ราคายางที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นปัญหาเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องแก้ เพราะไม่เพียงกระทบโดยตรงต่อเกษตรกร เรื่องปากท้องยังอ่อนไหวอย่างมากต่อเสถียรภาพของรัฐบาล

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เตรียมเสนอ 4 มาตรการ ที่เป็นการช่วยเหลือด้านหนี้สิน เพิ่มสภาพคล่อง ต่อครม.อังคารนี้

ขณะที่การยางแห่งประเทศไทย หรือ กยท. เรียกประชุม 5 บริษัทส่งออกรายใหญ่ และเตรียมจับมือกับประเทศผู้ผลิต มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เพื่อนำไปสู่กำหนดราคา

การดำเนินการเหล่านี้ถือว่าแก้ปัญหาถูกจุดหรือไม่ ยังมีมาตรการใดที่ต้องทำเร่งด่วน และระยะยาวต้องทำอย่างไร มีข้อเสนอจากตัวแทนชาวสวนและนักวิชาการ

ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์
ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ

วันที่ 12 มิ.ย. จะเชิญผู้เกี่ยวข้องกับยางพารามาหารือเกี่ยวกับราคายางพาราที่ตกต่ำ ก่อนจะนัดคณะกรรมการยางพาราที่เป็นสมาชิกสภาเกษตรกรเข้าหารือ เพื่อสรุปข้อเรียกร้องของชาวสวนยางส่งถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อหาทางออกร่วมกัน

ส่วนตัวมองว่า 4 มาตรการที่กระทรวงเกษตรฯ จะนำเข้า ครม.ถือว่ามีผลน้อยมากต่อราคายางพาราในไทยและในตลาดโลก เพราะ 4 เป็นมาตรการเก่าที่นำมาเพื่อขยายเวลามาตรการเดิมที่มีอยู่ ไม่มีผลกระตุ้นตลาดในเรื่องการสร้างอำนาจต่อรองให้เกษตรกร จึงไม่มีผลต่อราคา

มาตรการที่คิดว่าจะสามารถทำให้ราคายางพาราดีดกลับได้อย่างยั่งยืน รัฐบาลต้องตั้งทีมงานเฉพาะกิจขึ้นมาหาสาเหตุและตอบโต้กลับพวกที่กดราคาซื้อยางพาราทั้งผ่านตัวแทนในประเทศและตลาดล่วงหน้าในต่างประเทศ ก๊วนกดราคายางพาราพวกนี้ที่สร้างความเดือดร้อนให้ชาวสวน

รัฐบาลต้องพยายามสร้างความต้องการเทียมขึ้นมาให้ได้เพื่อดึงปริมาณยางออกจากระบบ ดันราคาให้สูงขึ้น อีกมาตรการที่คิดว่าน่าจะได้ผลที่สุดในช่วงนี้คือการใช้ยางในประเทศ ที่เดิมนายกรัฐมนตรีสั่งให้ 8 กระทรวงใช้ยางโดยใช้งบประมาณประจำก่อนแต่ผลสรุปไม่มีความคืบหน้า

มาตรการใช้ยางพาราในประเทศที่ผ่านมาสถาบันการศึกษามีการทำวิจัยจำนวนมาก และผลออกมาสามารถใช้ยางพาราทำถนน ทำฝายได้จำนวนมาก และคุณภาพแข็งแรงกว่าวัสดุที่ใช้ในปัจจุบันหลายเท่าตัว แต่ไม่รู้เพราะเหตุใดคำสั่งของนายกฯ ถึงไม่ได้ผล ไม่มีใครทำตาม

หากนโยบายการใช้ยางพาราในประเทศไม่สามารถเกิดได้ในรัฐบาลนี้ ซึ่งเป็นยุครัฐบาลทหารที่อำนาจเต็มก็ไม่ควรทำอีก เพราะหากรัฐบาลนี้ทำไม่ได้ รัฐบาลอื่นๆ ก็ไม่มีทางทำได้แน่นอน

อุทัย สอนหลักทรัพย์
ประธานสภาเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย

ราคายางพาราที่เกษตรกรขายได้ราคาปรับลดลงเนื่องจากมีกลไกราคาที่ผิดเพี้ยนจากปกติ หรือมีการทุบราคายางพาราจากผู้ประกอบการในประเทศ และส่วนหนึ่งเกิดจากการปล่อยข่าวเรื่องสต๊อกยางในโลกว่ามีมากจนราคาลดลง

จนทำให้ราคาในประเทศไทยลดต่ำแตะ 53 บาท/กิโลกรัม(ก.ก.) ต่ำกว่าราคาต้นทุนที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.) กำหนดไว้คือ 64 บาท/ก.ก. จนทำให้กยท.เรียก 5 เสือ ส่งออกที่เป็นพ่อค้ารายใหญ่ที่สุดในไทยที่จะรับซื้อยางจากเกษตรกรมาหารือให้ช่วยพยุงราคายางพารา

มาตรการหารือพ่อค้าเพื่อช่วยพยุงราคายางให้เกษตรกรนั้นไม่ได้ผล เพราะพ่อค้าต้องหวังผลกำไร ไม่ใช้มูลนิธิจะทำเพื่อส่วนรวม เรื่องแบบนี้เคยเกิดขึ้นแล้วเมื่อปีเศษที่ราคายางปรับตัวลดลง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ เรียกพ่อค้ากลุ่ม 5 เสือส่งออกมาคุยเพื่อจะให้ช่วยพยุงราคายางให้ขึ้นเกิน 60 บาท/ก.ก. ที่สุดก็ไม่ได้ผล ได้อย่างเดียวถ่ายรูปคู่กัน

สำหรับ 4 มาตรการของกระทรวงเกษตรฯ ที่จะเสนอคณะรัฐมนตรีเป็นเรื่องเก่าที่ทำแล้วไม่ได้ผลสำหรับการพยุงราคา แต่เป็นมาตรการเสริมสภาพคล่องและยืดหนี้ให้กับสถาบันเกษตรกร

ส่วนการแทรกแซงราคาโดยใช้มูลภัณฑ์กันชนเข้ามารับซื้อยางเพื่อแทรกแซงราคา ส่วนตัวไม่เห็นด้วยเพราะจะทำให้เกิดวงจรอุบาทว์ หาที่เก็บ ซื้อขาดทุน ต้องหาวิธีขาย ต้องจ่ายค่าโกดังเก็บ เรื่องเดิมๆ ที่มีกลุ่มคนได้ประโยชน์

ในฐานะเกษตรกรมองว่ามีวิธีที่จะทำให้ราคายางพารามีความยั่งยืน ควรสนับสนุนรายย่อยที่เป็นผู้รวบรวมยางพาราในประเทศไทยมีจำนวนมาก กลุ่มพวกนี้กำลังขาดสภาพคล่อง แทนที่จะช่วยรายใหญ่เหมือนมาตรการที่ทำไว้ในช่วงที่ผ่านมา

ควรปล่อยกู้ให้เกษตรกรรายเล็กในอัตราดอกเบี้ยต่อปีไม่เกิน 2% ไปรับซื้อยาง เพื่อเสริมสภาพคล่องให้เกษตรกรรายย่อย ใช้ควบคู่กับการนำเครื่องมือเรื่องของการกำหนดราคา ควบคุมการนำเข้าส่งออกยาง และหาก 5 เสือกดราคาเกษตรกรให้ถอนใบอนุญาตส่งออก

ส่วนมาตราการร่วมมือ 3 ประเทศส่งออก คือ มาเลเซีย ไทย และอินโดนีเซีย ถือว่าเป็นสิ่งดี หากช่วงไหนราคายางพาราไม่ได้ก็ชะลอหรือลดลงออกเลย เพราะปี 2560 นี้ผลผลิตยางพาราถือว่าน้อยกว่าทุกปี

หากผู้ผลิตรายใหญ่ลดการส่งออกและภาครัฐจริงใจในการใช้ในประเทศให้มาก จะทำให้ราคายางมีเสถียรภาพแน่นอน เพราะมาตรการนี้ใช้ได้ผลมาแล้วเมื่อปีก่อน

 

ฐิติพล ภักดีวานิช
คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลฯ

ปัญหายางพาราที่ปรับลดลงเนื่องจากเมื่อราคาปรับสูงขึ้นเกษตรกรก็พากันปลูกยางจำนวนมาก ที่สำคัญคือปัญหาที่เกิดทั้งหมดมาจากนโยบายเกษตรในภาพรวม การควบคุมการผลิตไม่ได้มองแบบองค์รวม

ที่ผ่านมาการให้คำแนะนำจากกระทรวงเกษตรฯ ไปยังเกษตรกรไม่มีความชัดเจนว่าควรปลูกอย่างไร ทำอย่างไรในฤดูกาลไหน หรือการทำโซนนิ่งอย่างที่หลายรัฐบาลพยายามจะทำอยู่

เดิมยางพาราปลูกเฉพาะในภาคใต้แต่เมื่อราคาต่อกิโลกรัมสูงขึ้น เกษตรกรภาคอีสานก็หันมาปลูก รัฐบาลในยุคหนึ่งก็ส่งเสริมแจกกล้ายางพาราฟรีจนคนแห่ปลูกกันมากมาย

ในเชิงนโยบายหลักการควบคุมการผลิตน่าจะทำได้ตั้งแต่ต้นแต่รัฐบาลไม่ได้ทำ เพราะหลายๆรัฐบาลมองบวกเกินไปแทนที่จะควบคุมการผลิต เพราะยางพาราไม่ใช่สินค้าที่ผลิตเพื่อบริโภคเหมือนข้าว แต่เป็นพืชเพื่อพาณิชย์ ฉะนั้นจะไปโทษเกษตรกรอย่างเดียวไม่ได้เพราะถือเป็นอาชีพของเขา เป็นเรื่องปกติที่เกษตกรจะปลูกพืชที่มีราคาดี

แต่รัฐบาลควรมีทางเลือกหลายๆ ทาง และควรส่งเสริมในหลายๆ รูปแบบ เช่น การส่งเสริมการเกษตรที่ไม่ให้เกษตรกรติดกับดักสินค้าที่มีราคาผันผวนตามตลาด ไม่ว่ารัฐบาลไหนควรมีทางเลือกอื่นเพื่อไม่ให้เกษตรกรแห่ไปปลูกยาง ขณะเดียวกันเกษตรกรก็ต้องรับรู้ข้อมูลข่าวสาร

วันนี้เมื่อราคาปรับลดลงรัฐบาลควรเร่งสนับสนุนเป็นมาตรการระยะสั้น ไม่ได้หมายความว่าต้องสนับสนุนตลอดเวลา เพราะเมื่อยางราคาขึ้นเกษตรกรก็ได้กำไรมาก ดังนั้นเกษตรกรก็ต้องหาวิธีจัดการ ซึ่งต่างกับข้าวที่ราคาไม่ค่อยขึ้น จึงต้องการการสนับสนุนจากรัฐบาลมากกว่ายางพารา

การจับมือของประเทศผู้ผลิตเพื่อกำหนดราคากลางและมีอำนาจต่องรองน่าจะช่วยได้เรื่องการกำหนดราคา แต่มาตรการระยะยาวคือการสร้างมูลค่าเพิ่มของยางพาราด้วยการแปรรูป อย่าขายแต่เฉพาะยางดิบ ควรส่งเสริมธุรกิจอุสาหกรรมแปรรูปยางจะทำให้มีตลาดภายในประเทศเพิ่มขึ้น

เช่น อีสานที่มีพื้นที่ปลูกยางจำนวนมาก ถ้าส่งเสริมให้มีโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางก็จะช่วยเกษตรกรได้ระดับหนึ่ง จะได้ไม่เป็นภาระระยะยาวกับรัฐบาล

ส่วน 4 มาตรการของกระทรวงเกษตรฯ เป็นเรื่องดีจะช่วยเหลือช่วงที่ราคายางพาราตกต่ำ โดยเฉพาะการขยายเวลาเรื่องสินเชื่อ ช่วยได้ในระดับหนึ่งคล้ายกับนโยบายการพักหนี้ ทำให้เกิดสภาพคล่องของเงินทุนเกษตรกร แต่ไม่ควรเป็นมาตรการช่วยเหลือระยะยาว เพราะมีเกษตรกรกลุ่มหนึ่งจะเกิดการสร้างหนี้ต่อไปเรื่อยๆ

การสนับสนุนด้านการเงินไปเรื่อยๆ ไม่ถูกต้อง ไม่แฟร์กับการจัดสรรงบประมาณในด้านอื่นๆ เช่น การศึกษา ด้านสุขภาพ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน