รัฐสภาแห่งชาติ

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

รัฐสภาแห่งชาติ – ข้อเสนอทางการเมืองว่าด้วยการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ เป็นประเด็นเดิมที่กลับมาพูดถึงกันใหม่ แม้อยู่ระหว่างการรอคอยผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ อาจเพราะระหว่างการรอคอยนี้ยังมีภาพไม่ชัดว่าพรรคการเมืองต่างๆ ควรจัดตั้งรัฐบาลอย่างไร

หลังจากพรรคที่ได้จำนวนส.ส.อันดับสอง ขยับขับเคลื่อนมากกว่าพรรคที่ได้อันดับหนึ่ง จนเกิดบรรยากาศที่น่าวิตกว่า การแข่งขันนี้อาจไม่เป็นที่ยอมรับและนำไปสู่ทางตัน

แต่ข้อเสนอตั้งรัฐบาลแห่งชาติที่จะเป็นทางออกก็ถูกวิจารณ์ไม่น้อยว่าผิดจังหวะเวลาและเป้าหมายของการเลือกตั้ง

เนื่องจากยังมีทางเลือกอื่นตามแนวทางประชาธิปไตยอยู่ โดยเฉพาะในระบบรัฐสภา

นอกจากการเปิดทางให้พรรคที่ได้จำนวน ส.ส.มากที่สุดเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลก่อน ตามประเพณีทางการเมืองที่เคยปฏิบัติมา

ข้อเสนอที่พรรคอนาคตใหม่ พรรคที่มีจำนวน ส.ส. อันดับสาม จากผลนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ เรียกร้องให้ทุกพรรคการเมืองร่วมสนับสนุนการจัดตั้งรัฐบาลที่ไม่เกี่ยวโยงหรือไม่สืบทอดอำนาจเดิมจากการรัฐประหาร จะเป็นทางเลือกที่จะแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของประเทศไทยในการฟื้นฟูประชาธิปไตยอย่างจริงจัง

อีกทั้งยังจะแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของรัฐสภาในการแก้ไขสถานการณ์ทางการเมือง ไม่ให้พบกับทางตัน และเคารพผลประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้ง

แนวทางสำคัญอีกด้านในการจัดตั้งรัฐบาล คือการทำหน้าที่ของสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง ด้วยการงดออกเสียงในขั้นตอนเลือกนายกรัฐมนตรี

แม้กฎหมายรัฐธรรมนูญมีบทเฉพาะกาลให้อำนาจ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรีได้ แต่เป็นเรื่องพึงตระหนักว่า ส.ว.ทั้งหมดไม่ใช่คณะบุคคลที่มาจากเส้นทางประชาธิปไตย และไม่เกี่ยวโยงใดๆ กับประชาชน

หน้าที่หลักของส.ว.คือการกลั่นกรองกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาจากสภาผู้แทนฯ จึงควรให้ความสำคัญกับบทบาทนี้ และปล่อยให้ขั้นตอนการตั้งรัฐบาลและเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชนผ่านการเลือกตั้ง

ส.ว.จะมีส่วนช่วยให้รัฐสภาแห่งชาติและระบอบประชาธิปไตยกลับเข้าที่เข้าทางที่เหมาะสมและสง่างามได้ด้วยเส้นทางนี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน