บทบรรณาธิการ : กัญชา

 

การพิจารณาใช้กัญชา พืชที่มีทั้งประโยชน์และโทษ เป็นกระแสที่ได้รับความสนใจในหลายประเทศ ไม่เฉพาะไทยที่กำลังหาแนวทางการออกกฎหมายเพื่อรองรับเรื่องการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์

เช่น แคนาดา ประเทศพัฒนาแล้วและอยู่ในกลุ่มชาติอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก 7 ประเทศ หรือ จี 7 เพิ่งเป็นชาติที่สองในโลกต่อจากอุรุกวัยที่อนุญาตให้ประชาชนกลุ่มบรรลุนิติภาวะซื้อและ เสพกัญชาเพื่อนันทนาการจากผู้ผลิตที่ได้รับใบอนุญาตจากทางการอย่างถูกกฎหมาย ตั้งแต่วันที่ 17 ต.ค.2561 หลังจากปี 2560 ชาวแคนาดาใช้เงินเกินแสนล้านบาทซื้อกัญชาเพื่อนันทนาการและ การแพทย์รวมกัน

ประเทศไทยไม่จำเป็นต้องพิจารณาไป ถึงขั้นนันทนาการ แต่น่าศึกษาเรียนรู้ข้อมูลให้รอบด้านสำหรับการนำมาปรับใช้ด้านการแพทย์

ประเด็นหนึ่งที่บุคลากรทางการแพทย์ชี้ให้เห็นว่ากำลังจะเป็นปัญหาในเรื่องกัญชา คือเปลี่ยนประเภทยาเสพติดที่ยังต้องขึ้นทะเบียนและมีกฎเกณฑ์การใช้อย่างเข้มงวด ในที่นี้รวมการพิจารณาขององค์การอาหารและยาที่ระบุว่า สารสกัดจากกัญชาต้องมีมาตรฐานตามที่ อย.กำหนด

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ชี้ว่าหากทำเช่นนี้จะไม่ต่างจากการขึ้นทะเบียนยาในปัจจุบัน ทำให้ต้องควบคุมมาตรฐานแบบยาแพทย์ปัจจุบัน และจะส่งผล กระทบว่าไม่มียาจากคนไทยผลิตเองได้ภายใน 15 ปีนี้

กรณีนี้จะกลายเป็นการสั่งเข้าแทน และจะเป็นประโยชน์ให้ภาคธุรกิจ 100 เปอร์เซ็นต์

บุคลากรการแพทย์แนะนำไปยังสมาชิกสภา นิติบัญญัติฯ ว่าต้องพิจารณาและผลักดันกฎหมายให้ดี ไม่ก่อให้เกิดสภาพการณ์ที่คนป่วยต้องแอบใช้กัญชาแบบที่มีความเสี่ยง ทั้งด้านผิดกฎหมายและผลิตภัณฑ์ที่ปนเปื้อนไม่ปลอดภัย

ขณะที่อย.ควรเขียนร่างข้อบังคับให้ชัดเจนในเรื่องสารสกัดกัญชาในรูปแบบต่างๆ ต้องเปิดกว้าง ไม่จำเพาะเจาะจงจนกลายเป็นปัญหา

ในเมื่อเป้าหมายของการคลายล็อกหรือปลดล็อกในเรื่องกัญชานี้มุ่งประโยชน์ทางการแพทย์ คือทั้งกับคนไข้และกับการวิจัย

เป็นอีกเรื่องที่ต้องอาศัยความร่วมมือทางข้อมูลจากประชาชนในวงกว้างเพื่อนำไปสู่ข้อสรุปที่ดีที่สุดและปรับเปลี่ยนแก้ไขได้ในสถานการณ์จริง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน