คอลัมน์ รายงานพิเศษ

กรณีสำนักงานปราบปรามการทุจริตของประเทศอังกฤษ (เอสเอฟโอ) ได้สอบสวนพบ การจ่ายสินบนของบริษัท โรลส์-รอยซ์ ในหลายประเทศ เพื่อให้ซื้อเครื่องยนต์ของโรลส์-รอยซ์ รวมทั้งประเทศไทย พบจ่ายสินบนให้เจ้าหน้าที่รัฐ พนักงาน และอดีตผู้บริหารบมจ.การบินไทย 3 ครั้ง ในช่วงปี 2534-2548 เป็นเงินกว่า 1,253 ล้านบาท

ล่าสุดกระทรวงยุติธรรมและคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สหรัฐได้ตรวจสอบพบกรณีบริษัท โรลส์-รอยซ์ เอ็นเนอร์จี ซิสเต็ม อิงค์ ได้ติดสินบนผู้บริหาร และ เจ้าหน้าที่บมจ.ปตท. และบมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) ราว 385 ล้านบาท ในช่วงปี 2543-2556 เพื่อให้ซื้อเครื่องยนต์ของโรลส์-รอยซ์ มาใช้ใน 6 โครงการ

นักวิชาการ นักการเมือง อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มองปมปัญหานี้ในแง่ไหนบ้าง

เทพไท เสนพงศ์

รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์

การที่หน่วยงานของไทยระบุจะใช้เวลาสอบ สวนเรื่องการจ่ายเงินสินบนของบริษัทโรลส์-รอยซ์ เป็นเวลาประมาณ 30 วัน มองว่าเป็นระยะเวลาพอสมควรที่จะให้เจ้าหน้าที่ได้รวบรวมหลักฐาน และตั้งตัวในการสอบสวนหาข้อเท็จจริงเรื่องนี้

แต่จริงๆ แล้วข้อเท็จจริงทั้งหมดก็ปรากฏอยู่แล้วที่สำนักงานปราบปรามการทุจริตของประเทศอังกฤษ (เอสเอฟโอ) ดังนั้น เรื่องนี้จึงไม่น่าจะสลับซับซ้อนอะไร เมื่อเอสเอฟโอให้ข้อมูลมาก็นำมาเทียบเคียงกับวันเวลาผู้รับผิดชอบในประเทศไทยได้ ก็น่าจะรู้ว่าใครต้องเป็นผู้รับผิดชอบบ้าง

ที่จริงระยะเวลาไม่สำคัญเท่ากับรัฐบาลชุดนี้มีความกล้าที่จะเปิดเผยหรือเอาผิดผู้เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้หรือไม่ และคดีที่หมดอายุความไปแล้วควรนำมาสอบสวนต่อ และอย่างน้อยควรจะมีมาตรการทางสังคมที่จะลงโทษคนเหล่านี้ด้วย

รวมทั้งในส่วนคดีที่ยังไม่หมดอายุความโดยเฉพาะเรื่องที่เกิดในช่วงปี 2547-48 ซึ่งจะมีเอกสาร หนังสืออนุมัติ และมติครม.อยู่แล้ว สามารถดำเนินการได้

ส่วนที่มีอดีตรัฐมนตรีระบุว่า เรื่องคุณสมบัติของเครื่องยนต์ เป็นเรื่องทางเทคนิค ไม่เกี่ยวข้องกับครม.นั้น ทางเทคนิคไม่เกี่ยว แต่เกี่ยวกับการรับสินบนหรือไม่ ถ้าเครื่อง จะเปลี่ยนก็เปลี่ยนไป หากไม่รับสินบนก็ไม่มีปัญหา แต่ปัญหาคือโรลส์-รอยซ์ รับว่าจ่ายสินบนให้ความผิดอยู่ตรงนี้

อย่างไรก็ตามตอนนี้สังเกตได้ว่าผู้เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ เรียงหน้าออกมาทุกคน ซึ่งเป็นเรื่องปกติ ที่ไม่มีผู้ต้องหารับสารภาพว่าตัวเองกระทำผิดเลย จนกว่าหลักฐานจะปรากฏชัด

เรื่องการรับสินบนของโรลส์-รอยซ์ กลัวว่าซ้ำรอยกับคดีที่ ผ่านมาเช่น ซีทีเอ็กซ์ ที่ไม่สามารถหาคนผิดได้ ดังนั้นรัฐบาลนี้ต้องเรียกศรัทธาตรงนี้ให้ได้

รัฐบาลที่มาจากคสช. และประกาศว่าจะเข้ามาปราบปรามการทุจริต ถ้ามีหลักฐานเห็นอยู่ตำตา แล้วไม่ดำเนินการ อะไร ปล่อยให้ผู้กระทำผิดแบบนี้อยู่ได้อีก รัฐบาลคสช.จะ เสื่อมเสียไปเอง

จากคดีต่างๆ ที่ผ่านมาทำให้เห็นว่า ระบบการตรวจสอบของไทยมีปัญหา เพราะหลายครั้งคดีทุจริตจับได้มาจากเมืองนอกหลายเรื่อง และเป็นเรื่องใหญ่มาก แต่กระบวนการตรวจสอบ ของไทยกลับปล่อยให้ผ่านไปได้

จึงเห็นว่าไทยต้องปรับปรุงระบบการตรวจสอบใหม่ทั้งหมดให้เกิดความน่าเชื่อถือ

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์

หากใช้เวลาในการตรวจสอบเคสนี้ 30 วัน ตามที่ บางหน่วยงานวางไว้ คิดว่านานเกินไป เพราะการตรวจสอบสามารถทำได้ทันที

เรื่องนี้มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจนอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเกิดเหตุช่วงไหน ใครมีส่วนเกี่ยวข้องบ้าง คือแทบจะไม่ต้องทำอะไรเลย นอกจากเรียกตัวผู้เกี่ยวข้องมาตรวจสอบแค่นั้นเอง ฉะนั้นระยะเวลา 30 วันมันดูผิดปกติ อาจเอื้อให้เกิดการทำลายหลักฐานหรือบุคคล ที่เกี่ยวข้องอาจจะยังมีอิทธิพลทางใดทางหนึ่งกับผู้มีอำนาจตรวจสอบก็ได้

อย่าลืมว่ากรณีนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่สามารถรู้ถึง ผู้เกี่ยวข้อง อาจจะยังมีความผิดอื่นๆ อีกหรือไม่ ซึ่งการตรวจสอบควรลงมือทำในทันที จะได้ย่นเวลาในการตรวจสอบเรื่องอื่นต่อไป

เกรงว่าอาจจะไปซ้ำรอยกับคดีเครื่องตรวจหาวัตถุระเบิดซีทีเอ็กซ์ เพราะเรื่องที่กินเวลาถึง 14 ปีต้องมีคนที่เกี่ยวข้องในการติดสินบนของคณะกรรมตรวจสอบหรือมีอำนาจพอสมควรก็ได้ ซึ่งจะทำให้การตรวจสอบล่าช้าออกไปจนไม่สามารถหาคนทำผิดได้ในที่สุด

หากจะมองหาวิธีแก้ก็ควรนำคนนอกเข้าไปร่วมตรวจสอบเพื่อความโปร่งใสและรวดเร็ว ไม่ใช่คนตรวจสอบกับผู้ที่ถูกตรวจสอบเป็นพวกพ้องเดียวกัน แบบนี้จะไปได้อะไรขึ้นมา

เรื่องที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงการทำงานของระบบการตรวจสอบข้อเท็จจริงในบ้านเรา ปัญหาแรกคือ การจัดซื้อจัดจ้าง ต่อมาก็สะท้อนให้เห็นถึงการทุจริตคอร์รัปชั่น เหล่านี้เป็นปัญหาที่ฝังรากอยู่แล้ว ฉะนั้นต้องหาคนที่กระทำผิดให้ได้

สำหรับเคสของการบินไทยนั้น มีการจัดซื้อผ่านนายหน้า ถ้าไปดูเส้นทางการติดสินบนจะเห็นว่ามีการสั่งซื้อผ่านนายหน้าทั้งสิ้น ซึ่งมองว่าไม่มีความจำเป็นแม้แต่น้อย เพราะผู้ผลิตเครื่องยนต์รายใหญ่มีเพียงไม่กี่เจ้าในโลก

สำหรับการที่อดีตรัฐมนตรีบางคนระบุว่า เครื่องยนต์ เป็นเรื่องทางเทคนิคไม่เกี่ยวข้องกับครม. เพราะไม่มีอำนาจอนุมัตินั้น ยังไม่มีความเห็นที่ชัดเจน เพราะหลักฐานที่เป็นเอกสารไม่ได้พูดถึงการจ่ายเงินให้รัฐมนตรี ระบุเพียงว่าเป็นการพบกันเท่านั้น จึงยังคลุมเครือ

ฉะนั้นต้องมาดูว่าวิธีการหรือการดำเนินการเป็นที่เปิดเผย หรือไม่ ถ้าเป็นแบบเปิดเผยเรื่องเงินก็ไม่เกี่ยวข้อง จึงไม่แน่ใจว่า จะมีการเรียกเงินจากรัฐมนตรีหรือไม่

ถ้าเป็นการสั่งซื้อเครื่องบินแน่นอนว่ารัฐมนตรีต้องมีส่วนรู้เห็น แต่กรณีนี้เป็นการสั่งซื้อเพียงเครื่องยนต์ส่วนประกอบเท่านั้น ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องไกลตัวรัฐมนตรีหรือเปล่า ข้อสังเกตนี้ยังไม่ชี้ชัด

พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก

อดีตรมช.คมนาคม

การใช้เวลา 1 เดือนในการตรวจสอบถือว่านานไป เพราะการบินไทย ย่อมมีข้อมูลบัญชีเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวอยู่แล้ว จึงไม่ควรที่จะเตะถ่วงเวลาในการชี้แจงรายละเอียด

และเรื่องนี้ไม่ควรทอดเวลา ปล่อยให้เงียบหายแล้วนำกลับมาพูดเมื่อเป็นข่าวทางสื่อ ในเมื่อสำนักงานปราบปรามทุจริตของอังกฤษ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีความน่าเชื่อถือได้เปิดเผยข้อมูล ออกมาแล้วว่ามีการจ่ายเงินสินบนให้เจ้าหน้าที่ไม่เฉพาะแค่การบินไทย แต่ยังมีปตท. และปตท.สผ.

ฉะนั้นหน่วยงานของไทย โดยเฉพาะสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) รวมทั้งหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ควรเข้ามามีบทบาทในการเร่งรัดตรวจสอบและประสานกับหน่วยงานจากต่างประเทศเพื่อขอข้อมูลประกอบด้วย

ต้องติดตามหาคนที่เกี่ยวข้องกับการทำผิดมาลงโทษ และหากพบว่าใครเข้าไปมีส่วนกระทำผิดจริง ต้องลงโทษทั้งในทางอาญาและทางแพ่ง

ส่วนข้อสังเกตว่าการอนุมัติจัดซื้อเครื่องยนต์เป็นอำนาจของทางการบินไทยที่เป็นคนไปกำหนดคุณสมบัติเอง ไม่เกี่ยวกับครม.นั้น ก็ถูกส่วนหนึ่ง ครม.อาจจะแค่อนุมัติหลักการ ส่วนการดำเนินงานเป็นเรื่องภายในของการบินไทย ที่ไปกำหนดสเป๊กเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่ครม.อาจจะรู้หรือรู้ยาก ว่าจะมีการจัดซื้ออย่างไร

แต่ถึงอย่างนั้นต้องดูด้วยว่ามีรัฐมนตรีหรือใครมีเจตนาเข้าไปมีส่วนรู้เห็นหรือมีการเอื้อประโยชน์ให้เกิดส่วนได้ส่วนเสียด้วยหรือไม่ จึงต้องมีกรรมการขึ้นมาตรวจสอบในเชิงลึก เชื่อว่าหากทำจริงน่าจะนำคนผิดมาลงโทษได้

อย่างไรก็ตามต้องยอมรับทั่วโลกมีเรื่องทุจริต แต่ประเทศไทยยังเกิดชุกชุม เพราะ ยังมีเรื่องการอุปถัมภ์ที่เปิดช่องให้มีการเอื้อประโยชน์และนำไปสู่การทุจริต ไม่ใช่แค่ในระบบราชการไทยแต่มีอยู่เกือบทุกที เพราะคนของเรายังอ่อนไหวต่อเรื่องผลประโยชน์

ส่วนองค์กรที่เกี่ยวข้องก็ปิดปากเงียบในบางเรื่อง จึงต้องแก้ไขที่พื้นฐานจิตใจของคนเป็นลำดับแรก

วิชา มหาคุณ

คณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.รังสิต อดีตป.ป.ช.

ความจริงเรื่องนี้เกิดขึ้นมานานมากก็เห็นยังทนกันมาได้จนถึงป่านนี้ แล้วจะเพิ่งมารีบร้อนอะไรกันตอนนี้

เรื่องนี้จะต้องขอข้อมูลจากฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และยังไม่ทราบว่าเขาจะส่งข้อมูลให้หรือไม่ แล้วคิดหรือว่าเขาจะส่งข้อมูลให้ในทันที คงไม่ง่าย เป็นเรื่องของการติดต่อ และเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ที่สำคัญหน่วยงานที่ถูกตั้งข้อสังเกตและ จะสอบเองอย่างการบินไทยนั้น คงไม่ใช่ช่องทางที่จะทำได้ง่าย แต่ถ้าเป็นหน่วยงานที่ ตรวจสอบทุจริตขอเอง หรือทางป.ป.ช.ขอเอง คงจะรวดเร็วกว่า เพราะมีความสัมพันธ์ที่ดี มาก่อนแล้ว

หน่วยงานที่เป็นตัวตั้งหรือที่เรียกว่าเป็นหน่วยงานที่มีการทุจริตเกิดขึ้นแล้วไปสอบเอง จึงไม่ใช่ผู้ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบโดยตรง แต่ไม่ทราบเหมือนกันว่าระยะเวลา 30 วัน จะสอบได้หรือไม่ ก็ต้องลองดูเพราะอาจจะเร็วกว่านั้นก็ได้

ส่วนกรณีที่มีการเกรงว่าจะซ้ำรอยคดีซีทีเอ็กซ์หรือไม่นั้น ก็ช่วยไม่ได้ ทำอย่างไรได้ เพราะองค์กรของเราเป็นองค์กรที่มีแต่แผลเต็มตัว กระบวนการในการดำเนินการก็ต้องดำเนินการโดยองค์กรที่ตรวจสอบทุจริตเอง ไม่ใช่ให้หน่วยงานที่มีแผลนั้นดำเนินการ

ปัญหาเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นช่องโหว่ของหน่วยงานและราชการของไทย แต่เมื่อโหว่แล้ว รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) จึงได้มีการแก้กฎหมายจำนวนมาก

แก้ไขทั้งระบบ แก้ไขปัญหาองค์กรโดยเฉพาะระบบเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่ได้รับการแก้ไขครั้งใหญ่ในคราวนี้ เพราะรู้กันอยู่ว่าเกิดกรณีทุจริตขึ้นในองค์กรใหญ่ๆ และเมกะโปรเจ็กต์ในทุกองค์กร จึงต้องเข้ามาจัดการกฎหมายขึ้นเป็นกรณีพิเศษ อาทิ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน