โควิด-แฟลชม็อบ

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

โควิด-แฟลชม็อบ – คําชี้แจงของรัฐบาลต่อการชุมนุมของกลุ่มนักเรียนนักศึกษาและประชาชนในรั้วสถาบันการศึกษา ย้ำจากหลายคนว่าไม่เคยปิดกั้น เพียงมีคำว่า “แต่” ตามมาเป็นเหตุผลต่างๆ กัน

“แต่” ข้อแรก คือห่วงกังวลว่าจะถูกยุยงปลุกปั่น หรือถูกใช้เป็นเครื่องมือ

“แต่” ข้อต่อมาคือคำเตือนว่า อาจถูกดำเนินคดีอาญาจนเสียอนาคต

“แต่” ล่าสุด คืออาจทำให้การระบาดของไวรัสโควิด-19 ไปถึงจุดเปลี่ยน หากมีการติดเชื้อในที่ชุมนุม นำสู่ผู้สัมผัสเป็นหมื่นคน

ดังนั้น แม้รัฐบาลย้ำว่าไม่เคยคิดสกัดกั้นการแสดงออกถึงสิทธิ เสรีภาพ หรือห้ามการชุมนุมทางการเมือง “แต่” การใช้ พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร มีความเป็นไปได้

การพูดถึงความมั่นคงที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์โควิด-19 ของรัฐบาล ชัดเจนตั้งแต่การประชุมคณะกรรมการอำนวยการ เตรียมความพร้อม ป้องกัน และแก้ไขปัญหา โรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 20 ก.พ.

รัฐบาลเริ่มพิจารณาถึงการรับมือสถานการณ์ในระยะที่ 3 ว่าจะต้องกำหนดมาตรการงดการจัดชุมนุมขนาดใหญ่ที่เสี่ยงต่อการแพร่กระจายโรค จากนั้นจะพิจารณาประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติเพื่อควบคุมการระบาดในชุมชน

ส่วนการประท้วงของกลุ่มนักศึกษา ณ วันนั้นยังไม่เริ่มต้น เพียงคาดการณ์ไว้ว่าอาจมี หลังพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ

กระทั่งขณะนี้ สถานการณ์รับมือโควิดและการชุมนุมแฟลชม็อบจึงมาบรรจบกันดังที่คาดไว้

ปัจจุบัน การรับมือโควิดของไทยยังอยู่ในระยะที่ 2 หมายถึงควบคุมได้มากพอสมควร

ส่วนระยะที่ 3 หมายถึงอาจพบผู้ป่วยมากกว่า 1,000 ราย ต่อวัน และอาจทำให้มีผู้ป่วยเสียชีวิตทุกวัน

การทำงานอย่างแข็งขันของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง รวมถึงเจ้าหน้าที่ฝ่ายอื่นๆ เพื่อไม่ให้สถานการณ์ยกระดับเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมและควรให้กำลังใจกัน

แต่ท่าทีของรัฐบาลที่ต้องระมัดระวังคือการแสดงความเห็นที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งในสังคม ว่ากลุ่มผู้ชุมนุมกำลังสร้างความเสี่ยงให้เกิดการระบาดของเชื้อ

เพราะการทำให้คนเกลียดชังกันนั้นอาจอันตรายยิ่งกว่าไวรัส

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน