แก้ที่มา ส.ว.

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

แก้ที่มา ส.ว.- สิ่งที่เห็นชัดจากการประชุมร่วมรัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ก็คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามนโยบายเร่งด่วน 12 ข้อของรัฐบาล

ข้อที่ควรแก้ไขจากจุดอ่อนที่ตอกย้ำในการประชุมวาระดังกล่าวคือที่มาของวุฒิสมาชิก หรือ ส.ว.

การที่ส.ว.ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ทำให้ เห็นว่า สมาชิกในสภาสูงไม่อาจสะท้อนความเห็นจากประชาชนที่มีความหลากหลายทางฐานะ อาชีพ และความแตกต่างของต้นทุนทางสังคม

อีกทั้งมีความเกรงใจต่อประชาชนน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ไม่ว่าการใช้ถ้อยคำปกป้องและสนับสนุนการรัฐประหาร การโจมตีดูแคลน ส.ส. ที่มีความคิดเห็นแตกต่างกับตนเอง

หรือการชื่นชมรัฐบาลด้วยข้อมูลที่ไม่เป็นเหตุเป็นผล ล้วนแสดงออกโดยชัดเจนและโจ่งแจ้ง

การทำหน้าที่ของ ส.ว.ลักษณะนี้ทำให้ประเด็นและเนื้อหาการถกเถียงถูกบิดเบือน ไม่อยู่บนข้อเท็จจริง ซึ่งจะมีผลต่อการมองปัญหาและแก้ปัญหา

เมื่อเทียบกับส.ส. แม้บางคนสังกัดพรรคร่วมรัฐบาล ก็ยังสะท้อนเสียงจากประชาชนในด้านเศรษฐกิจอย่างตรงไปตรงมา เพื่อให้รัฐบาลเข้าใจสถานการณ์จริง

เพราะการแสดงออกในที่ประชุมสภา ไม่ว่าโดยเนื้อหา หรือท่าที ล้วนอยู่ในสายตาประชาชน และจะมีผลต่ออนาคตทางการเมือง ผ่านการเลือกตั้งครั้งหน้า

แต่กับส.ว. ไม่อาจทำหน้าที่นี้ได้ ทั้งเป็นที่กังขาถึงการทำหน้าที่กลั่นกรองกฎหมายต่อไปในอนาคต

เนื่องจาก ส.ว. ผ่านกลไกการคัดเลือกและ แต่งตั้งโดยคณะบุคคลที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน และมีที่มาในช่วงเวลารัฐประหาร พร้อมอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีด้วยเสียงเอกฉันท์ 250 เสียง

กรณีนี้ชัดเจนว่า ไม่ใช่ประชาธิปไตย

จุดบกพร่องที่ไม่เป็นประชาธิปไตยดังกล่าว ย้ำว่าต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ แม้ว่าจะเป็นเรื่องยาก เนื่องจากเงื่อนไขตามกฎหมายที่กำหนดไว้

แต่ผู้แทนจากประชาชนควรต้องหาทางแก้ไขให้ได้ เพื่อลดอุปสรรคในการพัฒนาประชาธิปไตยให้เป็นที่ยอมรับในโลกสากล

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน