หลังคว้าตำแหน่งนางสาวไทย ‘นิต้า’ มานิตา ดวงคำ ฟาร์เมอร์ นางสาวไทยประจำปี 2565 พร้อมด้วย ‘มุก’ อัญพัชร์ ปิติประจักษ์วัชร รองอันดับ 1, ‘นิดา’ วนิดา ดอกกุหลาบ รองอันดับ 2, ‘นิกกี้’ อธิชา เรนนี่ รองอันดับ 3 และ ‘ไข่มุก’ ศรณ์ศรฏฐ์ วิทยาเรืองสุข รองอันดับ 4 เดินทางเข้าขอบคุณกองบรรณาธิการข่าวสดในการนำเสนอข่าวการประกวด พร้อมพูดคุยให้สัมภาษณ์เผยมุมมองความคิดสวยสมาร์ตสมมงฯ ในบรรยากาศเป็นกันเอง

“หลังจากได้ตำแหน่งกระแสตอบรับดีค่ะ แต่อาจจะมีบ้างที่บอกว่าเราหน้าไม่ไทยเลย อยากให้มองว่าเราโตขึ้นมากับการเลี้ยงดูแบบไทยแท้ๆ โตมากับวัฒนธรรมไทย ครอบครัวเลี้ยงแบบคนไทย คุณพ่อไม่เคยอยากให้ไปโตที่ต่างประเทศ เด็กๆ เราเคยอยู่โรงเรียนนานาชาติ คุณแม่ให้ย้ายมาอยู่โรงเรียนไทยเพราะกลัวจะไม่ได้วัฒนธรรมไทย อยากเป็นตัวแทนของคนที่เป็นลูกครึ่งไทย จีน แขก หรือ ประเทศอื่นๆ ต้ามองว่าถ้าเราเกิดและโตที่ไทยก็คือคนไทยคนหนึ่ง เราพูดไทย พูดทั้งภาษาเหนือและใต้มาตลอด” สาวนิต้า มานิตา เปิดใจในฐานะนางสาวไทยคนแรกที่เป็นสาวลูกครึ่ง

ก่อนกล่าวต่อว่า ในเรื่องของวัฒนธรรมต้าได้เรื่องภาษาเพราะคุณพ่อพูดไทยไม่ได้ เราพูดภาษาอังกฤษกับเขา แต่เรื่องวัฒนธรรมต่างชาติที่เราได้จริงๆ มาได้ตอนที่เริ่มเรียนมหาวิทยาลัย ต้าเรียนคณะนิเทศฯ การตลาด เราได้ความรู้เพิ่มในช่วงนี้ว่าการสื่อสารกับคนไทยจะเป็นรูปแบบหนึ่ง คนชาติอื่นๆ จะเป็นรูปแบบหนึ่ง ต้องสื่อสารต่างกันไป และในฐานะที่ต่อไปจะเป็นทูตวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวนั้น สถานการณ์โควิด-19 อาจทำให้ยังเดินทางยากลำบากอยู่ เราสามารถทำคอนเทนต์ล่วงหน้าไว้ได้ นำเสนอประเทศไทยในมุมสถานที่ท่องเที่ยว วิถีชีวิต ผลิตภัณฑ์ต่างๆ เก็บไว้แล้วลงโซเชี่ยลมีเดีย สื่อสารกับทั่วโลกว่าเรามีของดีแบบนี้ ถ้ามาเที่ยวได้เมื่อไหร่ก็กลับมานะ หรือการนำผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นมาสร้างแบรนด์เพิ่มมูลค่าให้สินค้า นอกจากนี้ อยากให้คนไทยช่วยกันใช้ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ถ้าคนรุ่นใหม่ใช้กันเยอะๆ ต่างชาติมาเห็นเขาก็อยากใช้ด้วย เหมือนกางเกงช้างที่ใครมาถึงประเทศไทยก็ต้องซื้อกลับไป

ด้านงานครูอาสา นิต้าเล่าว่า “การเคยเป็นครูจิตอาสาของต้าเราได้ลงไปเห็นว่าครูต้องสอนตามตัวชี้วัดที่กำหนดไว้ ทำให้เราไม่สามารถสอนในเนื้อหาที่เราอยากสอนได้เต็มที่ และการเรียนออนไลน์นั้นเด็กจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงได้ โรงเรียนที่เราเคยไปสอนเป็นโรงเรียนขนาดกลางที่จ.นครปฐม นั่งรถออกจากใจกลางเมืองไปแค่ 1 ชั่วโมง แต่เด็กๆ ลำบากกันมาก บางครอบครัวมีมือถือที่ใช้เรียนออนไลน์เพียงเครื่องเดียว ทำให้เด็กหลายคนขาดโอกาสตรงนี้ไป บางครั้งที่เราสอนออนไลน์มีเด็กเพียงคนเดียวที่เข้าเรียนได้ เราเคยมองว่าเด็กที่เข้าไม่ถึงการเรียนออนไลน์คงเป็นเด็กในพื้นที่ห่างไกลมากๆ ความจริงไม่ใช่เลย”

นิต้ากล่าวถึงอาชีพครูด้วยว่า อยากให้ครูมีคุณภาพชีวิตและสวัสดิการที่ดีขึ้น เขาต้องทำงานหนักมากไม่ใช่แค่งานสอน อยากให้กลับมาให้คุณค่าอาชีพครู การพัฒนาครูคือรากฐานของความรู้และอนาคตของเด็กไทยจริงๆ และต่อไปถ้ามีโอกาสก็อยากกลับไปสอนอีก อาจจะสอนเป็นค่ายภาษาอังกฤษ

ในตอนท้าย นิต้า สาวหวานกล่าวถึงเส้นทางก่อนคว้ามงกุฎนางสาวไทยคนที่ 53 ว่าเคยประกวดมาหลายเวที ก่อนมาเวทีนางสาวไทยก็เว้นช่วงการประกวดไปนาน พอเห็นคุณสมบัติของนางสาวไทยปีนี้จึงกลับมา เขาโฟกัสเรื่องการศึกษา การท่องเที่ยว ซึ่งตรงกับเราพอดีจึงเลือกจะมา อยากให้คนที่อยากประกวดเหมือนเราดูว่าแต่ละเวทีต้องการอะไร เรามีคุณสมบัติตรงกับเวทีไหนให้ไปตรงนั้น ตอนที่เราทำได้แล้วเรารู้สึกสบายใจ โล่งใจ ทุกอย่างที่ทำมาเห็นผลแล้ว ฉันทำสำเร็จแล้ว

“นิยามคำว่านางสาวไทยปี 2022 ธีมคือกำเนิดใหม่ไปด้วยกัน ต้ามองว่าคือความคลาสสิคที่ไม่น่าเบื่อ มีกลิ่นอายนางสาวไทยแบบเดิม อ่อนหวาน แต่มีความสมาร์ต สตรอง เพิ่มขึ้นมา ขอบคุณแฟนๆ ขอบคุณทุกกำลังใจที่ได้มาจริงๆ ดีใจที่เขาเห็นความสามารถของเราและอยากให้รักกันไปอย่างนี้เรื่อยๆ นะคะ” นางสาวไทยประจำปี 2565 กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน