ทัศนคติ“เรื่องผัวเมีย” คือการฆาตกรรมทางอ้อม ?

เรื่องโดย จินตามาศ ศักดิ์ศรชัย

พลอย กล่าวว่า ชีวิตแต่งงานของเธอในช่วงแรกนั้นเป็นไปอย่างราบรื่นสงบสุข จนกระทั่งสามีเริ่มกล่าวหาว่าเธอคบชู้และพลิกชีวิตของเธอให้กลายเป็นเหมือนนรกบนดิน

สามีทุบตีใช้ความรุนแรงกับเธออยู่ทุกๆ วัน ในบางครั้งถึงกับจับเธอล่ามโซ่ขังในห้องและให้อดข้าวอดน้ำเป็นวัน พลอยกล่าวว่าเธอถูกจับล่ามโซ่ถึงแปดครั้ง และบางคราว สามีถึงกับใช้โซ่รัดคอเธออีกด้วย

“อยู่กับสามีมา 20 กว่าปี มีเรื่องทะเลาะกันตลอด เรื่องเล็กๆ น้อยๆ เค้าบ่นแล้วก็จะไปข้างนอก ทะเลาะแล้วก็กลายเป็นรุนแรง โดนล่ามโซ่ขังในห้อง ไม่ให้ออกไปทำงาน” พลอยกล่าว “ เคยแอบเอาลูกออกมา ย้ายโรงเรียน ไปอยู่กับน้องสาว เค้าก็ตามมาง้อบอกจะไม่ทำอีก แต่กลับไปก็เหมือนเดิม”

พลอยเล่าอดีตอันชอกช้ำของเธอระหว่างงานเสวนาต่อต้านความรุนแรงซึ่งจัดโดยมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เธอเป็นเพียงหนึ่งในหญิงไทยจำนวนนับไม่ถ้วนที่ต้องพยายามเอาชีวิตรอดในบ้านของตัวเอง ถึงแม้ความเจ็บปวดทางกายจะนับว่าสาหัสมากแล้ว แต่พลอยกล่าวว่าเธอรู้สึกเจ็บปวดยิ่งกว่าเมื่อเสียงร้องขอความช่วยเหลือของเธอถูกเพิกเฉยแม้จากคนใกล้ตัว

“เค้าจะปิดบ้านหมดเลย ไม่มีใครช่วย มีลูกติดแฟนที่โตแล้วเค้าก็ไม่ช่วย คนรอบๆ ได้ยินเสียงร้องก็จะคิดแค่ว่าผัวเมียทะเลาะกัน เดี๋ยวก็ดีกัน” พลอยเล่าด้วยเสียงสั่นเครือ

คนไทยส่วนมากมักถูกสอนไม่ให้ยื่นมือเข้าไปยุ่งเรื่องภายในครอบครัวของคนอื่น “อย่ายุ่งเรื่องของผัวเมีย” น่าจะเป็นคำที่หลายคนได้ยินกันจนติดหู แม้เรื่องนั้นจะทวีความรุนแรงจนถึงระดับที่ทำให้หลายชีวิตต้องดับสูญไปก็ตาม

ทัศนคติเช่นนี้ถือเป็นหนึ่งในอุปสรรคสำคัญของหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ที่พยายามรณรงค์ต่อต้านการใช้ความรุนแรงภายในครอบครัว และอังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศจากมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่าร้อยละ 95 ผู้หญิงที่เสียชีวิตจากความรุนแรงภายในครอบครัวเกิดขึ้นเนื่องจากไม่มีใครยอมเข้าไปช่วยพวกเธอ แม้จะได้ยินเสียงร้องขอความช่วยเหลือก็ตาม

“มันเกิดจากความคิดว่าเรื่องในครอบครัวเป็นเรื่องส่วนตัวที่ไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยว ทำให้คนในสังคมมองว่ามันไม่ใช่สิ่งที่ต้องแก้ไข” อังคณากล่าว

อังคณา อินทสา

ผลสำรวจเมื่อเร็วๆ นี้ของมูลนิธิเปิดเผยว่า ผู้ตอบแบบสำรวจถึงร้อยละ 95 กล่าวว่าพวกเขาจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวหากเห็นว่ามีการใช้ความรุนแรงภายในครอบครัวเกิดขึ้น

แพรวดาว ศิวภูวดลพิทักษ์ หรือที่รู้จักกันดีกว่าในฐานะฮีโร่สาวเสื้อดำผู้ยื่นมือเข้าช่วยหญิงซึ่งถูกคู่รักทอมทุบตีอย่างรุนแรงในลานจอดรถหอพักแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ กล่าวว่าเธอรู้สึกได้ถึงทัศนคตินี้อย่างชัดเจนระหว่างเหตุการณ์ดังกล่าว

“แฟนเป็นคนได้ยินเสียงน้องผู้หญิงร้องให้ช่วย ก็เดินตามหาเสียงไป เราก็ตะโกนให้เค้าหยุดไป พอเค้าได้ยินเสียงเค้าก็จะลากน้องขึ้นมอเตอร์ไซค์ออกไป เราเลยอ้อมไปอีกทาง เลยเห็นว่ามีคนดูเหตุการณ์เยอะ ทั้งแม่ค้า วินมอเตอร์ไซค์ แต่ไม่มีคนเข้าไปช่วยเลย” แพรวดาวกล่าว “เราเห็นแล้วว่าไม่มีใครช่วย เราคุยกับแฟนว่าถ้าผ่านไปเฉยๆ เราไม่มีทางกลับบ้านไปแล้วนอนเป็นสุข ถ้าไม่ช่วยคือใจร้ายมากเลย ถ้าไม่เข้าไปเราไม่รู้ว่าน้องจะเป็นยังไงบ้าง”

หลังจากตัดสินใจช่วย แพรวดาวกล่าวว่าเธอเป็นคนเดินเข้าไปหาผู้ก่อเหตุ พยายามพูดให้อีกฝ่ายใจเย็นลงและหยุดการกระทำดังกล่าว ขณะที่แฟนของเธอคอยระวังหลังให้

“น้องมีการร้องขอให้ช่วยตลอด พอเราเข้าไปน้องก็กราบเท้าเรา เราเลยรู้สึกจุกในอกว่าผู้หญิงคนนึงต้องเจ็บแค่ไหนถึงขั้นต้องกราบเท้าขอให้คนช่วย น้องพยายามเอามือจับดึงตลอด กลัวว่าเราจะไป เราก็ต้องบอกว่าเราไม่ไปไหนหรอก” แพรวดาวเล่าถึงเหตุการณ์ในขณะนั้น

เธอกล่าวว่าเธอกับแฟนรออยู่กับหญิงสาวผู้ถูกกระทำจนกระทั่งเธอถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลหลังจากที่คู่รักของเธอออกจากที่เกิดเหตุไป

นอกจากสังคมจะเมินเฉยและไม่ให้การช่วยเหลือแล้ว เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายเองก็อาจไม่สามารถเป็นที่พึ่งพาของเหยื่อได้เช่นเดียวกัน พลอยซึ่งทนรองมือรองเท้าของสามีมาเป็นเวลาหลายสิบปี กล่าวว่าตำรวจไม่ช่วยเหลืออะไรเธอเลยถึงแม้เธอจะแจ้งความไปหลายสิบครั้งก็ตาม

“พอมีเรื่องแต่ละครั้งเราก็ไปแจ้งความ ลงบันทึกประจำวัน แต่กลับบ้านไปแล้วก็ไม่เกิดความเปลี่ยนแปลง” พลอยกล่าว “พอแจ้งตำรวจแล้วเค้ามา สามีก็จะเป็นคนออกไปรับหน้า ตำรวจก็ไม่กล้าบุกรุกเข้ามา เค้าก็จะบอกว่าพี่จะมาทำไม เรื่องผัวเมียทะเลาะกัน เดี๋ยวก็ดีกัน คุยกันซักพักแล้วก็ไป”

ทัศนคติ“เรื่องผัวเมีย”

พ.ต.ท.หญิงเพรียบพร้อม เมฆิยานนท์ เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ทำงานกับเหยื่อความรุนแรงภายในครอบครัวอยู่บ่อยครั้ง กล่าวยอมรับในงานเสวนาเดียวกันนี้ว่าปัญหาในการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองผู้ถูกกระทำนั้นมาจากระบบกฎหมายที่ไม่มีการสนับสนุนมากเพียงพอ รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ซึ่งไม่มีความเข้าอกเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์เช่นนี้อีกด้วย

“เคสแบบคุณพลอยไม่ใช่เคสแรกที่เราเคยได้ยิน หลายคนแจ้งความเป็นสิบครั้งตำรวจก็ไม่ทำอะไร เรียกไปไกล่เกลี่ยอีกว่าเป็นแค่การทะเลาะวิวาท” เธอกล่าว “ถ้าผู้หญิงดำเนินคดี สามีที่บ้านก็จะรู้ทันที ปล่อยกลับบ้านไปเค้าก็จะโดนอีก”

“กระบวนการยุติธรรมมันล่าช้า กว่าจะเริ่มดำเนินคดี ส่งห้อง ฝากขัง ศาลพิจารณาก็เป็นปี ก่อนที่จะมี พ.ร.บ. คุ้มครอง พอเราอธิบายกระบวนการให้ฟังส่วนใหญ่ก็ถอดใจ เพราะมันไม่เหมือนคดีอื่นๆ ที่เราโดนกระทำแล้วเรายังกลับบ้านแล้วมีความสุขได้” พ.ต.ท.หญิงเพรียบพร้อมกล่าว

ถึงแม้พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวจะคลอดออกมาได้เมื่อปี 2550 การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวกลับยังด้อยประสิทธิภาพต่ำมาก อังคณา ซึ่งเป็นผู้เข้าร่วมผลักดันกฎหมายนี้ กล่าวแสดงความผิดหวังถึงผลที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น

“การแจ้งความตาม พ.ร.บ. ตัวนี้มีน้อยมาก เพราะผู้หญิงมักถูกให้ไกล่เกลี่ยก่อนจะเป็นคดี ตำรวจบางคนยังไม่รู้เลยว่ามี พ.ร.บ. ตัวนี้อยู่ด้วย แล้วข้อความในพ.ร.บ. ก็ไม่ได้เข้าใจสถานการณ์ คนทำงานที่ต้องเอาตัวนี้ไปบูรณาการบังคับใช้ก็ไม่เข้าใจ” อังคณากล่าว

กฎหมายดังกล่าวได้รับการบังคับใช้หลังการต่อสู้ผลักดันนานนับสิบปี โดยสาระสำคัญนั้นมุ่งเน้นในเรื่องการคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงภายในครอบครัวด้วยการเร่งรัดกระบวนการทางกฎหมายและสนับสนุนดูแลฟื้นฟูทั้งทางร่างกายและจิตใจ ผู้ที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดตามกฎหมายนี้มีโทษจำคุกสูงสุด 6 เดือนและปรับไม่เกิน 6,000 บาท

ตามกฎหมายนี้ ตำรวจถูกกำหนดให้ส่งตัวผู้กระทำความผิดไปยังอัยการและสรุปสำนวนสอบสวนฟ้องคดีต่อศาลภายในเวลา 48 ชั่วโมงนับตั้งแต่การจับกุม อย่างไรก็ตาม การลงโทษผู้กระทำความผิดตามกฎหมายนี้กลับแทบไม่เคยเกิดขึ้น เนื่องจากตัวกฎหมายนั้นเปิดโอกาสให้มีการไกล่เกลี่ยยอมความอยู่ตลอดทั้งกระบวนการ และเจ้าหน้าที่เองก็มักชี้นำให้คู่ความยอมประนีประนอมด้วยเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีปัจจุบันลงมติเมื่อช่วงปีที่แล้วเพื่อปรับแก้กฎหมาย โดยมีจุดประสงค์ที่จะกำจัด “อุปสรรค” ขัดขวางการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ในขณะนี้ยังไม่มีความแน่ชัดว่าร่างกฎหมายใหม่จะมีกำหนดออกมาเมื่อใด

เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม อังคณานำกลุ่มนักกิจกรรมต่อต้านความรุนแรงในครอบครัวไปจัดการประท้วงที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องขอให้ผู้มีอำนาจยื่นมือเข้ามาแก้ไขปัญหานี้อย่างเร่งด่วนด้วยการปฏิรูประบบกฎหมายรวมถึงการศึกษาที่มีความเกี่ยวข้องกับสิทธิสตรีและความเท่าเทียมทางเพศ

ระหว่างการให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านั้น อังคณากล่าวย้ำถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงทัศนคติที่สังคมไทยมีต่อความรุนแรงภายในครอบครัวเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

“ผู้ถูกกระทำที่อยากดำเนินการมีเยอะแต่กลไกช่วยเหลือมันไม่เอื้อ ความล้มเหลวคือกลไกช่วยเหลือกับทัศนคติของสังคมที่มองว่าเรื่องแบบนี้เป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ควรเข้าไปยุ่ง” อังคณากล่าว

“เราแก้ด้วยการรณรงค์อย่างเดียวไม่ได้ ต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติทั้งผู้หญิงและผู้ชาย และทำให้สังคมไม่รู้สึกว่านี่เป็นเรื่องส่วนตัว… ถ้าคนในชุมชนมีความเข้าใจปัญหาความรุนแรง มันก็จะช่วยแก้ปัญหาได้ระดับหนึ่ง ถ้าทัศนคติเปลี่ยนไปปัญหาการฆ่ากันคงน้อยลงกว่านี้”

……………..

อ่านรายงานพิเศษที่เกี่ยวข้อง :

รายงานพิเศษ: “หึงโหด” คดีที่สังคมไทยให้ความชอบธรรม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน