บทบรรณาธิการ : ม.44 อีกครั้ง

บทบรรณาธิการ : การใช้มาตรา 44 อีกครั้งว่าด้วยการขยายเวลาให้คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดการและทบทวนการแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นสิ่งที่ตอกย้ำว่าศักยภาพของกฎหมายที่มีอยู่จัดการปัญหาตามปกติไม่ได้ ต้องอาศัยอำนาจพิเศษ

แต่เมื่ออำนาจพิเศษดังกล่าวไม่ได้มาจากประชาชน หรือตัวแทนประชาชน จึงเป็นเรื่องที่เกิดข้อสงสัยและเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เหตุผลของการใช้มาตรา 44 ครั้งนี้ ฝ่ายที่ใช้ระบุว่ามีเพื่อประโยชน์ของพรรคการเมืองในการส่งผู้สมัครครั้งแรก

ขณะที่สมาชิกพรรคการเมืองหลายพรรคตั้งคำถามว่า การใช้อำนาจที่มีศักยภาพเหนือกฎหมายปกติ ก่อให้เกิดส่วนได้ส่วนเสียหรือเอื้อประโยชน์แก่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดหรือไม่

และจะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือในกระบวนการจัดการเลือกตั้งที่ต้องโปร่ง ใสและยุติธรรมหรือไม่

หลังจากการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 33 ที่สิงคโปร์ ประเทศไทยได้รับมอบหน้าที่เป็นประธานอาเซียนอย่างเป็นทางการ วันที่ 1 มกราคม 2562 เป็นต้นไปตลอดทั้งปี

สถานะและหน้าที่ผู้นำทำให้ไทยควรได้รับความเคารพนับถือจากทั้งเพื่อนสมาชิกและมิตรในภูมิภาคอื่นๆ อย่างสง่างาม

สิ่งที่จะเป็นเครื่องรับประกันสถานะของไทยได้เป็นอย่างดีในการดำรงตำแหน่งตลอดปี 2562 คือมีการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยที่เปิดกว้างให้ทุกประเทศสังเกตการณ์ได้ตามปกติ

การจัดการเลือกตั้งจึงไม่ควรเดินสวนทางกระบวนการประชาธิปไตยให้ดูผิดปกติ จนเกิดความเคลือบแคลงสงสัย

อํานาจหน้าที่ของผู้จัดการเลือกตั้งในขณะนี้ เป็นที่เข้าใจและมีผู้ตอกย้ำเสมอว่าเป็นอำนาจของ กกต.

การเลือกตั้งที่ป่าวประกาศพร้อมยืนยันกับนานาประเทศคือวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 แต่จะจัดได้ทันหรือไม่ทันหรือไม่นั้นเป็นเรื่องที่กลุ่มการเมืองต่างๆ รอดูการทำงานของ กกต.

กระทั่งเมื่อเกิดการใช้อำนาจมาตรา 44 ที่ขยายเวลาแบ่งเขตเลือกตั้ง ด้วยข้ออ้างว่าเอื้อให้กกต.ทำงานได้สะดวกขึ้นและไม่ขัดกฎหมายนั้น กลับกลายเป็นคำถามว่า หากกกต.ต้องอาศัยพี่เลี้ยง หรืออำนาจพิเศษ การเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรมจะเกิดขึ้นได้อย่างไร

สิ่งนี้กลายเป็นความขัดแย้งที่พัลวันในตัวเอง

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :

บทบรรณาธิการ : ปฏิทินเลือกตั้ง

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน