ทำงานที่บ้าน ก็ต้องทากันแดด รู้ไหมว่าแสงสีฟ้าจากคอมพ์มือถือ ตัวการทำผิวหมองคล้ำ ฝ้ากระผุด ริ้วรอยย่นยับมาเยือน
ทำงานที่บ้าน ปกติรับทราบกันอยู่แล้วว่าแสงแดด นอกจากทำให้หนังหน้าดำหมองคล้ำแล้ว ยังก่อให้เกิดฝ้ากระ ริ้วรอย หน้าย่นหน้ายับมาเยือนก่อนเวลาอันควร ซึ่งสาวๆ เราล้วนติดนิสัยทาครีมกันแดดก่อนออกจากบ้านเสมอ ทว่าในสถานการณ์กักตัวทำงานอยู่บ้าน เพื่อตัวเอง เพื่อชาติ ป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสร้าย “โควิด-19” ก็ต้องทาครีมกันแดดเหมือนกัน
คอมพ์–มือถือ–แทบเล็ต ปล่อยแสงสีฟ้า
ไฟนีออนมีรังสี UV เช่นกัน แม้ไม่เท่ากับรังสี UV ในแสงแดด แต่ในระยะยาวก็สามารถส่งผลเสียต่อผิวได้เหมือนกัน ถ้าไม่มีการป้องกันผิวด้วยการทาครีมกันแดด
ทีนี้ไม่เพียงแต่แสงจากไฟนีออนเท่านั้นที่เป็นอันตรายต่อผิว ยังมีคอมพิวเตอร์และมือถือซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นสิ่งจำเป็นคู่วิถีชีวิตพวกเราไปแล้ว
“แสงสีฟ้า” (Blue light) เป็นรูปแบบของคลื่นแสงพลังงานสูง ที่มีความยาวคลื่นต่ำกว่า 300 นาโนเมตร ซึ่งประสาทตาของมนุษย์สามารถสัมผัสความยาวคลื่นที่อยู่ระหว่าง 400-700 นาโนเมตรเท่านั้น ซึ่งแสงที่ผสมอยู่ในช่วงแสงสีขาวแบ่งได้เป็น 7 สี คือ ม่วง คราม น้ำเงิน เขียว เหลือง แสด และแดง หรือจะนึกถึงภาพของสายรุ้งก็ได้ ซึ่งแสงสีฟ้าจะผสมอยู่ในช่วงน้ำเงินกับคราม และมีอยู่รอบๆ ตัว เช่น หลอดไฟฟลูออเรสเซนต์
แสงสีฟ้า มีอยู่ในอุปกรณ์ต่างๆ ที่เราใช้งานในชีวิตประจำวัน อาทิ โทรทัศน์ รวมถึงอาชีพที่ต้องใช้แสง เช่น การเชื่อมเหล็ก แต่ที่พบมากที่สุด คือ หน้าจอคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ แทบเล็ต
แสงสีฟ้า ทำร้ายสุขภาพและผิวพรรณ
รศ.นพ.นริศ กิจณรงค์ ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เคยกล่าวในงานเสวนาสุขภาพ ว่าคนที่มีพฤติกรรมการใช้คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต ติดต่อกันเป็นเวลานานๆ จะทำให้ตาแห้งและกะพริบตาน้อยลง เกิดการแสบตา การมองเห็นเริ่มผิดปกติ เห็นภาพซ้อน มองไม่ชัด ปวดเบ้าตา กล้ามเนื้อตาอ่อนล้า เป็นอาการเริ่มต้นของโรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม และเป็นการกระตุ้นให้จอประสาทตาเสื่อมเร็วขึ้นด้วย
นอกจากนี้ ยังอาจทำให้เกิดอาการตาแห้ง เจ็บ พล่ามัว รวมถึงมีอาการปวดหัวร่วมด้วย ในบางรายที่เจอแสงสีฟ้าเป็นเวลานาน และต่อเนื่อง อาจมีปัญหาจอตาเสื่อมก่อนวัยได้
ด้านความงาม แสงสีฟ้าจะทำให้เซลล์ผิวเสื่อมสภาพเร็วกว่าปกติ ทำให้ผิวหน้าหมองคล้ำ เกิดริ้วรอยเหี่ยวย่นได้ง่าย ผิวขาดความชุ่มชื้นจนทำให้เกิดสิว ฝ้า กระ และจุดด่างดำได้อีกด้วย
แม้แสงสีฟ้าไม่ได้รุนแรงเท่ารังสี UVA และ UVB แต่ว่าแสงสีฟ้าก็สามารถทะลุเข้าชั้นผิวได้ลึกถึงผิวหนังชั้นแท้ (Dermis) หรือชั้นที่มีคอลลาเจนหรืออีลาสตินอยู่ โดยเข้าไปทำลายคอลลาเจนใต้ผิว
นอกจากนั้นหากมีพฤติกรรมการเล่นโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนก่อนนอน แสงสีฟ้าจะเข้าไปรบกวนฮอร์โมนเมลาโทนิน ที่ช่วยให้นอนหลับ เมื่อถูกรบกวนก็จะทำให้เกิดอาการนอนหลับไม่สนิท ส่งผลเสียทางอ้อมให้กับผิวได้ด้วย
วิธีรับมือแสงสีฟ้า
–ใส่แว่นตาที่ป้องกันแสงยูวี
–ลดความสว่างหน้าจอคอมพิวเตอร์ เพราะความสว่างหน้าจอที่มากปริมาณยูวีก็มากขึ้นด้วย
–ติดฟิล์มที่หน้าจออุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ช่วยลดแสง UV400/UVA1 เป็นการป้องกันไม่ให้ดวงตาสัมผัสแสงเหล่านี้โดยตรง
-ใช้ผลิตภัณฑ์กันแดดที่สามารถช่วยปกป้องผิวจากแสงสีฟ้าได้
-เล่นสมารท์โฟนให้น้อยลง
-ควรพักสายตาทุก 2 ชั่วโมง ประมาณ 5 นาที
-พักสายตาด้วยการมองไปไกลๆ เพื่อลดการเพ่งของสายตาเป็นการบรรเทาความเมื่อยล้าของกล้ามเนื้อบริเวณ รอบดวงตาได้
-การพักสายตาที่ดีที่สุดคือ การนอน
–ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอและรับประทานอาหารประเภทผักผลไม้ที่มีสีเหลืองส้ม อย่าง ส้ม ฟักทอง ฝรั่ง มะละกอ จะช่วยบำรุงสายตาได้
-แนะนำให้ผู้ที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไปตรวจสุขภาพตาทุกๆ 1-2 ปี เพื่อป้องกันการเกิดโรคตาต่างๆ เช่น ต้อหิน ต้อกระจก เป็นต้น