ทั้งๆที่คสช.และรัฐบาล “ออกตัว” ค่อนข้างแรงในเรื่อง “ปฎิรูป”และ “ปรองดอง”

ไม่ว่าจะเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ไม่ว่าจะเป็น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
แต่เหตุใด “น้ำเสียง” จากฝ่าย “การเมือง” ไม่ว่าจะจากพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจะจากพรรคประชาธิปัตย์
กลับรู้สึกเฉย
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถึงกับลงมาดูรายละเอียด”ปฏิรูป”ด้วยตนเอง
ขณะเดียวกัน ก็มอบหมายให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับผิดชอบในเรื่อง “ปรองดอง”
แต่”ปฏิกิริยา”ก็ยังเฉย และซ้ำร้ายทำท่าว่าอาจจะพัฒนาไปสู่สภาวะ “เฉยเมย”
ทั้งที่นี่คือผลสะเทือนก่อน”รัฐประหาร”

หากมองอย่างเปรียบเทียบระหว่างท่าทีของพรรคเพื่อไทยกับของ พรรคประชาธิปัตย์
พรรคประชาธิปัตย์ มี”ความหวัง”มากกว่า
ขณะที่พรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจะจาก นายจาตุรนต์ ฉายแสง ไม่ว่าจะจากนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล
ค่อนข้าง “เนือย”
ทั้งนี้ แทบไม่ต้องล้างหูรับฟังเสียงจาก นายจตุพร พรหมพันธุ์ หรือ นายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ
อย่างน้อยคนเหล่านี้ก็ยังอยู่ในอาการ “ผวา”
ผวากับมาตรการ”ชัตดาวน์” ผวากับสโลแกน “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” อันกึกก้อง
กึกก้องบนท้องถนนก่อน “รัฐประหาร”
กึกก้องไม่ว่าในที่ประชุม “สนช.” ไม่ว่าในที่ประชุม “สปช.”หรือที่ประชุม”สปท.”หลัง “รัฐประหาร”
“ปฏิรูป”และ”ปรองดอง”กลายเป็นเรื่องเดียวกัน

ในเมื่อเป้าหมายของ “ปฏิรูป” คือ นักการเมือง และนักการเมืองในปีกของพรรคเพื่อไทย
ทุกอย่างจึงดำเนินไปอย่าง “2 มาตรฐาน”
ทั้งๆที่การยึด “ทำเนียบรัฐบาล”เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2551 ทั้งๆที่การยึด “สนามบิน”เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2551
แต่คดีที่เดินหน้าที่สุดกลับเป็นเหตุการณ์เมื่อเดือนเมษายน พฤษภาคม 2553
หาก”ปฏิรูป”แบบนี้ เส้นทาง”ปรองดอง”ก็ย่อมขรุขระ
แทนที่รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 จะเล่นบทเป็น กรรมการ แสดงความเป็น “คนกลาง”
กลับเด่นชัดยิ่งว่ามีการ “เลือกข้าง”
ท่าทีจาก 2 ฟากฝ่ายทางการเมืองจึงไม่เหมือนกัน 1 อาจมีความหวัง แต่ 1 อาจเฉยชา ไม่ยินดียินร้าย
ไม่ว่าจะ”ปฏิรูป” ไม่ว่าจะ”ปรองดอง”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน