จับตาผลสะเทือน-หลังซักฟอก6รมต.

คอลัมน์ รายงานพิเศษ

จับตาผลสะเทือน-หลังซักฟอก6รมต.ผลการลงมติในญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล รัฐมนตรีทั้ง 6 คน ผ่านการไว้วางใจของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ดังนี้

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้รับความไว้วางใจ 272 ต่อ 49 คะแนน งดออกเสียง 2 คน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี 277:50 คะแนน งดออกเสียง 2 คน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี 272:54 คะแนน งดออกเสียง 2 คน

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย 272:54 คะแนน งดออกเสียง 2 คน นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.การต่างประเทศ 272:55 คะแนน งดออกเสียง 2 คน และร.อ.ธรรมนัสพรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ 269:55 คะแนน งดออกเสียง 7 คน

มีความเห็นจากนักวิชาการถึงผลคะแนน การชี้แจงของรัฐมนตรี ควรมีการปรับครม.ตามมาหรือไม่ โดยเฉพาะกรณีร.อ.ธรรมนัส ที่ได้คะแนนไว้วางใจน้อยสุด และมองการทำหน้าที่ของฝ่ายค้านอย่างไร

ฐิติพล ภักดีวานิช

คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

จับตาผลสะเทือน-หลังซักฟอก6รมต.

ประเด็นที่พรรคร่วมฝ่ายค้านหยิบยกมาอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรียังยิบย่อยเกินไป ไม่เกี่ยวข้องกับญัตติที่ยื่นไว้เสียทีเดียว ฟังแล้วยังไม่ค่อยมีน้ำหนัก ไม่ส่งผล กระทบไปถึงรัฐบาลมากนัก

ทั้งที่การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ควรเป็นโอกาสที่ประชาชนจะได้รับฟังข้อบกพร่อง รัฐบาลบริหารงานล้มเหลวหรือผิดพลาดในประเด็นใดบ้าง

น่าเสียดายที่พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบไปก่อน ส่งผลกระทบกับอภิปรายไม่ไว้วางใจพอสมควร เพราะส.ส.ที่เป็นกรรมการบริหารพรรคซึ่งถูกตัดสิทธิไป เช่น นายปิยบุตร แสงกนกกุล น่าจะมีข้อมูลรวมทั้งการอภิปรายที่น่าสนใจ และอาจจะช่วยเพิ่มน้ำหนักให้การอภิปรายไม่ไว้วางใจมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม มี ส.ส.ของอดีตพรรคอนาคตใหม่หลายคนที่อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีด้วยข้อมูลที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ เช่น เรื่องปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร(ไอโอ)ของรัฐ การขาดคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีของ ร.อ.ธรรมนัส เป็นต้น

สะท้อนให้เห็นถึงความบกพร่อง รวมทั้งความไม่โปร่งใสของรัฐบาล

ส่วนการชี้แจงจากรัฐบาลนั้นยังไม่มีความชัดเจน โดยเฉพาะรัฐมนตรีที่มีปัญหาไม่สามารถตอบคำถามได้

การอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้ จึงถือว่าไม่มีใครเหนือใคร

ส่วนคะแนนไว้วางใจของรัฐมนตรีที่มีความแตกต่างกันนั้น ผมมองว่าคะแนนไม่ได้เป็นตัวชี้วัดอะไร แต่เป็นการสะท้อนอิทธิพลทางการเมืองของฝ่ายรัฐบาลว่ายังสามารถควบคุมเสียงของพรรคร่วมรัฐบาลได้อยู่

ถือเป็นการตอกย้ำว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้ ยังไม่ได้เป็นการตรวจสอบการบริหารราชการ รวมถึงคุณสมบัติของรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายอย่างแท้จริง เพราะขนาด พล.อ.ประวิตร ที่ยังไม่ทันได้ถูกอภิปราย กลับได้รับคะแนนไว้วางใจมากที่สุด มากกว่า พล.อ.ประยุทธ์ ด้วยซ้ำ

ดังนั้น รัฐบาลยังมีประสิทธิภาพในการควบคุมพรรคร่วมรัฐบาล ตราบใดที่ยังมีเงื่อนไขต่างๆ เช่น ผลประโยชน์ต่างตอบแทน การจัดสรรงบประมาณในพื้นที่ เป็นต้น

การลงมติไม่ได้ขึ้นอยู่บนพื้นฐานของข้อมูล ข้อเท็จจริง แต่เป็นการลงมติตามแนวนโยบายของพรรคร่วมรัฐบาล

ส่วนจะต้องปรับครม.หรือไม่นั้น จริงๆ แล้วรัฐมนตรีหลายคนไม่ควรได้รับการแต่งตั้งมาตั้งแต่ต้น เพราะคุณสมบัติของหลายคนถูกสังคมตั้งคำถามมากพอสมควร รวมทั้งข้อเท็จจริงก็เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชน ทั้งๆ ที่บุคคลที่จะเข้ามาเป็น ผู้บริหารต้องปราศจากข้อครหา

แต่ครม.ชุดนี้อาจมองได้ว่าแต่งตั้งโดยมีหลักการอยู่ บนพื้นฐานของประโยชน์ต่างตอบแทนมากกว่าเรื่องของคุณสมบัติ

ที่สำคัญที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้รับฟังเสียงสะท้อนจากประชาชนมาตั้งแต่ต้น

ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ควรต้องปรับ ครม.หรือไม่ คงไม่มีความหมาย ตราบใดที่ยังมีเรื่องของผลประโยชน์ทางการเมืองร่วมกันอยู่

อัษฎางค์ ปาณิกบุตร

อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

จับตาผลสะเทือน-หลังซักฟอก6รมต.

การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ต้องชมรัฐบาลว่าจัดทีมมาดีมาก เตรียมตัวมาดี หมายความว่าฝ่ายค้านจะอภิปรายอย่างไรไม่สนใจ แต่เวลาลงคะแนนก็ ออกมาเยอะ จึงพิจารณาได้ว่าฝ่ายค้านค่อนข้างไม่มีความสามัคคีเท่าไหร่มีงูเห่าเยอะไปหน่อย

ส่วนข้อมูลที่นำเสนอทั้งสองฝ่าย ผมให้ชนะกันนิดหน่อย ข้อมูลของฝ่ายค้านคนไม่ได้เชื่อว่าประเด็นไหนชัดเจน ความจริงประเด็นเรื่องการแทรกแซงข้อมูลข่าวสาร(ไอโอ) ซึ่งเป็นอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ไม่มีการอภิปรายให้ชัดเจนได้ว่าถูกรังแกอย่างไร ถือเป็นบทเรียนของฝ่ายค้านว่าการหาข้อมูลหลักฐานต้องละเอียด ให้สื่อและสังคมประโคมข่าวได้ติดต่อกัน

ขนาดข้อมูลที่อภิปราย ร.อ.ธรรมนัส ซึ่งหลักฐานน่าเชื่อ ก็ยังมีคะแนนเยอะ แสดงว่าพรรคร่วมรัฐบาลไม่แคร์ ยังเชื่อว่าเป็นคนดี ถึงไม่กลัวว่าสังคมจะคิดอย่างไร ไม่แคร์ว่าเลือกตั้งครั้งหน้าจะถูกเอาจุดนี้ไปโจมตี ซึ่งถือว่าเป็นอันตราย เขาเชื่อว่าผลประโยชน์ฝ่ายรัฐบาลคงจะแข็งแรงพอ และเชื่อว่ารัฐบาลจะอยู่ยาว อำนาจที่หนุนมั่นคง

ด้านการตอบของนายกฯ ดูแล้วตอบทำเป็นเล่น อย่างเรื่องไอโอ นายกฯตอบว่าจะไปสอบสวนว่าจริงหรือไม่ ทั้งที่เป็นเรื่องที่รู้อยู่แล้ว เพราะนายกฯเคยเป็นผบ.ทบ.ไม่รู้ได้อย่างไร ว่าทหารทำอย่างไรบ้าง การที่นายกฯเดินหนีถือเป็นเรื่องจริง

ส่วนเรื่องอื่นอาจจะวิเคราะห์ว่าเอกสารที่ฝ่ายค้านนำมา ไม่หนักแน่นพอ จึงทำให้คนร่างคำตอบร่างได้ง่ายๆ นายกฯจึงพูดเรื่อยเปื่อย และในสายตาผมไม่คิดว่าประเทศจะพ้นวิกฤตได้ แต่ละเรื่องไม่เก่งเลย อย่างไวรัสโควิด-19 ถ้าหมอไม่เตรียมตัวมาก็ตายแล้ว ซึ่งเป็นความเก่งของบุคลากรทางการแพทย์ไทย เพราะรัฐบาลไม่ออกมาตรการ ไม่ใช้ยาแรงตั้งแต่ต้น

การตอบของนายกฯจึงอย่างนั้นๆ บังเอิญเรื่องที่อภิปรายไม่ใช่หมัดเด็ดของฝ่ายค้าน เพราะเรื่องที่เป็นหมัดเด็ดคือเรื่องการทุจริต และบางเรื่องขึ้นอยู่กับว่าฝ่ายค้านจะสานต่อหรือไม่ รวมทั้งมีหลายส่วนที่ฝ่ายค้านไม่ได้หยิบยกมาตี จึงเหมือนมวยต่อยไม่เต็มที่ อาจจะซ้อมมาไม่ดี

สำหรับการตอบของรัฐมนตรีคนอื่นๆ ก็ตอบธรรมดาและโดนอภิปรายน้อยไป จริงๆ แล้ว นายดอน น่าจะโดนหนักเพราะมีหลายเรื่อง ในเรื่องการทูตต้องรู้ว่าจุดอ่อนตรงไหน แต่ฝ่ายค้านไม่มีเลย ส่วนพล.อ.ประวิตร เท่าที่ทราบอาจจะมียาดี จึงไม่โดนอภิปรายเลย

ขณะที่คะแนนของรัฐมนตรีแต่ละคนที่ออกมา อย่างที่บอก แปลกใจทำไมรัฐบาลได้เยอะ คงเตรียมตัวมาดี ไม่สนใจว่าจะเป็นอย่างไร แต่ขอให้ ลงคะแนนให้ ที่ผ่านมาผมประเมินว่า ร.อ.ธรรมนัส จะได้คะแนนห่างจากนายกฯ 20 แต้ม แต่ครั้งนี้ห่างแค่ 3 แต้ม แสดงว่าเขาไม่แคร์

ดังนั้น คอยดูต่อไปว่ามีการยอมรัฐบาลหรือไม่ หรือทางออกเป็นลักษณะใด และคงต้องดูว่าพรรคใหญ่ในฝ่ายค้านจะเปลี่ยนอุดมการณ์หรือไม่ แต่น่าเชื่อว่าโลเล เพราะคะแนนฝ่ายค้านออกมา 49-55 โดยที่พรรคเพื่อไทยไม่เข้าร่วมโหวตด้วย ดูแล้วเรียกมวยล้มได้

เรื่องการปรับครม.หลังจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ คิดว่าน่าจะมี เพราะครม.ชุดนี้ทำงานไม่ได้เรื่องจริงๆ และต้องปรับร.อ.ธรรมนัส เพราะเป็นจุดอ่อนของรัฐบาล ที่ทำให้ต่างประเทศไม่อยากคุยด้วย แต่ร.อ.ธรรมนัสอาจจะเส้นแข็ง เพราะเป็นเตรียมทหารเหมือนกัน ถ้าจะปรับจริงๆ ก็เพราะฝีมือห่วย

ส่วนการทำหน้าที่ของฝ่ายค้าน ผมมองว่าค้านไม่เป็น จริงๆแล้วเหมือนมีอะไร แต่พอขึ้นชกไม่มีแต้มขึ้น กลับวอล์กเอาต์ ดังนั้นอย่าไปไว้ใจนักการเมือง เพราะชั้นเชิงสูง ผมจึงอยากให้สอบตกด้วยซ้ำ เพราะตอนแรกดูขึงขัง ยกสุดท้ายดันเดินลงจากเวที ในสายตาของคนรู้สึกผิดหวัง ดูถูกประชาชน

ขณะที่การอภิปรายของส.ส.อดีตพรรคอนาคตใหม่ ก็อภิปรายด้วยความมั่นใจ วิธีอภิปรายเป็นดาวรุ่งเลย และข้อมูลดีกว่าพรรคเพื่อไทย แต่ข้อมูลต้องลึกกว่านี้โดยต้องขึ้นแสวงหาข้อมูลให้ลึกขึ้น

ธนพร ศรียากูล

นายกสมาคมรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

จับตาผลสะเทือน-หลังซักฟอก6รมต.

หลังการลงคะแนนในญัตติไม่ไว้วางใจ ในส่วนของนายกฯคงต้องรับโจทย์ที่จะต้องกลับมาทำงานค่อนข้างมาก

ส่วนคะแนนของพล.อ.ประวิตร ที่ค่อนข้างโดดเด่นที่สุด เพราะคะแนนไว้วางใจมีมากกว่ารัฐมนตรีคนอื่นๆ เป็นที่ทราบกันดี ว่าเป็นของพรรคเสรีรวมไทย 3 คน พรรคเพื่อไทย 2 คน ปรากฏการณ์นี้ของส.ส.ที่เรียกว่างูเห่าได้ขยายตัวเพิ่มมากขึ้น จากเดิมที่คิดว่ามีอยู่ภายในพรรคเพื่อไทยเท่านั้น

พรรคเสรีรวมไทย ซึ่งกำลังเล่นบทบาทในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ป.ป.ช.อยู่ ซึ่งมีส.ส.ของพรรคนี้ 3 คน ที่มีความเห็นไม่ตรงกับพรรค จึงเป็นเรื่องที่พรรคต้องไปทำความชัดเจนให้ปรากฏต่อสังคมต่อไป

ที่น่าสนใจ คือ ร.อ.ธรรมนัส ที่คะแนนงดออกเสียงเยอะมาก

นอกจากนี้ ชัดเจนว่ามีคนในพรรคประชาธิปัตย์กลุ่มหนึ่ง ที่ออกมาให้ข่าวตรงไปตรงมาว่าไม่อยากยกมือให้ ทำให้ร.อ.ธรรมนัส อาจเป็นรัฐมนตรีคนเดียวที่พี่น้องประชาชนนอกสภา เห็นร่วมกันว่าท่านอาจไม่มีความเหมาะสมกับตำแหน่งนี้อีกต่อไป เพราะด้วยข้อสงสัย และบุคลิกของท่าน รวมถึงข้อกล่าวหา ท่านไม่สามารถที่จะแก้ไขหักล้างข้อกล่าวหาได้เลย

นอกจากนี้ หลักฐานที่ผู้อภิปรายฝ่ายค้านนำมาใช้ก็มีน้ำหนักที่น่าเชื่อถือมาก เพราะได้รับการรับรองทุกชิ้น ประกอบกับเป็นคดีเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งในหมู่ของคนไทยถือว่าไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง ที่ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้

ที่สำคัญกรณีการถูกดำเนินคดีในต่างประเทศ ท่านจะบอกว่าไม่ใช่คำตัดสินของศาลไทย เป็นสิ่งที่ร้ายแรงที่สุด เพราะถือว่ามาตรฐานของศาลต้องมีความเท่าเทียมกัน เพราะถือเป็นสากล

ในเมื่อร.อ.ธรรมนัส ยอมรับเองว่าโดนดำเนินคดี และถูกตัดสินคดีจริง แสดงว่าคุณสมบัติของท่าน ไม่เหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งในการบริหารงานนโยบายต่างๆ ดังนั้น โดยหลักการร.อ.ธรรมนัส ควรต้องแสดงความรับผิดชอบ

ส่วนกรณีนายดอน และนายวิษณุ เรื่องที่ทั้งสองท่านถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ เป็นเรื่องที่มีรายละเอียดในข้อมูลเยอะมาก และต้องยอมรับว่าการนำเสนอข้อมูลการอภิปรายของพรรคเพื่อไทย อาจดูเหมือนมีสีสันเรื่องของลีลา แต่การเรียงลำดับเนื้อหาเพื่อให้ประชาชนเข้าใจต้องบอกว่าสอบตก

โดยเฉพาะเรื่องการต่างประเทศ ซึ่งเกี่ยวข้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศ การที่ผู้อภิปรายมุ่งเน้นลีลามากเกินไป โดยไม่มุ่งเน้นการเรียงลำดับเนื้อหาที่ทำให้ผู้ฟังทางบ้าน ได้เข้าใจเรื่องนี้มากเพียงพอ เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ฟังไม่ได้มีความรู้สึกร่วมไปกับผู้อภิปราย ต่างจากกรณีรมช.เกษตรฯ ที่ข้อกล่าวหาสั้นๆ ง่ายๆ แต่ชัดเจน

หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ คิดว่ากรณีของร.อ.ธรรมนัส เป็นที่แน่ชัดว่ามีส.ส.ฝ่ายรัฐบาลกล้าเปิดตัวว่าไม่ไว้วางใจ แต่ต้องลงมติไว้วางใจเพื่อเป็นไปตามมารยาท สิ่งเหล่านี้รัฐบาลโดยเฉพาะนายกฯ ต้องนำไปพิจารณาในการปรับครม.

ประกอบกับข้อเสนอพรรคฝ่ายค้านที่ได้อภิปราย ก็ชี้ให้เห็นเชิงประสิทธิภาพของการทำงานของรัฐบาลในภาพรวม เมื่อกระบวนการในรัฐสภาเสร็จสิ้น ถ้านายกฯต้องการลดแรงกดดันทางการเมือง หรือแสดงให้เห็นว่าท่านได้รับฟังข้อมูลจากฝ่ายค้านด้วย จำเป็นอย่างยิ่งที่นายกฯต้องปรับครม.

ส่วนบทบาทของฝ่ายค้าน ขอแยกเป็น 2 กลุ่ม คือพรรคที่เคยอยู่ในสภา เล่นได้ตามบทบาทคือยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ ผมให้แค่ 5 เต็ม 10 ทำได้ตามบทบาทคือยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ

แต่ของอีกกลุ่มหนึ่งที่เพิ่งถูกยุบพรรคไป ในแง่ของเนื้อหา และคุณภาพ ที่นำมาอภิปราย แม้ไม่ได้เป็นประเด็นจับทุจริต แต่เนื้อหาการนำเสนอเป็นการให้ข้อมูลต่อสังคม ถึงประสิทธิภาพการทำงานของรัฐบาลว่ามีจุดบกพร่อง โดยมีข้อมูลต่างๆ มาอ้างอิงชัดเจน

เป็นกลุ่มที่เพิ่งเข้ามาสู่วงการการเมือง แต่ทำได้ดีกว่ากลุ่มแรก แต่จำเป็นต้องบ่มเพาะประสบการณ์ในการทำงานเวทีรัฐสภาต่อไป

ถ้ามองในภาพรวมการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ ทำให้เห็นว่ารัฐสภาหรือเวทีประชาธิปไตย เป็นเวทีที่สร้างความหวังทำให้เกิดการตรวจสอบได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน