาพันธ์, 31 มีนาคม, 28 เมษายน และอย่างช้าที่สุดคือวันที่ 5 พฤษภาคม

ขณะที่พรรคการเมืองมองว่า ถึงการประกาศปฏิทินเลือกตั้งของ กกต. จะถือเป็นเจตนาดี ที่ต้องการให้กระบวนการทุกอย่างมีความชัดเจนมากขึ้น

ถึงกระนั้นก็ยังเล็งเห็นสัญญาณบางอย่างจากฝ่ายผู้มีอำนาจ ที่ยังคงต้องการยื้อเวลาออกไป ส่วนจะด้วยเหตุผลไม่มั่นใจว่าหากปล่อยให้มีการเลือกตั้งแล้ว จะชนะได้กลับมาครองอำนาจต่อ หรือด้วยเหตุผลอื่นใด ก็ยากคาดเดา

และถึงจะมีสัญญาณดีเรื่องคลายล็อก แต่หากยังไม่มีการ “ปลดล็อก” เบ็ดเสร็จ

หมุดหมายเลือกตั้ง 24 กุมภาพันธ์ 2562 ก็ยังเป็นความแน่นอน บนความไม่แน่นอน

ยังคงเลี้ยวลดไปมาได้ เหมือนการเดินของ“พ่อปู”อยู่นั่นเอง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน