คอลัมน์ บทบรรณาธิการ : 88 ปี 24 มิถุนาฯ

วาระครบรอบ 88 ปี เหตุการณ์ 24 มิถุนายน 2475 การปฏิวัติสยาม แม้เป็นเหตุการณ์สำคัญมากทางการเมือง แต่กลับเป็นที่วิตกกังวลของฝ่ายความมั่นคง
ถึงกับมีคำตักเตือนต่อนักกิจกรรมรณรงค์ประชาธิปไตยหรือนิสิตนักศึกษาว่า อย่าก้าวล่วงกฎหมาย
กฎหมายที่ควบคุมความเคลื่อนไหวอยู่ในขณะนี้คือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แม้ว่าเจตนาดั้งเดิมรัฐบาลนำมาใช้เพื่อควบคุมโรคระบาดโควิด-19 แต่กลับมีผลต่อกิจกรรมแสดงความคิดเห็นทางการเมืองมาโดยตลอด
โดยเฉพาะเหตุการณ์เดือนพฤษภาฯ จนมาถึง 24 มิถุนาฯ
ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่หน่วยงานความมั่นคงและรัฐบาลต้องพิจารณาด้วยการหาจุดสมดุลระหว่างความสำคัญทางประวัติศาสตร์กับการใช้อำนาจรัฐที่จะปฏิบัติต่อประชาชน
การปฏิวัติสยาม 24 มิถุนาฯ 2475 มีประเด็นที่ควรต้องศึกษาและเรียนรู้ประวัติศาสตร์ตั้งแต่เริ่มต้นจนมาถึงปัจจุบัน
ตั้งแต่การเคลื่อนไหวของคณะราษฎร การเปลี่ยนแปลงของโลกภายนอกที่ส่งผลต่อสังคมและการเมืองภายในประเทศ การมีรัฐธรรมนูญฉบับแรก การฉีกรัฐธรรมนูญหลายฉบับ พร้อมกับการรัฐประหารอีกหลายครั้ง
ล้วนทำให้พัฒนาการของระบอบประชาธิปไตยไทยหยุดชะงัก ถูกผลักไปข้างหลัง และเกิดเหตุรุนแรงคร่าชีวิตคนจำนวนมาก
ในที่นี้รวมถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516, เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519, เหตุการณ์พฤษภาคม 2535, พฤษภาคม 2553, รัฐประหาร 2549 และรัฐประหาร 2557 ที่ยังส่งผลและอิทธิพลสูงมากต่อการเมืองปัจจุบัน
แม้แต่งานรำลึกเหตุการณ์ 24 มิถุนาฯ ก็ไม่เป็นไปอย่างปกติธรรมดา แต่ถูกมองด้วยสายตาไม่ไว้วางใจจากรัฐ
หากการรำลึก 88 ปี การปฏิวัติสยาม เป็นไปอย่างเสรีทั้งด้านกิจกรรมและด้านวิชาการ น่าจะมีแง่คิดและบทเรียนมากมายแก่คนในสังคม
เพื่อไม่ปิดแคบด้วยความคิดสรุปแบบลวกๆ หรือหยาบๆ ว่าเหตุการณ์ 24 มิถุนาฯ เป็นการชิงสุกก่อนห่าม หรือเป็นประชาธิปไตยของตะวันตกที่ไม่เหมาะกับสังคมไทย
อย่างน้อยควรได้ศึกษาการวิเคราะห์ของปรีดี พนมยงค์ บุคคลสำคัญในคณะราษฎร ว่าความผิดพลาดของคณะราษฎรตอนนั้นคือคิดแต่เพียงเอาชนะทางยุทธวิธีในการยึดอำนาจรัฐเป็นสำคัญ โดยมิได้คิดให้รอบคอบว่าจะรักษาชัยชนะไว้ได้อย่างไร
จุดนี้มีส่วนให้การเปลี่ยนแปลงเมื่อ 24 มิถุนาฯ พลิกผันมาอยู่ในสภาพปัจจุบัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน