เจาะกูเกิ้ลไอ/โอ 2021 เผยโฉมแอนดรอยด์ 12 – ด้วยสถานการณ์โควิดที่ลากยาวมาถึงปีนี้ กูเกิ้ล ตัดสินใจจัดงาน กูเกิ้ล ไอ/โอ 2021 (Google I/O 2021) ทางออนไลน์อีกครั้ง

แอนดรอยด์อูธอรีตี เว็บไซต์ไอทีชื่อดังจึงนำบรรดาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมต่างๆ ที่ทางกูเกิ้ล ยักษ์ใหญ่ไอทีของโลก จากสหรัฐอเมริกา มาให้อัพเดตกัน ดังนี้

Android 12

แอนดรอยด์ 12 ถือเป็นไฮไลต์หลักของงานและสิ่งแรกสุดที่ทางกูเกิ้ลเปิดตัวเวอร์ชั่นใหม่นี้จะมีรูปร่างหน้าตามาจากคอนเซ็ปต์การออกแบบใหม่ที่พัฒนาต่อยอดมาจากของเดิม เรียกว่า แมตทีเรียล ยู (Material You) มีจุดเด่นที่สีสันและตัวเลือกการปรับแต่งจำนวนมากขึ้นกว่ารุ่นก่อน

ทั้งยังมีฟีเจอร์ชาญฉลาดที่ทำให้โอเอสปรับสีสันของยูสเซอร์ อินเตอร์เฟซ (UI) ให้แลดูกลมกลืนกับพื้นหลังที่ผู้ใช้เลือกด้วย (อารมณ์แบบวินโดวส์ 10 น่ะแหละ)

การเปิดตัวดังกล่าวถือเป็นการเปิดตัวแอนดรอยด์ 12 อย่างเป็นทางการครั้งแรกต่อสายตาผู้ใช้ทั่วไป หมายความว่า หลังงานนี้ก็จะมีตัวทดสอบ หรือเบต้า ออกมาให้นักเลงไอทีทั้งหลายลองดาวน์โหลดมาใช้งานกัน

ซึ่งมีความปลอดภัยสูงกว่ารุ่นพรีวิว เพราะถอนการติดตั้งออกจากเครื่องได้อย่างสมบูรณ์หลังเลิกเล่น แต่แน่นอนว่าโอเอส ยังจะมีบักต่างๆ ติดมาอยู่ แอนดรอยด์ 12 เบต้า ยังถือเป็นโอเอสรุ่นทดสอบที่สามารถทำงานได้กับ สมาร์ตโฟนหลากหลายแบรนด์มากที่สุด

ได้แก่ เอซุส วีโว่ โนเกีย วันพลัส ออปโป้ เรียลมี ชาร์ป ทีซีแอล เทคโน เสียวหมี่ ซีทีอี และ พิกเซล จากกูเกิ้ลเอง

Google Wear OS รวมกันกับ Samsung Tizen OS

อีกหนึ่งความฮือฮาในงานกูเกิ้ล ไอ/โอ ปีนี้ เป็นการประกาศควบรวมกันระหว่างระบบปฏิบัติการผลิตภัณฑ์สวมใส่อัจฉริยะ เวียร์ โอเอส จากกูเกิ้ล เข้ากับไทเซน จากซัมซุง ผู้พัฒนาเทคโนโลยีชั้นนำของโลกจากเกาหลีใต้ ภายใต้ชื่อใหม่ที่เรียบง่ายว่า เวียร์ (Wear) ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ที่ใช้โอเอสตัวนี้มีระยะเวลาการใช้งานเพิ่มขึ้น การทำงานที่ลื่นไหลต่อเนื่อง และความเร็วในการโหลดแอพพลิเคชั่นต่างๆ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 30

แน่นอนว่าค่ายซัมซุง และกูเกิ้ลจะยังคงเปิดตัวผลิตภัณฑ์สวมใส่อัจฉริยะของตัวเองกันต่อไป แต่ต่อแต่นี้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะมาพร้อม กับเวียร์ ซึ่งจะตามมาด้วยแอพยอดนิยมอย่าง Google Maps และ Spotify ดาวน์โหลดแบบออฟไลน์ได้ รวมถึงฟีเจอร์เด่นๆ ในผลิตภัณฑ์ของค่าย Fitbit ที่จะตามมาในไม่ช้าด้วย

Smart Canvas

การทำงานที่บ้าน และการทำงานทางไกล กำลังกลายเป็นหนึ่งในเทรนด์มาแรงของโลกไอที ซึ่งผู้เชี่ยวชาญคาดว่า จะกลายเป็นหนึ่งในพฤติกรรมการทำงานแบบปกติทั่วไปหลังการระบาดของโรคโควิด-19 ยุติลง

ทางกูเกิ้ลจึงเปิดตัวแพลตฟอร์มใหม่เป็นโซลูชั่นการทำงานทางไกลที่จะประสานการทำงานของแอพพลิเคชั่นของกูเกิ้ลที่มีอยู่มากมายรวมไว้ในหนึ่งเดียว เรียกว่า สมาร์ต แคนวาส โดยทางกูเกิ้ลจะเปิดให้ใช้ฟรีช่วงปลายปีนี้เป็นต้นไป

กุญแจรถแบบดิจิตอล

หนึ่งในฟีเจอร์หลักของระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 12 (เฉพาะสมาร์ตโฟนพิกเซล ของกูเกิ้ล และซัมซุงเท่านั้น) ที่ทางกูเกิ้ลภูมิใจเสนอเป็นระบบกุญแจรถแบบดิจิตอลผ่านระบบสื่อสารแบบ NFC โดยผู้ใช้จะยังสามารถใช้กุญแจรถแบบปกติได้ และสามารถเลือกใช้สมาร์ตโฟนเพื่อสตาร์ตเครื่องยนต์ ได้เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง แต่แน่นอนว่ารถยนต์รุ่นดังกล่าวต้องสนับสนุนระบบนี้ด้วย

ปรับใหญ่ซอฟต์แวร์กล้องถ่ายภาพ

ซอฟต์แวร์กล้องของกูเกิ้ลนั้นเป็นหนึ่งในซอฟต์แวร์ถ่ายภาพที่ทรงประสิทธิภาพที่สุดในบรรดาสมาร์ตโฟนแบรนด์ต่างๆ ปัจจุบัน โดยทางกูเกิ้ลอยู่ระหว่างการปรับปรุงให้ภาพที่ออกมานั้นมีความถูกต้องเหมือนจริงมากขึ้นไปอีก โดยเฉพาะภาพถ่ายบุคคลผิวสี ซึ่งที่ผ่านมาซอฟต์แวร์เหล่านี้มักมีปัญหาในการหา White balance ที่ถูกต้อง ส่งผลให้สีของผิวออกมาคลาดเคลื่อน เช่น ทำให้คนผิวดำมีผิวที่แลดูดำน้อยลง เป็นต้น

นอกจากนี้ ทางกูเกิ้ลยังอยู่ระหว่างการปรับปรุงอัลกอริทึมการ ถ่ายภาพเซลฟี่ให้มีความคมชัดมากยิ่งขึ้น หลังพบปัญหาในบุคคลที่มี ผมหยิก มีทรงผมที่แลดูไม่เหมือนจริงหลังถ่ายภาพออกมา เพราะ รายละเอียดมาไม่ครบ

ผู้ใช้สามารถเก็บภาพถ่ายที่มีความอ่อนไหวไว้ในแฟ้มภาพพิเศษที่ได้รับการปกป้องด้านความปลอดภัยด้วยลายนิ้วมือ หรือรหัสผ่าน โดยในอนาคตจะมีฟีเจอร์ที่ทำให้ผู้ใช้สามารถนำบุคคลในภาพออกไปได้แบบรวดเดียวทั้งแฟ้ม

ยังไม่หมดเท่านั้น กูเกิ้ลยังอยู่ระหว่างพัฒนาฟีเจอร์ถ่ายภาพเคลื่อนไหวแบบสั้นๆ เรียกว่า cinematic moments กล่าวคือ การถ่ายภาพติดต่อกันเพียงไม่กี่วินาทีไว้ใช้เป็นภาพ เคลื่อนไหวสั้นๆ (ขามีมถูกใจสิ่งนี้)

Project Starline

ความเป็นสัตว์สังคมและอยู่อาศัยแบบรวมกลุ่มถูกทดสอบอย่างถึงขีดสุดในช่วงของสถานการณ์ล็อกดาวน์ โปรเจ็กต์ สตาร์ไลน์ เป็นความพยายามทดแทนสิ่งดังกล่าวของกูเกิ้ล ด้วยการนำเทคโนโลยีโฮโลแกรม 3 มิติ มาใช้ช่วยเปิดประสบการณ์การสนทนาพบหน้ากันระหว่างบุคคลอยู่ไกลกัน ให้เหมือนกับนั่งคุยเห็นหน้ากันห่างกันไปเพียงแค่โต๊ะเดียวเท่านั้น

แม้ปัจจุบันโปรเจ็กต์ สตาร์ไลน์ จะเป็นบูธในออฟฟิศของสหรัฐบางแห่ง และอยู่ในขั้นทดสอบ แต่ผลตอบรับและข้อมูลที่กูเกิ้ลได้มานั้นจะส่งผลให้เทคโนโลยีนี้ก้าวหน้ามากขึ้น และแพร่หลายไปทั่วโลกในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

จับตาชิพสมาร์ตโฟนตัวใหม่

ท้ายที่สุดเป็นกระแสข่าวแพร่สะพัด ว่ากูเกิ้ลจะหันมาพัฒนาชิพประมวลผลใน สมาร์ตโฟนเองในปีนี้ โดยผู้เชี่ยวชาญคาดว่า น่าจะเป็นชิพที่กูเกิ้ลนำมาใช้ในสมาร์ตโฟน เรือธงตัวใหม่อย่าง กูเกิ้ล พิกเซล 6 ซึ่งอยู่ ภายใต้รหัสโครงการพัฒนาว่า “ไวต์ แชเปล” (Whitechapel) แน่นอนว่าไม่ปรากฏในงาน กูเกิ้ล ไอ/โอ 2021 เช่นกัน จึงต้องจับตากันอย่างใกล้ชิดต่อไป

จันท์เกษม รุณภัย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน