วันพลัส9อาร์ที คุ้มค่าพิฆาตเรือธงวันพลัส (OnePlus) ผู้พัฒนาสมาร์ตโฟนจากประเทศจีนที่เคยเป็นดาวรุ่งของวงการ ปัจจุบันอยู่ภายใต้การถือหุ้นใหญ่ของค่าย ออปโป้ไปเรียบร้อย โดยสมาร์ตโฟนรุ่นล่าสุดอย่าง วันพลัส 9 อาร์ที (OnePlus 9RT) เป็นความพยายามอีกครั้งในการเจาะตลาดกลุ่มรุ่นน้องเรือธงที่กำลังได้รับความนิยมสูง และพลิกฟื้นสถานะผู้นำเรือธงชั้นประหยัดของค่ายกลับคืนมา

สมาร์ตโฟน วันพลัส 9 อาร์ที เปิดตัวครั้งแรกเมื่อเดือนต.ค. 2564 เดิมทีนั้นมีแผนวางจำหน่ายเฉพาะในประเทศจีน แต่ล่าสุดทางวันพลัสวางจำหน่ายในประเทศอินเดียด้วยแล้ว แน่นอนว่า วันพลัส 9 อาร์ที เป็นมือถือที่จะมาต่อยอดจากวันพลัส 9 อาร์ โดยทางวันพลัสอัพเดตสเป๊กต่างๆ มาให้มีความทันสมัยสามารถต่อกรกับคู่แข่งในปี 2565 ได้

สำหรับคอนเซ็ปต์การออกแบบเรือธงชั้นประหยัดรุ่นนี้เป็นความสมดุลระหว่างประสิทธิภาพและราคา จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่สมาร์ตโฟนรุ่นดังกล่าวจะมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับเรือธงของปี 2564 อย่าง วันพลัส 9 และวันพลัส 9 โปร

เว็บไซต์แอนดรอยด์อูธอริตีระบุถึงงานออกแบบภายนอกของ สมาร์ตโฟนรุ่นนี้ว่ามีลักษณะคล้ายกันกับวันพลัส 9 อาร์ มีเพียงขนาดที่แตกต่างกันออกเล็กน้อยเท่านั้นหากนำมาวางเทียบกัน โดยวัสดุที่ใช้ยังคงเป็นกระจก Gorilla Glass 5 ทั้งด้านหน้าและหลังประกบโครงขอบอะลูมิเนียมที่มีความโค้งมนเล็กน้อยสอดรับกับอุ้งมือเพื่อให้ถือได้ง่ายขึ้น ขณะขอบอะลูมิเนียมนั้นไม่ได้มีความคมจนทำให้รู้สึกไม่ดีขณะกำไว้ในมือ

วันพลัส 9 อาร์ที มีทั้งหมด 3 สี ได้แก่ สีคราม (Blue) สีเงิน (Nano Silver) และสีดำ (Hacker Black) โดยสีหลังสุดนี้มีความพิเศษตรงที่ใช้การพ่นสีที่ด้านหลังทำให้แลดูคล้ายมีผิวด้านเหมือนหินทราย และหากอยู่ภายใต้แสงตกกระทบบางมุมจะส่องประกายเหมือนหินทรายด้วย ทว่าความเป็นจริงแล้วทุกรุ่นยังมีความลื่นพอสมควรจึงแนะนำว่าควรหาเคสใส่จะปลอดภัยกว่า หรือจะเลือกใส่เคสซิลิโคนที่แถมมาให้ในกล่องก็ย่อมได้

ตัวเครื่องมีขนาดกว้าง 74.6 ยาว 162.2 หนา 8.3 มิลลิเมตร น้ำหนักรวมแบตเตอรี่ 198.5 กรัม ขณะที่เซ็นเซอร์ลายนิ้วมือที่ฝังอยู่ในหน้าจอ จากการทดสอบพบว่าเป็นหนึ่งในเซ็นเซอร์ที่ทำงานได้ว่องไวและแม่นยำที่สุดของวงการ ส่วนการจัดเรียงของเลนส์และโมดูลกล้องด้านหลังของเครื่องแลดูกลมกลืนไปกับเครื่องแม้โมดูลจะนูนขึ้นมาเล็กน้อยก็ตาม

ด้านคุณภาพการประกอบถือว่าดีเยี่ยมแม้จะไม่ผ่านมาตรฐานกันน้ำกันฝุ่น แต่การหยิบจับสะดวกและนุ่มละมุนมือ รวมทั้งยังมีปุ่มเลื่อน (alert slider) ซึ่งในอดีตเป็นเอกลักษณ์ของมือถือค่ายนี้ติดมาเหมือนเดิม โดยปุ่มเลื่อนที่ว่านี้สามารถทำให้ผู้ใช้เลื่อนเปลี่ยนโหมดระหว่างการส่งเสียงหากมีสายเรียกเข้า หรือสั่นเท่านั้นได้อย่างรวดเร็ว

วันพลัส 9 อาร์ที มีขนาดหน้าจอใหญ่ขึ้นกว่ารุ่นก่อนอยู่ที่ 6.62 นิ้ว ใช้เทคโนโลยีจอภาพ AMOLED ความละเอียดสูงสุด 1,080 x 2,400 พิกเซล (FHD+) อัตราส่วนภาพ 20:9 ความหนาแน่นพิกเซล 397 พิกเซลต่อตารางนิ้ว (ppi) มีสัดส่วนหน้าจอต่อตัวเครื่องร้อยละ 87.9 มีความถี่รีเฟรชสูงสุด 120 เฮิร์ตซ์ (Hz)

นายดรูฟ ภูฏาน ผู้ทดสอบจากแอนดรอยด์อูธอริตีกล่าวว่า จอภาพของวันพลัส 9 อาร์ที ถือว่าคุ้มค่าเหมาะสมกับค่าตัวของเครื่องแต่ไม่ใช่หน้าจอที่สมบูรณ์แบบเสียทีเดียว โดยยังพบปัญหาสีค่อนไปทางเขียวเมื่อเปลี่ยนโหมดสีไปเป็น SRGB หรือ DCI-P3 แม้จะมีตัวเลือกปรับสีได้ แต่ไม่มีปุ่มเลื่อนปรับแม่สีทำให้ไม่มีทางที่จะแก้ไขปัญหาจุดนี้ได้ รวมทั้งจอภาพไม่สนับสนุนระบบภาพ HDR

อย่างไรก็ตาม จอภาพข้างต้นยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี เพราะมีความสว่างสูงทำให้ใช้งานกลางแจ้งได้สะดวก ให้สีสันฉูดฉาดเตะตา กล้องหน้าที่เป็นแบบหลุมอยู่มุมซ้ายบนของเครื่องมีขนาดไม่ใหญ่มากจนสะดุดตา และมีความถี่รีเฟรชสูงที่ช่วยทำให้ภาพบนหน้าจอมีความลื่นไหลน่าใช้งาน

วันพลัส 9 อาร์ที รันระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์จากกูเกิ้ล ประเทศสหรัฐอเมริกา ใช้ขุมพลังจากชิพประมวลผล (SoC) รุ่น Snapdragon 888 5G จากค่ายควอลคอมม์ เป็นชิพที่สร้างด้วยสถาปัตยกรรมการผลิตขนาด 5 นาโนเมตร (nm) ภายในมีหน่วยประมวลผลกลาง หรือซีพียูแบบ 8 คอร์ (Octa-core) แบ่งเป็น 3 คลัสเตอร์ ได้แก่ Kryo 680 ความถี่สัญญาณนาฬิกา 2.84 กิกะเฮิร์ตซ์ (GHz) จำนวน 1 คอร์ Kryo 680 ความถี่ 2.42 GHz จำนวน 3 คอร์ และ Kryo 680 ความถี่ 1.80 GHz อีก 4 คอร์

หน่วยประมวลผลกราฟิก หรือจีพียู รุ่น Adreno 660 มีพื้นที่เก็บข้อมูลภายใน (ROM) มาตรฐานแบนด์วิธ Universal Flash Storage-UFS 3.1 (อัตราส่งข้อมูล 2,900 เมกะไบต์ต่อวินาที) และหน่วยความจำแรม (RAM) ให้เลือก ได้แก่ 128/8, 256/8 และ 256/12 กิกะไบต์ (GB) ตามลำดับ ไม่รองรับการ์ดเก็บข้อมูลเสริม มีเพียงช่องของถาดใส่ซิมที่รองรับ 2 ซิมเท่านั้น

SoC ของวันพลัส 9 อาร์ทีนับว่าเป็นชิพในระดับเรือธง แน่นอนว่าประสิทธิภาพการทำงานและประสบการณ์ที่ได้รับจากมือถือรุ่นนี้ก็ย่อมเทียบเท่าเรือธงด้วย แต่ประสิทธิภาพที่ว่านี้ไม่สามารถเห็นได้ชัดเจนจากการใช้งานทั่วไป จะเห็นชัดก็ต่อเมื่อใช้งานกับแอพพลิเคชั่นที่ต้องการประสิทธิภาพของ SoC สูง เช่น การเล่นเกม แลกกับความร้อนที่เกิดขึ้นและแบตฯ ที่ลดไวขึ้น

การทดสอบเบนช์มาร์กผ่านแอพฯ Geekbench 5 สะท้อนคำอธิบายข้างต้นด้วยคะแนนประมวลผลคอร์เดียว 865 แต้ม และหลายคอร์ 3,316 แต้ม ขณะที่ประสิทธิภาพด้านกราฟิกผ่านแอพฯ อย่าง 3DMark : Wild Life ได้คะแนนถึง 5,953 แต้ม เรียกได้ว่า วันพลัส 9 อาร์ที สามารถรองรับการใช้งานได้ทุกรูปแบบอย่างสบายๆ ส่งผลให้ทุกแอพฯ โหลดได้รวดเร็วไร้อาการสะดุด

การทดสอบเล่นเกมนั้นได้ประสบการณ์ที่ดีด้วย เช่น Call of Duty : Mobile สามารถเล่นบนตัวเลือกกราฟิกขั้นสูงสุดได้โดยที่อัตราเฟรมต่อวินาที หรือเฟรมเรตไม่ปรากฏให้เห็นอาการถูกกระชาก น่าเสียดายที่จอภาพ 120 Hz ของวันพลัส 9 อาร์ที ยังไม่สนับสนุนเกมหลายเกมในปัจจุบัน เพราะจากการทดสอบพบว่าหลายเกมยังถูกล็อกไว้ที่ 60 Hz คงต้องรอวันพลัสรับรองเกมเหล่านี้ก่อน จึงถือว่าวันพลัส 9 อาร์ที อาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับ เกมเมอร์ที่ชื่นชอบเล่นเกมเฟรมสูงๆ บนมือถือ

การเลือกโหมด High Performance ของ SoC รุ่นนี้ ส่งผลให้แบตฯ ขนาด 4,500 มิลลิแอมป์ต่อชั่วโมง (mAh) ลดลงไวมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน หากเทียบกับการใช้งานปกติทั่วไปแล้ว วันพลัส 9 อาร์ที สามารถทำงานได้ต่อเนื่องตลอดวัน แม้จะไม่ดีที่สุดแต่ก็ไม่ได้แย่ ข้อนี้ชดเชยด้วยการชาร์จที่รวดเร็ว โดยสามารถชาร์จจากศูนย์จนแบตฯ เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ได้ภายใน 35 นาที จากชาร์จเจอร์ขนาด 65 วัตต์ (W) ที่แถมมา ทว่าน่าเสียดายที่ไม่รองรับชาร์จไร้สาย

ด้านกล้องถ่ายภาพของวันพลัส 9 อาร์ที โมดูลด้านหลังประกอบด้วยเลนส์ 3 แบบ น้อยลงกว่ารุ่นก่อน 1 เลนส์ ทางวันพลัสนำเซ็นเซอร์ภาพขาวดำ หรือโมโนโครมเซ็นเซอร์ออกไป แล้วอัพเกรดกล้องหลักเลนส์วายความละเอียด 48 ล้านพิกเซล (MP) เป็น 50 MP พร้อมเซ็นเซอร์ภาพ IMX 766 จากค่ายโซนี่ ประเทศญี่ปุ่น (ตัวเดียวกับในเลนส์อัลตราวายของวันพลัส 9)

ถัดมาเป็นเลนส์อัลตราวาย ความละเอียด 16 MP เป็นรุ่นเดิมเหมือนกันกับวันพลัส 9 อาร์ ส่วนเซ็นเซอร์เลนส์มาโครถูกดาวน์เกรดจาก 5 MP ลงมาเหลือ 2 MP เมื่อเทียบกับรุ่นก่อน ขณะที่กล้องเซลฟี่ด้านหน้ามีความละเอียด 16 MP ตัวเดิมเช่นกัน

เลนส์หลักของวันพลัส 9 อาร์ทีให้ผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจมากทั้งในแง่ของรายละเอียดและสีที่สมจริง ไดนามิกเรนจ์ดี สามารถเห็นรายละเอียดในจุดอับและมุมมืดของภาพได้โดยไม่เกิดปัญหาภาพแสงมากเกินไป (overexposure) ส่วนเลนส์อัลตราวายนั้นได้คุณภาพที่ไม่ดีนักเมื่อเทียบกับเลนส์หลัก เพราะภาพแลดูมีรายละเอียดลดลง และพบอาการบิดของภาพตามมุมมาก ทั้งยังภาพพวก noise ในภาพบางครั้งทั้งที่ปริมาณแสงเพียงพอด้วย เช่นเดียวกันกับ Night Mode ที่ยังไม่น่าประทับใจเท่าที่ควร

ผู้ทดสอบมองว่า วันพลัส 9 อาร์ที เป็นอีกหนึ่งสมาร์ตโฟนเรือธงชั้นประหยัดที่ดีของค่าย แต่หากนำไปเปรียบเทียบกับคู่แข่งในระดับเดียวกันแล้วอาจทำให้แลดูไม่โดดเด่นเท่าที่ควร ยกตัวอย่าง เสี่ยวหมี่ 11 ที โปร (Xiaomi 11T Pro) ที่มีจอภาพและรองรับระบบชาร์จไวที่ล้ำหน้ากว่า รวมถึงซัมซุง กาแล็กซี เอส 21 เอฟอี (Samsung Galaxy S 21 FE) ซึ่งมีกล้องดีกว่ามาก ทว่าผู้ที่ชื่นชอบสมาร์ตโฟนจากค่ายนี้ หากมองหาเรือธงชั้นประหยัดอยู่ก็ถือว่าเหมาะสมแล้ว (จนกว่าวันพลัส 10 จะออก) สนนราคาที่เริ่มต้นที่ราว 20,000 บาท

ทีมข่าวสดไอที
ภาพ-แอนดรอยด์อูธอริตี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน